AltSchool เงินทุนก้อนโตและเดิมพันครั้งใหญ่เพื่อเด็กตัวน้อย - Forbes Thailand

AltSchool เงินทุนก้อนโตและเดิมพันครั้งใหญ่เพื่อเด็กตัวน้อย

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Aug 2019 | 10:39 AM
READ 12941

AltSchool ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนมูลค่า 174 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Mark Zuckerberg, Peter Thiel และ Laurene Powell Jobs จะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่

“เราอาจจะอยู่ได้อีกไม่ถึง 5 ปี” Max Ventilla ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ AltSchool วัย 38 ปีกล่าว ในขณะที่นักประชาสัมพันธ์ 2 คนคอยระแวดระวังระหว่างการให้สัมภาษณ์ และพูดได้ชวนให้ผู้ฟังรู้สึกสะดุ้ง “อย่าพูดถึงเรื่องนี้ในบทความของคุณนะ” Maggie Quale ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของโรงเรียนแห่งนี้กล่าวขึ้น ในขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งจาก Rubenstein บริษัทประชาสัมพันธ์ยักษ์ใหญ่ใน New York นั่งเงียบๆ ด้วยท่าทีอึดอัด การสัมภาษณ์แสนเข้มข้นนี้กินเวลาไป 2 ชั่วโมงในห้องประชุมกรุกระจกอันอุดอู้ในสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคย เป็นฟิตเนส 24 Hour Fitness หากแต่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก 1 ใน 2 แห่งของAltSchool ใน San Francisco สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงเกรด 8 Ventilla ซึ่งลาออกจาก Google เพื่อไปเริ่มธุรกิจAltSchool ในปี 2013 ได้ทุ่มเงิน 30 ล้านเหรียญต่อปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็พยายามหาฐานที่มั่นสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มุ่งแสวงหากำไรของตน โดยมีโรงเรียนอยู่ภายใต้การบริหาร 4 แห่ง ซึ่งอีก 2 แห่งตั้งอยู่ใน New York City คุณภาพของการศึกษาระดับประถมและมัธยมในอเมริกาซึ่งยังยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ ตั้งแต่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นได้ถดถอยลงเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษ ที่ผ่านมา Ventilla อ้างถึงผลการทดสอบ Programme for International Student Assessment (PISA) ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ซึ่งครอบคลุมทั่วโลก โดยการทดสอบดังกล่าวพบว่า เด็กอเมริกันอายุ 15 ปี รั้งอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 71 ประเทศ “รูปแบบซึ่งเป็นเหมือนกับสินค้าที่ผลิตซ้ำๆ กันในโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่โรงงานนั้นไม่เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วม” Ventilla กล่าว ดังนั้น AltSchool ตั้งปณิธานว่าจะ “ปลูกฝังและพัฒนาสิ่งที่เป็นเหมือนกับเข็มทิศภายในตัวเด็ก เพื่อว่าเมื่อสิ่งต่างๆ รอบตัวพวกเขาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเขาจะสามารถปรับทิศทางใหม่ให้ถูกต้องได้เสมอ” Ventilla ได้นำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ ซึ่งช่วยครูผู้สอนให้สามารถกำหนดการบ้านให้กับนักเรียนแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม สามารถประเมินประสิทธิภาพของผู้เรียน และสามารถสื่อสารกับผู้บริหารและผู้ปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกง่ายดายมากขึ้น Ventilla เรียกโรงเรียนเอกชนของAltSchool ว่า “โรงเรียนห้องทดลอง” ซึ่งครูผู้สอนจะทดลองใช้วิธีการต่างๆ กับผู้เรียน ขณะเดียวกันก็ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับทีมวิศวกร ซึ่งบางคน ได้รับการซื้อตัวมาจาก Google, Apple และ Facebook

พัฒนาแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ สู่เวทีธุรกิจ

ในระยะแรก Ventilla คิดการใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายจะขยายธุรกิจไป Chicago และวางแผนจะสร้างแฟรนไชส์เครือข่ายของAltSchool ไปทั่วประเทศ แต่ในปี 2016 เขาก็โละแนวคิดทั้งสองอย่างทิ้งไป และในเวลาเดียวกันก็เริ่มเปิดโรงเรียน 9 แห่งใน San Francisco, Palo Alto และ New York ไปพร้อมๆ กัน แต่ก่อนสิ้นปี 2018 Ventilla ก็ได้ปิดโรงเรียน 5 แห่งจากทั้งหมด 9 แห่ง ในปี 2016 Ventilla ได้ตัดสินใจว่าวิธีการที่คุ้มทุนที่สุดในการทำภาพฝันให้เป็นความจริงได้ก็คือการพักการเปิดโรงเรียนไว้ชั่วคราว และหันมาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ เพื่อเสนอขายให้กับลูกค้าที่ตัวเขาเรียกว่า “พันธมิตร” โรงเรียนเหล่านี้จะให้คำติชมกับทีมวิศวกรของเขา ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในที่สุด Ventilla วางเดิมพันว่า เขาจะสามารถหาผู้บริหารโรงเรียนที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้เฉพาะบุคคลและยินยอมจ่ายค่าธรรมเนียมอันสูงลิ่วให้กับAltSchool ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทอื่นๆ อีก ครึ่งโหล ซึ่งรวมถึง Schoology, Moodle, Blackboard และ Canvas ก็ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่าระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ ที่อ้างว่าช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนสอนแบบเฉพาะบุคคลด้วยเช่นกัน โรงเรียนรัฐบาล 2 แห่งซึ่งเป็นพันธมิตรของAltSchool ตั้งอยู่ในเมือง Paramount และในเมือง Arcadia รัฐ California นอก Los Angeles เมือง Paramount ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนเชื้อสายละตินอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเด็กนักเรียนในโรงเรียน มัธยมขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองเกือบทั้งหมดจากจำนวนรวม 4,700 คนเข้าเกณฑ์ได้สิทธิรับประทานอาหารกลางวันฟรี กำลังเดินหน้าโครงการนำร่องโดยนำซอฟต์แวร์ของAltSchool มาใช้ในโรงเรียนมัธยมเปิดใหม่แห่งหนึ่งซึ่งเน้นการเรียนการสอนในกลุ่มวิชา STEM (ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering และ Mathematics) ที่มีชื่อว่า Odyssey สถาบัน Odyssey ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีนักเรียนเกรด 9 จำนวน 138 คน และมีแผนที่จะขยายการเรียนการสอนให้ครอบคลุมถึงนักเรียนเกรด 4 จนมีจำนวนนักเรียน 550 คน บรรดาเด็กๆ ที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นได้นำเสนอโครงการที่ตนเองกำลังทำอยู่ในห้องเรียนที่เรียกว่า “พื้นที่สำหรับผู้ผลิต” ซึ่งมีเครื่องพิมพ์สามมิติติดตั้งไว้ให้ใช้งาน Honey Robinson นักเรียนซึ่งแต่งตัวเลียนแบบ Michael Jackson พร้อมกับสวมถุงมือข้างเดียว นำเสนอแผนธุรกิจที่สั้นแต่กระชับและได้ใจความ ซึ่งเธอเขียนขึ้นอย่างดี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับขั้นตอนต่างๆ ไปจนถึงการหาสถานที่ฝึกงาน โดยหลังจากนั้นนักเรียนจะมีโอกาสได้ทำงานพาร์ทไทม์เป็นเวลา 8 สัปดาห์ใน 1 ปีการศึกษา ดูเหมือนว่า Odyssey จะเริ่มต้นได้ดี แต่ Ryan D. Smith ผู้ช่วยศึกษาธิการของ Paramount กล่าวว่า ยังไม่มีแผนการที่จะนำซอฟต์แวร์ของAltSchool มาใช้กับโรงเรียนทุกแห่งใน เขตนี้ เขากล่าวว่า “ในโรงเรียนแห่งใหม่ คุณมีโอกาสที่จะลงมือทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เริ่มแรก แต่สำหรับโรงเรียนที่มีอยู่เดิม เรามีภาระงานอื่นๆ อีกมากที่ต้องทำ ก่อนที่เราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่แตกต่างเพื่อให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคนได้” อย่างไรก็ดีAltSchool จะสามารถอยู่รอดได้ ถ้าหากว่าสามารถทำยอดขายซอฟต์แวร์ของบริษัทได้มากขึ้น “นี่ถือเป็นความเสี่ยงอันใหญ่ยิ่งของธุรกิจสตาร์ทอัพ” Ventilla กล่าว “ผมจะยังอยู่ที่นี่ไม่ไปไหนจนกว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไปแล้ว มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ลงทุนในธุรกิจด้านการศึกษา เพียงเพราะว่ามันไม่คุ้มค่า ถ้าหากว่าพวกเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ขึ้นมาได้ ก็จะได้รับเสียงชื่นชม หรือความช่วยเหลือเพียงน้อยนิด...ความจริงแล้วผมสามารถเลือกทำธุรกิจอื่นๆ ที่จะทำเงินและสร้างชื่อเสียงให้ตัวผมได้มากกว่านี้ก็ได้” แล้วเช่นนั้น ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจนี้ “ผมเลือกทำธุรกิจนี้ เพราะคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกใบนี้ และผมไม่คิดว่าจะมีผู้คนจำนวนมากนักที่จะมีทรัพยากรและสามารถลงมือทำจนสำเร็จได้” เรื่อง: Susan Adams  เรียบเรียง: ริศา
คลิกอ่านฉบับเต็ม "AltSchool เงินทุนก้อนโตและเดิมพันครั้งใหญ่เพื่อเด็กตัวน้อย" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine