Dustin Moskovitz ขั้วตรงข้ามของ Facebook - Forbes Thailand

Dustin Moskovitz ขั้วตรงข้ามของ Facebook

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Feb 2021 | 10:01 AM
READ 1728

ท่ามกลางฝูงยูนิคอร์นที่ลุยหน้าเต็มที่เพื่อจะเติบโตงานที่ 2 ในชีวิตของ Dustin Moskovitz ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook กลับเป็นเหมือนเต่าที่เขาสร้างขึ้นอย่างรอบคอบและเมื่อจู่ๆ ทั่วโลกต้องย้ายเข้าไปทำงานในโลกเสมือน Asana ซอฟต์แวร์บริหารจัดการทีมซึ่งเขาเพาะเลี้ยงมา 12 ปีจึงดูท่าจะชนะการวิ่งแข่ง

Dustin Moskovitz วัย 36 ปี มีทรัพย์สิน 1.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ การเป็นผู้ก่อตั้ง Facebook ร่วมกับ Mark Zuckerberg และเคยเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในโลกอยู่หลายปี เริ่มตั้งแต่ปี 2011 แต่ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เขาลาออกจากบริษัทเครือข่ายโซเชียลที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามแห่งนั้น Moskovitz กับผู้ร่วมก่อตั้ง Asana คือ Justin Rosenstein วัย 37 ปีก็ซุ่มเงียบทำงานหนักอยู่หลังฉากมาตลอดเพื่อจะแก้ปัญหาเก่าแก่ข้อหนึ่งนั่นคือ เราเสียแรงทำงานไม่สำคัญที่ปะปนอยู่กับงานสำคัญไปมากแค่ไหน ทุกวันนี้ซอฟต์แวร์ของ Asana มีผู้ใช้งานคือพนักงานจากบริษัทกว่า 75,000 แห่ง ซึ่งรวมถึง AT&T, Google และ NASA ซึ่งมันช่วยให้พวกเขากลับมาควบคุมชีวิตตัวเองในแต่ละวันได้ด้วยการช่วยจัดการทุกอย่าง ตั้งแต่เขียนบันทึกจนถึงวางแผนจัดงาน (ในไม่ช้าแอปของบริษัทนี้ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์จะทำได้กระทั่งการกำหนดวาระการประชุม และเสนอแนะวิธีเพิ่มประสิทธิภาพวันทำงาน) Asana มีมูลค่าประเมิน 1.5 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 และทำธุรกิจโดยไม่เกาะกระแสความตื่นเต้นหวือหวาเพื่อระดมทุน สวนกระแสอย่างสิ้นเชิงจากเหล่าคู่แข่งซึ่งรวมถึง monday.com กิจการด้านการบริหารทีมที่มีฐานอยู่ในเมือง New York และเมือง Tel Aviv ซึ่งได้รับการประเมินมูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญเมื่อไม่นานมานี้ และ Notion แอปจดบันทึกที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ซึ่งมีมูลค่า 2 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ แนวทางส่วนหนึ่งของบริษัทก็มาจากซีอีโอซึ่งบอกว่า ตัวเองเป็นคนชอบเก็บตัว Moskovitz สารภาพว่าที่เขายอมมาให้สัมภาษณ์ยาวๆ กับ Forbes ก็เพราะผู้บริหารด้านประชาสัมพันธ์ของเขาสัญญาว่า เขาจะไม่ต้องให้สัมภาษณ์กับใครอีกเลยตลอดทั้งปี “ปั้นหิมะลูกใหญ่ต้องใช้เวลา” เขากล่าว ซึ่งเป็นการปฏิเสธเรื่องที่มีคนเดาว่าเขาจงใจหน่วงให้กิจการโตช้า “เป้าหมายของเราคือ โตเร็วแต่โตเร็วในระยะยาว ไม่ใช่โตเร็วในระยะสั้น ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มเก็บดอกผลของสิ่งที่เราหว่านไว้ได้แล้ว” Asana กำลังโตเร็วขึ้นจริง หลักฐานทุกอย่างชี้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทโตมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณโควิด-19 และแนวทางเรื่องสถานที่ทำงานซึ่งกำลังเปลี่ยนไป (บริษัทไม่ออกความเห็นเรื่องตัวเลขการเงิน เนื่องจากเป็นช่วงไม่เปิดเผยข้อมูลก่อนไอพีโอ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้) จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 24% ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีรายงานว่า รายได้น่าจะเพิ่มขึ้นจนแตะ 236 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 66% จากปีก่อน ซึ่งเพียงพอจะช่วยให้ Asana ได้เป็นอันดับ 17 ในทำเนียบ Cloud 100 ที่เราจัดอันดับบริษัทเอกชนชั้นนำด้านการประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ของโลกทุกปี โดยขึ้นมาจากอันดับ 41 ในปีที่แล้ว Moskovitz อายุเพียง 19 ปีเมื่อตอนที่เขาช่วยเพื่อนร่วมห้องคือ Zuckerberg เริ่มทำ Facebook ในหอพักที่ Harvard University เมื่อปี 2004 ปีครึ่งต่อมาเขาก็ออกจากมหาวิทยาลัยและย้ายไปอยู่ Silicon Valley กับ Zuck แต่เขากลับหมดไฟตั้งแต่อายุ 23 ปีในช่วงที่เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมอยู่ที่ Facebook ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่โตเร็วที่สุด ตอนนั้นเองที่เขาได้พบกับ Rosenstein ซึ่งอายุมากกว่า 1 ปี และเป็นดาวรุ่งที่ Facebook ชิงตัวมาจาก Google เมื่อต้นปี 2007 Moskovitz เป็นลูกของจิตแพทย์กับครูจากเมืองเล็กๆ ในรัฐ Florida เขาเป็นที่รู้จักที่ Facebook เรื่องการนั่งเขียนโปรแกรมแบบมาราธอน แต่นอกจากเรื่องงานแล้วเขาชอบอยู่เงียบๆ ไม่ทำตัวเด่น ส่วน Rosenstein ซึ่งเป็นชาว Bay Area โดยกำเนิด และเรียนจบจาก Stanford นั้นถือเป็นขั้วตรงข้ามเขาชอบเข้าสังคม เป็นคนเก่งด้านผลิตภัณฑ์ที่มีหัวศิลป์ และช่วยสร้างบริการแชทที่ได้รับความนิยมของ Gmail ในช่วงนั้น Moskovitz ใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์และกลางคืนเพื่อสร้างระบบจัดการชิ้นงานแบบง่ายๆ ให้ทีมผลิตภัณฑ์ของ Facebook เพื่อใช้ติดตามโครงการต่างๆ และ Rosenstein เผยว่า เขาเองก็เคยลองเล่นกับเครื่องมือคล้ายกันที่ใช้ภายในองค์กรของ Google ทั้งสองจึงร่วมกันใช้เวลาหลายเดือนหลังจากนั้นทำงานเต็มเวลากับระบบ Tasks ซึ่งใช้จัดการชิ้นงานต่างๆ ทั่วบริษัท Facebook เพื่อนำงานด้านวาระการประชุม การจัดการผลิตภัณฑ์และแม้แต่งานบางส่วนด้านการติดตามอุปกรณ์สำนักงานในคลังเข้ามาอยู่ในระบบนี้ด้วย แต่ไม่นานนักพวกเขาก็เริ่มแน่ใจว่า ถ้าอยากจะทำเครื่องมืออย่างที่ต้องการให้ออกมาดีจริงๆ พวกเขาก็ต้องบินออกจากรังของ Facebook ไป “เราค่อนข้างมั่นใจว่า ในอนาคตจะต้องมีบริษัทอย่าง Asana เกิดขึ้นแน่นอนแม้เราจะไม่ได้ก่อตั้งเอง” Dustin Moskovitz กล่าว ซอฟต์แวร์ของพวกเขาอาจไม่คึกคักเหมือนเครือข่ายโซเชียลหรือมีแนวคิดทะเยอทะยานเหมือนการสร้างจรวดหรือปัญญาประดิษฐ์ แต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านอวกาศที่กำลังมาแรง หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บก็ต้องบริหารทีมงานและ Asana ช่วยพวกเขาได้ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ผู้หลงใหลโยคะทั้งสองคนยืมมาจากคำภาษาสันสกฤต ซึ่งสื่อถึงการจัดท่าทาง “เรารู้สึกว่านี่คือโอกาสที่เราปล่อยหลุดไปไม่ได้” Rosenstein กล่าว เมื่อไม่ต้องรับความกดดันจากการระดมทุนแบบที่สตาร์ทอัพทั่วไปต้องเจอ Moskovitz กับ Rosenstein จึงใช้เวลาหลายเดือนไปกับการเขียนโปรแกรมและคุยกับผู้ที่น่าจะมาเป็นลูกค้าก่อนจะปล่อยผลิตภัณฑ์รุ่นแรกออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 และให้ใช้งานฟรีในช่วง 6 เดือนแรก โดยมีแนวคิดคือ ให้ลองใช้จนติดใจก่อนแล้วค่อยขายรุ่นพรีเมียม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ “ฟรีเมียม” ที่ Dropbox และ Zoom ใช้จนประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้ว Asana เริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์รุ่นคิดค่าใช้งานเมื่อปี 2012 (ปัจจุบันคิด 10.99 เหรียญต่อคนต่อเดือน) โดยยังไม่จ้างทีมฝ่ายขายทีมใหญ่ แต่ส่วนมากจะหาลูกค้าด้วยวิธีจ่ายเงินเพื่อดันให้ชื่อผลิตภัณฑ์ปรากฏขึ้นมาเป็นชื่อต้นๆ เมื่อมีผู้พิมพ์คำค้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จ่ายไม่แพงและอาศัยการแนะนำกันปากต่อปาก แล้ว Asana ก็เริ่มได้จุดเริ่มต้นเล็กๆ กับตลาดขายซอฟต์แวร์ออนไลน์ชื่อ G2 จากเมือง Chicago เมื่อประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดคนใหม่อยากติดตามเป้าหมายจำนวนผู้ใช้งานและรายได้ของทีม จากนั้นก็ขยายวงไปสู่พนักงานของบริษัทกว่า 250 คนทั่วโลก ส่วนที่บริษัทอุปกรณ์ทำความร้อนและความเย็น Viessmann ในเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในบรรดาลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ Asana พนักงานกว่า 2,500 คนใช้เครื่องมือของ Asana ควบคู่กับชุดผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของ Google และผู้บริหารของบริษัทใช้เครื่องมือของ Asana เพื่อวางแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งความยืดหยุ่นเช่นนี้เองที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของ Asana อ่านเพิ่มเติม: Whitney Wolfe Herd ผู้ร่วมก่อตั้ง Bumble ก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดแห่งปี 2021
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine