All Raise ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมลงทุนด้วยพลังสตรี - Forbes Thailand

All Raise ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมลงทุนด้วยพลังสตรี

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jul 2018 | 11:39 AM
READ 11055

ด้วยความโกรธเคืองและไม่พอใจระบบการครอบงำโดยกลุ่มผู้ชายทรงอิทธิพลที่สร้างความอึดอัดให้วงการเทคโนโลยี ทำให้กลุ่มนักธุรกิจร่วมลงทุนชั้นนำลุกขึ้นมาเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เป็นพลัง

ในเดือนกรกฎาคม 2017 Aileen Lee นักธุรกิจร่วมลงทุนผู้มากประสบการณ์ ซึ่งรั้งอันดับ 97 ในการจัดอันดับ Midas List ตัดสินใจที่จะลองเสี่ยงดูสักตั้ง  เธอกล่าวกับสตรี 23 คนที่เธอเรียกว่าชมรมอาหารเช้าหรือ “Breakfast Club” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนในบริษัทร่วมลงทุนอื่นๆ โดยเสนอให้สาวๆ กลุ่มนี้ผนึกกำลังกันช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆ ให้มีโอกาสก้าวเข้าสู่ธุรกิจร่วมลงทุน พร้อมเติบโตก้าวหน้าในธุรกิจ “ฉันคิดว่าเราทุกคนรู้สึกเหมือนกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเพศกับอำนาจ การล่วงละเมิด และการขาดผู้หญิงในธุรกิจร่วมลงทุนที่เป็นข่าวใหญ่อยู่นั้นมันไม่โอเคเลย เราต้องสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาธุรกิจของเราให้ดียิ่งขึ้น”
Aileen Lee วัย 48 ปี ผู้ก่อตั้ง Cowboy Ventures หนึ่งในผู้หญิงแถวหน้าของธุรกิจร่วมลงทุน
Lee วัย 48 ปี คือผู้ก่อตั้ง Cowboy Ventures ในปี 2012 ตอนนั้น Cowboy เพิ่งจะเข้ามาเกาะกลุ่มบริษัทร่วมลงทุนชั้นนำและอยู่ระหว่างการลงทุนรอบสองมูลค่า 60 ล้านเหรียญ แม้ว่าการเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์แนวหน้าอาจจะเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ แต่เธอตัดสินใจแล้วว่า ถ้าไม่ออกมาพูด ก็คงไม่มีโอกาสได้พูดอีกเลย การลงทุนในเทคโนโลยีอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ผู้ชายเป็นใหญ่มากที่สุดในสหรัฐฯ ผลการสำรวจของ Babson College พบว่าจำนวนหุ้นส่วนผู้หญิงในธุรกิจลงทุนลดลงหลังยุคฟองสบู่ดอทคอมแตก จาก 10% ในปี 1999 เหลือ 6% ในปี 2014 ก่อนที่จะดีดกลับมาเป็น 9% ในปัจจุบัน อีกทั้ง กองทุนร่วมลงทุนในสหรัฐฯ ถึง 74% ไม่มีผู้หญิงรับบทในการตัดสินใจเลย การตั้งกลุ่มของ Lee ได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งคือ ผู้หญิง 4 คนในกลุ่มก่อตั้งซึ่งรวมถึงตัวเธอด้วยนั้น คือนักธุรกิจร่วมลงทุนที่ทรงพลังที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น Ann Miura-Ko (อันดับ 55 ใน Midas List ปีนี้) Kirsten Green (อันดับ 77) และ Theresia Gouw (อันดับ 89) ทั้งยังมีดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง Jess Lee แห่ง Sequoia รวมทั้ง Rebecca Kaden จาก Union Square และ Sarah Tavel จาก Benchmark ด้วย  สาวๆ เหล่านี้คือผู้ชนะตัวจริงแห่งยุคทุนนิยม พวกเธอจึงรู้ดีว่าเธอสามารถใช้โอกาสจากความสำเร็จเหล่านี้ด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนผู้หญิงเข้ามาก่อตั้งกิจการมากขึ้น การลุกขึ้นมาค้านโครงสร้างทางอำนาจอาจจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาสักวัน และหากต้องการเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะอยู่ยงไปได้อีกหลายต่อหลายสิบปีนั้นพวกเธอต้อง “กลายเป็น” โครงสร้างอำนาจขึ้นมาเสียเอง สาวๆ กลุ่มนี้มีชื่อว่า All Raise ประกอบด้วยผู้หญิง 36 คนที่กำลังพยายามเขียนกติกาใหม่ให้กับธุรกิจ เป้าหมายของพวกเธอคือการเพิ่มบทบาทของหุ้นส่วนธุรกิจร่วมลงทุนที่เป็นผู้หญิงให้ได้สองเท่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าพร้อมเพิ่มทุนสำหรับธุรกิจร่วมทุนให้กับผู้ก่อตั้งกิจการที่เป็นผู้หญิงจาก 15% เป็น 25% ภายในเวลา 5 ปี  All Raise คือผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามสร้างความหลากหลายที่ใหญ่สุดของวงการเทคโนโลยี 2 โครงการ คือ Female Founder Office Hours ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรม กับ Founders for Change ซึ่งเป็นคำสัญญาที่จะสร้าง startup 700 รายเพื่อความหลากหลาย โดยมีมหาเศรษฐีแห่งแวดวงเทคโนโลยีอย่าง Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram และ Drew Houston ซีอีโอ Dropbox ร่วมด้วย Harvard Business Review ระบุว่า ในกลุ่มเทคโนโลยี ผู้หญิงตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพของตัวเองมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าตัว โดย 56% ออกจากธุรกิจไปตั้งแต่ยังไม่ทันก้าวถึงตำแหน่งระดับกลางด้วยซ้ำ
Female Founder Office Hours จัดงานอีเวนท์เพื่อให้ผู้ก่อตั้งกิจการสตรีและเหล่าเวนเจอร์แคปิตอลิสต์ได้พบปะกัน เพิ่มโอกาสให้สตาร์ทอัพจากผู้บริหารหญิงได้รับเงินลงทุนก่อน (photo credit: pehub.com)
ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทร่วมลงทุนกล่าวโทษว่าเป็นปัญหาของระบบ ตามที่ Michael Moritz มหาเศรษฐีแห่งธุรกิจร่วมลงทุนกล่าวไว้อย่างอื้อฉาวเมื่อปี 2015 โดยแย้งว่าบริษัทต่างๆ ก็อยากจ้างผู้หญิง แต่ไม่มีผู้สมัครหญิงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ดังนั้น คณะทำงานกลุ่มหนึ่งที่ประกอบไปด้วย Miura-Ko กับ Stephanie Palmeri จาก Uncork Capital จึงสร้างฐานข้อมูลลับของผู้บริหารหญิงที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจร่วมลงทุนในเวลานี้แต่โดยส่วนตัวแล้วสนใจที่จะเป็นนักธุรกิจร่วมลงทุน ทีมงานได้หาตำแหน่งที่ยังเปิดว่าง และได้แนะนำสตรีที่อยู่ในรายชื่อไปแล้ว 25 คน “สำหรับคำถามที่ว่าไม่รู้จะจ้างใครดี เราจัดการให้แล้ว” Rebecca Kaden หุ้นส่วนของ Union Square Ventures กล่าว ในธุรกิจร่วมลงทุน ลูกค้าก็คือผู้ประกอบการที่รับเงิน และลูกค้าคือคนที่กำหนดทิศทางการทำงานของบริษัท All Raise จึงรีบฉวยโอกาสที่เกิดจากความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ในช่วงที่กระแส “ฉันด้วย(Me Too)” ใน Hollywood กำลังร้อนแรง
Michael Moritz มหาเศรษฐีธุรกิจร่วมลงทุนตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อปี 2015 หลังนักข่าวจาก Bloomberg ถามความคิดเห็นเขาเกี่ยวกับการจ้างงานผู้หญิง โดย Moritz ตอบว่าบริษัทมีความต้องการจ้าง ถ้าผู้สมัครหญิงคนนั้นมีความฉลาด สนใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริง กระหายความสำเร็จ และความสามารถตรงตามมาตรฐานของเรา บริษัทจะต้องจ้างเธอแน่นอน ซึ่งทำให้เกิดกระแสลบโต้กลับว่าผู้หญิงที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานนั้นมีอยู่มากมายแต่ไม่ได้รับโอกาสต่างหาก(photo credit: techcrunch.com)
ธุรกิจที่มีสตรีเป็นผู้นำจัดอยู่ในกลุ่มกิจการที่เติบโตเร็วที่สุด American Express รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2007-2016 จำนวนธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้น 45% แต่สำหรับธุรกิจร่วมลงทุนแล้ว ผู้หญิงยังมีที่ยืนเพียงเล็กๆ เท่านั้น Pitch-Book ระบุว่า ในปีที่แล้ว ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีผู้ก่อตั้งร่วมเป็นสตรีคิดเป็นเพียง 15% ของเงินทุนเท่านั้น ส่วนในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Harvard เมื่อปี 2014 พบว่า ในกรณีที่ผู้ชายและผู้หญิงเสนอความคิดที่เหมือนกันทุกอย่างในการขอระดมทุน ผู้ชายมีแนวโน้มจะได้รับเงินลงทุนเยอะกว่ามาก หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาของ All Raise คือ การเจอหน้าผู้ก่อตั้งกิจการทั้งหลายให้เร็วกว่าเดิมเพื่อให้ได้การสนับสนุนที่เร็วยิ่งขึ้น จนถึงตอนนี้ ความพยายามที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ Female Founder Office Hours ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ได้รับความนิยม โดยจะจับคู่ให้กับผู้ประกอบการหญิงและนักลงทุนได้พบกันเป็นการส่วนตัวเพื่อพูดคุย  All Raise เองก็เหมือนธุรกิจสตาร์ทอัพ พวกเธอต้องเผชิญกับความเสี่ยงเมื่อพยายามสร้างความสำเร็จในระยะเริ่มต้น สมาชิกจิตอาสาจะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างรอบคอบพร้อมระวังไม่ให้หมดไฟไปเสียก่อนเมื่อต้องทำงานในธุรกิจที่รู้กันดีว่าไม่ต้อนรับการเปลี่ยนแปลง
Melinda Gates ก็ให้ความสนใจและร่วมสนับสนุนกลุ่ม All Raise (photo credit: forbes.com)
เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ Silicon Valley Bank และ Melinda Gates ได้เข้าร่วมด้วย จนถึงตอนนี้มีสัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุน 2 ล้านเหรียญแก่ All Raise กลุ่มจึงวางแผนที่จะว่าจ้างพนักงานประจำกับกรรมการบริหารสักคนเพื่อไม่ให้คนที่ทำอยู่ตอนนี้รู้สึกเหนื่อยจากการเคลื่อนไหวที่เหมือนเป็นงานประจำที่ 2 ไปแล้ว  ความสำเร็จย่อมจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกับที่เห็นมาในอุตสาหกรรมอื่นๆ FORBES ติดต่อหุ้นส่วน 125 คนจากบริษัทร่วมลงทุนที่มีชายเป็นผู้นำ 50 แห่ง เพื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการว่าจ้างและการเปิดรับความหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ตอบ แต่มีผู้นำบริษัท 20 แห่งที่ตอบกลับมา  “เราตระหนักดีว่า ใช่ว่าหุ้นส่วนทั่วไปคนใหม่ทุกคนจะเป็นผู้สมัครที่มีความหลากหลาย แต่ในการหารือทุกครั้งเกี่ยวกับทุกตำแหน่ง เราได้รวมประเด็นความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกเอาไว้ด้วย” Reid Hoffman แห่ง Greylock Partners ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง LinkedIn กล่าว สาวๆ ที่ All Raise มั่นใจว่า ความสำเร็จในการลงทุนจะเป็นบทพิสูจน์ตัวเองในภาคส่วนธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผลตอบแทนทางการเงินอย่างนี้ “ฉันเป็นนายทุน ก็ย่อมต้องการคว้าข้อเสนอที่ดีที่สุด และอยากให้บริษัทของฉันได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุดเช่นกัน” Emily Melton หุ้นส่วนที่ DFJ กล่าว “แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ฉันอยากให้สาวๆ เพื่อนร่วมงานของฉันคว้าชัยและประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน เพราะฉันมองว่านั่นจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน”   เรื่อง: Alex Konrad เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมลงทุนด้วยพลังสตรี" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine