Dylan Field ก่อร่างสร้าง Figma - Forbes Thailand

Dylan Field ก่อร่างสร้าง Figma

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jan 2022 | 10:56 AM
READ 2179

Dylan Field ก่อร่างสร้าง Figma จนกลายเป็นสตาร์ทอัพซอฟต์แวร์ที่ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ โดยมีการประเมินมูลค่าของบริษัทไว้สูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งหมดมาจากการเป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมกับทำการวิจัยและพัฒนาตามการชี้แนะจากตลาดและลูกค้า

เมษายน 2021 Dylan Field พบกับวันที่บ้าระห่ำที่สุดนับตั้งแต่เขาหันหลังให้กับ Brown University เพื่อหันมาลองเปิดธุรกิจสตาร์ทอัพเมื่อ 10 ปีก่อน ในการประชุมออนไลน์ของ Figma บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบที่ได้รับความนิยมใน กลุ่มลูกค้าอย่าง Airbnb, BMW และ Zoom นั้น เขาเพิ่งประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพียงลำดับที่ 2 เป็นเครื่องมือสำหรับเขียนกระดานไวท์บอร์ดออนไลน์ที่มีชื่อเรียกตีความหมายได้สองแง่สองง่ามว่า FigJam อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเขาได้รับข่าวดีว่า Elena ภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก Field วัย 29 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงเกิดโรคระบาดคอยรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ Figma ก่อนหน้านี้เขาเคยเดินทางไปถึงยูเครนและไนจีเรียเพื่อพบกับลูกค้าด้วยตนเอง แต่ในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้เขาหันมาอ่านบทสนทนาขอความช่วยเหลือจากลูกค้า ตลอดจนความคิดเห็นจากฝ่ายขาย อีกทั้งยังคอยตอบคำถามผู้ใช้งานทาง Twitter ยังไม่พ้นเดือนตุลาคมเขาก็เกิดไอเดียขึ้นมา ผลิตภัณฑ์หลักของ Figma คือ ผืนผ้าใบเสมือนจริง ซึ่งนักออกแบบและใครก็ตามสามารถวาดภาพได้แบบเรียลไทม์ แต่ไม่สามารถใช้แสดงความคิดออกมาเป็นแผนภูมิได้ จุดนี้เองจะกลายเป็นงานของ FigJam ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผนังบ้านหรืออาคารสำนักงานที่แปะกระดาษ Post-it Note เต็มไปหมด เวลา 6 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว Figma ได้รับข้อมูลจากลูกค้ามากพอ ไม่ว่าจะเป็น Discord, Netflix หรือ Stripe พวกเขาจึงเปิดตัว FigJam รุ่นทดสอบการใช้งานจริง Field บอกว่า เครื่องมือดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ไปเพียง 25% เท่านั้น และคาดว่าจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง “ถ้าคุณทำได้ดีมากพอมันก็เกือบจะเหมือนกับว่า ตลาดกำลังจะดึงผลิตภัณฑ์นี้ออกจากไปคุณ” ในเวลานี้ Figma ใส่ระบบให้ความช่วยเหลือผ่านเสียงเพื่อรองรับการสนทนากับเพื่อนร่วมงานได้แล้ว ส่วนอีกคุณสมบัติหนึ่งที่มีการเรียกร้องมาบ่อยจนได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ เครื่องจับเวลา ย้อนกลับไปในยุค 1980 Adobe พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับนักออกแบบที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ต่อมาในยุคก่อนการกำเนิดของ Figma (ลำดับ 7 ในการจัดอันดับ Cloud 100) บรรดานักออกแบบก็หันไปใช้ Sketch ผลงานจากฝั่งยุโรป ไปจนถึง InVision (ลำดับ 52) ขณะที่ Figma ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2016 ในเวลานี้มีผู้ใช้งานหลายล้านคน ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เผยว่า รายได้ประจำปีนี้น่าจะเพิ่มกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่มีรายได้อยู่ที่ 75 ล้านเหรียญ แม้กระทั่งระหว่างการหาเสียงของ Joe Biden ทรัพย์สินทั้งหมดยังบริหารจัดการผ่านทาง Figma และในช่วงที่สหรัฐฯ ขาดแคลนกระดาษชำระในปี 2020 Kimberly-Clark ก็อาศัยเครื่องมือของ Figma ในการร่างแบบฟอร์มคำสั่งซื้อซ้ำ เมื่อเดือนมิถุนายนบริษัทระดมทุนจากบรรดานักลงทุนได้ 200 ล้านเหรียญ โดยมีการประเมินมูลค่าของ Figma ไว้ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ Forbes ประเมินว่า Field กับ Evan Wallace ผู้ร่วมก่อตั้งวัย 31 ปี ถือหุ้น Figma ไว้คนละ 10% ทำให้พวกเขาขยับเข้าใกล้สถานะเศรษฐีพันล้านเข้าไปทุกที (ในการคำนวณ Forbes ใช้ส่วนลด 10% สำหรับบริษัทเอกชน) โจทย์ประจำวันนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน สิ่งที่ Figma กำลังทำในโลกของการออกแบบก็เหมือนกับที่ Google Docs ทำไว้เพื่อประมวลผลข้อความ หรือที่ GitHub ทำให้กับการเขียนโค้ด “เศรษฐกิจกำลังจะกลายเป็นดิจิทัลทั้งระบบ ล่าสุดก็คือ การออกแบบ” Field กล่าว “การออกแบบคือ กีฬาประเภททีม โดยธรรมชาติแล้วต้องอาศัยความร่วมมือ” Field ศึกษาระดับชั้นมัธยมในโรงเรียนที่เน้นการศึกษาด้านเทคโนโลยี ซึ่งตั้งอยู่ที่ Sonoma County ใน California เขาสร้างหุ่นยนต์และเว็บไซต์ให้กับเพื่อนๆ ต่อมายังทำผลงานเข้าตาผู้บริหาร ขณะฝึกงานภาคฤดูร้อนที่ LinkedIn หลังจากที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือสังคม เขาเข้าร่วมกลุ่มวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ Brown University และได้พบกับ Wallace ซึ่ง Wallace เองก็สร้างความประทับใจให้กับอดีตนายจ้างเก่าอย่าง Pixar จากการคิดค้นระบบที่ทำให้ลูกบอลสามารถกระดอนได้ในเกมพูล 3 มิติ หลังจากที่ Field ฝึกงานที่ Flipboard เขาก็พักการศึกษาในปี 2012 รับเงินคืนมา 100,000 เหรียญ พร้อมกับเริ่มธุรกิจในฐานะ Thiel Fellow (เมื่อ Wallace เรียนจบปริญญาก็ย้ายมาร่วมงานด้วยกันที่ California) หลายปีผ่านไปทั้งคู่ทดลองไอเดียต่างๆ ซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์สำหรับโดรน หรือแม้กระทั่งผู้สร้างมีม ในที่สุดพวกเขาก็ทำการวิจัยโดยใช้แอปพลิเคชันแต่งภาพทั้งหลายของ Adobe และสร้างเครื่องมือให้ผู้สนับสนุนสามารถตัดต่อภาพของตนใส่ไว้ในรูปภาพของ Barack Obama ได้ เป้าหมายในเวลาต่อมาของ Field คือ Photoshop เครื่องมือของ Adobe ที่ใช้งานอย่างกว้างขวางเพื่อปรับแต่งรูปภาพได้ทุกชนิด แต่ครั้งนี้เขาจะใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถทำงานบนเว็บไซต์ที่ใช้งานร่วมกันแทนแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ เพียงแนวคิดนี้ก็เพียงพอสำหรับ Index Ventures ซึ่งเป็นบริษัทเงินร่วมลงทุนของ Danny Rimer กรรมการ Flipboard รวมถึง Jeff Weiner ซีอีโอของ LinkedIn ในเวลานั้น และนักลงทุนคนอื่นๆ จนสามารถระดมทุนได้ 4 ล้านเหรียญในรอบการระดมทุนครั้งหนึ่งเมื่อปี 2013 คำปฏิเสธจาก John Lilly อดีตซีอีโอ Mozilla ซึ่งเป็นนักลงทุนที่ Greylock Partners นั้นอาจเป็นประโยชน์ก็ได้ Field ไม่ยอมถอยง่ายๆ เขาขอพบกับ Lilly ครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะอยากได้ความคิดเห็น ในที่สุด Lilly ก็ให้คำตอบแบบไม่คิดอะไรมากว่า Bruce Chizen ซีอีโอของ Adobe ต่างหากที่น่าจะมีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ Field ติดตามจนได้คุยกับซีอีโอจอมเก๋า “Dylan เผยให้เห็นคุณสมบัติที่น่าทึ่งเอามากๆ ในเรื่องของการแสวงหาผู้ให้คำแนะนำและตามหาความจริง” Lilly กล่าว ซึ่งเธอเป็นผู้นำการลงทุนรอบซีรีส์ A ของ Greylock ให้แก่ Figma ในปี 2015 นั่นเอง “เขาไม่เคยถอดใจเลยเวลาคนคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ถูก เขาแค่อยากได้ข้อมูล” สำหรับ Field แล้วขั้นตอนที่ยากกว่าคือ การลงมือจัดการข้อมูลลับที่ได้มาอย่างเด็ดขาด ผลิตภัณฑ์รุ่นทดสอบของ Figma ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้เปิดตัว ขณะที่การคิดค่าบริการของ Figma นั้น สัญชาตญาณของ Field บอกเขาให้รอก่อน และค่อยๆ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ไปทีละน้อย แต่เมื่อผู้ใช้ Microsoft คนหนึ่งเตือนว่า การนำ Figma ไปใช้ในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีแห่งนี้ ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ

จากซ้าย Amanda Kleha ตำแหน่ง Chief customer officer และ Yuhki Yamashita vice president of product.  ผลงานกราฟฟิกโดย GABRIELA HASBUN FOR FORBES (respectively)

ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจว่าเครื่องมือฟรีของบริษัทสตาร์ทอัพจะเชื่อถือได้จริงหรือ Field ก็เริ่มเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เขาย้อนกลับไปยังขั้นตอนของการวิจัย และเลือกรูปแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Atlassian บริษัทซอฟต์แวร์จากออสเตรเลีย กล่าวคือ คิดราคาง่ายๆ ตามกลุ่มผู้ใช้งาน คือ 12 เหรียญ หรือ 45 เหรียญต่อนักแต่งภาพ 1 คน แม้ว่าหลายคนจะยังคงเลือกใช้เวอร์ชันที่ไม่มีค่าบริการก็ตาม เมื่อลูกค้ารายใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google ขอลดราคาตามปริมาณการใช้งาน Field รีบโทรศัพท์ไปอธิบายทันทีว่า Figma ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาได้ “มีทั้งคนที่เข้าใจและเลือกใช้เรา กับคนที่ไม่เข้าใจและไม่เลือกเรา” Field กล่าว Figma ซึ่งเพิ่งได้ทุน 200 ล้านเหรียญ จะต้องจัดลำดับความสำคัญระหว่างการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ (ปัจจุบันผู้ใช้ร้อยละ 80 อยู่นอกสหรัฐฯ ในรอบการระดมทุนล่าสุดมีทั้งนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่กว้านลงทุนทั่วโลกอย่าง Base Partners ของบราซิล) กับโอกาสเข้าซื้อกิจการ (พวกเขาซื้อธุรกิจสตาร์ทอัพมาแล้ว 2 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นยังช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันทางอุปกรณ์มือถือของ Figma ด้วย) รวมถึงคุณสมบัติใหม่ๆ เพื่อช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่จะกลายเป็นผู้ให้บริการโซลูชันครบวงจร FigJam ซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนานั้นจะมีบทบาทในงานส่วนหน้า ขณะที่งานหลังบ้านยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อเปลี่ยนจากแบบร่างให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สำหรับอนาคต Field ก็จะไม่มองไกลเกินไป เขาบอกว่า จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่ทำให้ผู้ใช้งานเรียกร้อง สิ่งต่างๆ นับ “ล้าน” ให้เขาทำ หาก Figma สร้างเครื่องมือเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากเกินไป สุดท้ายก็จะขาดระเบียบ ในวันทำงานส่วนใหญ่ Field จะชอบอ่าน Twitter ที่พูดถึง Figma และการออกแบบ หรือไม่ก็อ่านบทสนทนาเกี่ยวกับความช่วยเหลือลูกค้าที่มีเข้ามา “ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่พอใจ พวกเขามีเรื่องให้ต้องแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้นถึงกับทำให้ผมใจเต้น แต่เมื่อเวลาลูกค้าพอใจ ผมจะรู้สึกยินดีมากๆ และเป็นแรงผลักดันอย่างดี” เรื่อง: Alex Konrad เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: Gabriela Hasbun