Joby Aviation สร้างรถยนต์เหินฟ้าจนได้ - Forbes Thailand

Joby Aviation สร้างรถยนต์เหินฟ้าจนได้

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jun 2021 | 10:53 AM
READ 2705

เสือซุ่มอย่าง Joby Aviation ซึ่งมีเงินทุนเกือบพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้มาจากนักลงทุนอย่าง Toyota และ Laurene Powell Jobs สัญญาว่าจะนำแท็กซี่เวหาของบริษัทขึ้นบินให้ได้ภายในปี 2023

JoeBen Bevirt เริ่มคิดอยากสร้างเครื่องบินที่ขึ้นบินและลงจอดได้เหมือนเฮลิคอปเตอร์ตั้งแต่สมัยเรียน ป. 2 เมื่อเขาต้องลากสังขารเดิน 4 ไมล์ครึ่งไปตามถนนเพื่อกลับบ้านของครอบครัวในเขตพักอาศัยของเหล่าฮิปปี้ในป่าต้นเรดวูดทางตอนเหนือของรัฐ California “เนินเขานั่นไกลมากกกก...ผมเลยฝันถึงวิธีที่ดีกว่าการเดิน” 4 ทศวรรษให้หลัง Bevirt กำลังเข้าใกล้เป้าหมายของเขาแล้ว ณ ไร่นอกเมือง Santa Cruz เมืองสวรรค์ของเหล่านักโต้คลื่นไม่ไกลจากเมืองที่เขาเติบโตมา Bevirt ซุ่มพัฒนาเครื่องบินพลังไฟฟ้าที่มีใบพัดปรับมุมได้ 6 ตัว ซึ่งเขาบอกว่า สามารถบรรทุกนักบินและผู้โดยสารอีก 4 คนได้เป็นระยะทาง 150 ไมล์ด้วยความเร็วสูงสุด 200 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่เสียงใบพัดจะเงียบจนกลืนหายไปกับเสียงจอแจของเมืองใหญ่ เขามองว่า อากาศยานที่ยังไม่มีชื่อลำนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอาจใช้ต้นทุนในการผลิต 400,000  ถึง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเป็นรากฐานสำหรับเครือข่ายแท็กซี่เวหากลุ่มมหึมาที่จะบินส่งคนจากดาดฟ้าตึกหนึ่งถึงอีกตึกหนึ่ง โดยที่เขามีแผนจะสร้างและบริหารเครือข่ายนี้เอง ความฝันของเขาคือ การปลดปล่อยชาวเมืองใหญ่จากท้องถนนอันโหดร้าย และช่วยให้คนนับพันล้านประหยัดเวลาได้อีกวันละชั่วโมง ด้วยค่าโดยสาร (ที่เขาหวังว่าจะเก็บได้) 2.50 เหรียญต่อ 1 ไมล์ ซึ่งเท่ากับอัตราปัจจุบันของ UberX เรื่องนี้อาจจะฟังดูบ้า แต่ Bevirt วัย 47 ปีได้ผู้ศรัทธาที่ทรงอำนาจสนับสนุนหลายรายแล้ว

Joby Aviation

Toyota อัดเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านเหรียญให้ Joby Aviation ของเขาเมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 และนักลงทุนอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมขบวนด้วยก็รวมถึง Laurene Powell Jobs และ Capricorn Investment Group ของ Jeff Skoll ซึ่งสนับสนุน Tesla ตั้งแต่ช่วงแรกเช่นกัน Joby ระดมทุนได้รวม 745 ล้านเหรียญ โดยกิจการมีมูลค่าประเมินล่าสุด 2.6 พันล้านเหรียญ Akio Toyoda ซีอีโอของ Toyota บอก Bevirt ว่า เขาหวังว่า Joby จะช่วยให้ความฝันอยากสร้างรถยนต์เหินฟ้าของ Kiichiro ปู่ของเขาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Toyota Motors และเคยพัฒนาเครื่องบินก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจริงได้ Joby เป็นบริษัทที่ได้เงินทุนมากที่สุด และมีมูลค่าประเมินสูงที่สุดในกลุ่มสตาร์ทอัพจำนวนมากซึ่งพยายามใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ดึงธุรกิจการบินออกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างอากาศยานประเภทใหม่ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินแบบไร้คนขับเพื่อจะใช้เป็นแท็กซี่เวหา ยังไม่มีใครรู้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะใหญ่ขึ้นขนาดไหน หรือจะบินขึ้นจากพื้นได้จริงหรือเปล่า แต่ Wall Street ก็มองว่ามันเป็นตลาดที่ใหญ่โต รายงานจาก Morgan Stanley ประเมินว่า บริการประเภทนี้อาจทำรายได้จากค่าโดยสารทั่วโลกถึง 6.74 แสนล้านเหรียญภายในปี 2040 “ถ้าเราบินได้ เราก็เปลี่ยนถนนเป็นสวนสาธารณะได้ และเป็นรากฐานให้เราสร้างเมืองใหญ่ที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมมากได้ด้วย” Bevirt กล่าว เหล่านักฝันพยายาม (และล้มเหลว) กับการสร้างรถยนต์บินได้มาเป็น 100 ปีแล้ว และกลุ่มคนโลกไม่สวยก็คิดว่า Joby กับบรรดาคู่แข่งฝันเร็วเกินไปอย่างน้อย 1 ทศวรรษ เพราะแบตเตอรี่ดีที่สุดในตอนนี้ยังให้พลังงานที่ใช้ได้จริงน้อยกว่าเชื้อเพลิงเครื่องบินเจ็ต 14 เท่าเมื่อเทียบตามน้ำหนัก พวกเขาแย้งว่าเมื่อคำนวณจากพลังงานที่ใช้หมุนใบพัดให้เครื่องลอยลำขึ้นตรงๆ ถ้าแบตเตอรี่ยังไม่ดีกว่านี้ แท็กซี่เวหาก็จะมีระยะการบินสั้นเกินไป และบรรทุกได้น้อยเกินกว่าจะใช้ทำธุรกิจได้จริง แถมยังมีงานหินอย่างการทำให้หน่วยงานกำกับดูแลเชื่อว่าเครื่องบินเหล่านี้ปลอดภัยด้วย Bevirt กล่าวว่า เขาผลิตเครื่องบินที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับธุรกิจได้แล้วด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนตัวท็อปที่ใช้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าในปัจจุบัน และ Joby ก็เป็นสตาร์ทอัพรายเดียวที่ตั้งเป้าจะทำให้ได้ตามกำหนดเวลาสุดโหดของ Uber ที่จะเปิดบริการแท็กซี่เวหาในเมืองใหญ่ให้ได้ภายในปี 2023 Bevirt กล่าวว่า เขาน่าจะได้ใบรับรองความปลอดภัยจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ในปีนั้น ซึ่งจะทำให้ Joby เป็นผู้ผลิตแท็กซี่เวหารายแรกที่ฝ่าอุปสรรคยุ่งยากได้สำเร็จ

Joby Aviation

เครือข่ายที่ทำกำไร

Bevirt โตมาในชุมชนแนวหวนคืนสู่ธรรมชาติ และได้เรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์เบื้องต้นที่นั่นจากการช่วยกันซ่อมอุปกรณ์ทำไร่และสร้างบ้านร่วมกับพ่อของเขา Ron Bevirt ซึ่งเป็นหนึ่งในฮิปปี้พี้ยาแอลเอสดีชื่อกลุ่ม Merry Pranksters ในยุค 1960 เมื่อ Bevirt โตเป็นผู้ใหญ่ เขาสร้างชุมชนแห่งนั้นขึ้นมาใหม่ในที่ดิน 440 เอเคอร์อันเงียบสงบของเขาที่มีป่ากับทุ่งหญ้า และมองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เขาเพิ่มแนวคิดทุนนิยมเข้าไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เขาซื้อที่ดินผืนนี้มาด้วยเงินจากการขายกิจการในช่วงแรกของเขา เช่น Velocity11 บริษัทที่สร้างหุ่นยนต์สำหรับทำงานกับของเหลวซึ่งใช้ในการทดสอบยาชนิดใหม่ และบริษัทที่อยู่เบื้องหลังขาตั้งกล้องแบบยืดหยุ่นยี่ห้อ GorillaPod รวมทั้งเหมืองหินเก่าซึ่ง Bevirt ใช้ทดสอบการบิน และพนักงานของเขาก็พักอยู่ในกระท่อมเล็กๆ บนที่ดินผืนนี้หรือสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ ก่อนเขาจะเริ่มหันมาพัฒนาเครื่องบินเป็นงานหลัก เขาเคยบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่นี่ โดยให้ทุกคนทำงานร่วมกันในโรงนาใหญ่เหมือนถ้ำ Bevirt ทำฟาร์มออร์แกนิกเพื่อผลิตอาหารให้พนักงาน โดยเลี้ยงไก่และผึ้ง เพื่อเก็บไข่และน้ำผึ้ง และจ้างเชฟมาทำอาหาร “คนที่นี่มีวัฒนธรรมแตะมือทักทายและกอดกัน ซึ่งน่าจะได้มาจาก JoeBen แน่ๆ” Jim Adler กรรมการผู้จัดการของ Toyota AI Ventures กล่าว เขาโน้มน้าวให้บริษัทมาลงทุนกับ Joby เมื่อปี 2017 “เขาเป็นคนบ้าพลังแล้วมันก็ติดไปถึงคนอื่นด้วย” แม้ Joby จะเข้าร่วมแผนให้บริการ ride sharing ของ Uber แต่โมเดลธุรกิจของ Bevirt คือการทำเครือข่าย ride sharing ของบริษัทเอง และเรื่องนี้ก็ล่อใจนักลงทุน “ถ้าบริษัทนี้สร้างแต่ยานพาหนะโดยไม่มีบริการรองรับ ผมคงไม่สนใจจะลงทุน” Adler กล่าว อย่างไรก็ตาม การสร้างลานลงจอด ซอฟต์แวร์จองคิว และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังต้องการเงินสดและความอดทนจากนักลงทุนอีกมาก และนอกจากการสร้างฝูงบินของตัวเอง Joby ก็ไม่มีแผนจะขายเครื่องบินของบริษัทให้ใคร นักลงทุนจึงต้องรอไปอีกกว่าจะได้กำไรคุ้มกับเงินหลายพันล้านที่ให้บริษัทนำไปขยายกิจการ

มาตรฐานความปลอดภัย

การออกแบบเครื่องบินให้มี 5 ที่นั่งช่วยให้ Joby มีศักยภาพการหารายได้จากบริการ ride sharing เหนือกว่ามัลติคอปเตอร์ 2 ที่นั่งแบบหลายใบพัดที่ขนาดเล็กกว่า และมีกลไกเรียบง่ายกว่า ซึ่งบริษัท Volocopter ในเยอรมนีและ EHang ในจีนกำลังพัฒนาอยู่ แต่ข้อเสียที่มาพร้อมเครื่องลำใหญ่ของ Joby คือ น้ำหนัก ซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากแบตเตอรี่ และเมื่อดูจากแบบจำลองที่ Venkat Viswanathan ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่จากห้องแล็บของ Carnegie Mellon University สร้างขึ้นโดยใช้สเปกของเครื่องบินตามที่ Bevirt เล่าให้ Forbes ฟัง ก็ยังไม่ชัดเจนว่าแบตเตอรี่จะจ่ายไฟได้มากพอสำหรับการใช้งานจริง ถ้าจะให้เครื่องบินที่มีน้ำหนักรวม 4,800 ปอนด์ของ Joby บินได้ 150 ไมล์ตามที่บริษัทบอก (แต่ยังทำไม่สำเร็จในการทดสอบบิน) บวกกับระยะทางบินสำรองตามที่ FAA กำหนด ทีมของ Viswanathan ประเมินว่าจะต้องใช้ชุดแบตเตอรี่หนัก 2,200 ปอนด์ และเมื่อลบน้ำหนักผู้โดยสาร 5 คนอีก 1,000 ปอนด์ จะเหลือน้ำหนักตัวเครื่อง ที่นั่ง และระบบอิเล็กทรอนิกส์อีกเพียง 1,600 ปอนด์ หรือแค่ร้อยละ 33 ของน้ำหนักทั้งหมด ซึ่งเบากว่าเครื่องบินแบบที่ได้รับการรับรองและผลิตกันทั่วไปถึงร้อยละ 35 เรื่องนี้มองได้ 2 แง่ คือ Joby สร้างตัวเครื่องที่เบาและมีประสิทธิภาพดีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนได้สำเร็จอย่างที่ Bevirt ยืนยัน หรือไม่เครื่องบินลำนี้ก็มีระยะทางบินน้อยกว่าที่เขาบอก และสิ่งที่ต้องกังวลอีกอย่างคือ การขออนุมัติจาก FAA อาจทำให้ต้องปรับเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก “สิ่งที่เราทำเป็นงานยากสุดๆ” Bevirt กล่าว “ไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงเทคนิคด้านการสร้างเครื่องบิน (แต่) ยังต้องเปลี่ยนวิธีการเดินทางประจำวันของทุกคนบนโลกด้วย”  
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine