AbCellera Biologics ไบโอเทค คิดเล็ก - Forbes Thailand

AbCellera Biologics ไบโอเทค คิดเล็ก

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Jun 2021 | 11:29 AM
READ 2484

บริษัทพัฒนายาส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายปี เพื่อวิจัยยาขายดีที่จะทำกำไรได้เป็นพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เหมือนวิ่งไล่จับภาพมายา แต่ AbCellera Biologics ไม่อยากเล่นใหญ่ และเป้าหมายที่ชัดเจนนี้ก็ช่วยให้ Carl Hansen ผู้ก่อตั้งกลายเป็นมหาเศรษฐีหลายพันล้านในชั่วข้ามคืนเพราะโควิด

เมื่อคุณติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างยารักษาขึ้นมาจัดการเชื้อ เซลล์เล็กจิ๋วที่เรียกว่า แอนติบอดี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะกับแต่ละคนในระดับโมเลกุลจะเข้าทำลายผู้บุกรุกหรือทำเครื่องหมายไว้เพื่อให้เซลล์อื่นตามไปฆ่าผู้บุกรุกได้ Carl Hansen วัย 46 ปี ออกอาการกระตือรือร้นแบบเด็กเรียน ขณะที่เขาอธิบายกระบวนการนี้ผ่าน Zoom “ร่างกายเราสร้างแอนติบอดีแบบต่างๆ ได้ตั้ง 100 ล้านล้านชนิด” เขาเล่าอย่างตื่นเต้น “ระบบภูมิคุ้มกันคือสิ่งน่าประทับใจเกินบรรยาย” ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาพูดจาเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่าจะเป็นซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญ (มูลค่าหุ้นตามราคาตลาด) นั่นก็เพราะ Hansen เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนถึงปี 2019 แต่เขาลาออกเพื่อมาทุ่มเทกับ AbCellera Biologics บริษัทในเมือง Vancouver ที่เขาก่อตั้งร่วมกับเพื่อนนักวิจัยจาก University of British Columbia เมื่อปี 2012 “มหาวิทยาลัยเป็นที่ที่ดีมากสำหรับการทดสอบความคิดใหม่ๆ และหาว่าแนวทางไหนจะได้ผลมากที่สุด” เขากล่าว ความสามารถเชิงวิชาการของทีมนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งกว่านั้น สตาร์ทอัพสายไบโอเทคเกือบทุกบริษัทมักเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเพื่อรักษาโรคแค่ไม่กี่อย่างแล้วใช้เวลา 8-12 ปีต่อมาพัฒนายาโดยหวังว่าจะมีอย่างน้อยสักตัวหนึ่งที่ออกวางตลาดได้ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะสำเร็จ เพราะมียาใหม่แค่ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่จะรอดไปได้จนจบกระบวนการ แต่ถ้าได้ยาใหม่มาจริงก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นยาขายดี ซึ่งยาขายดีที่สุดในปี 2018 จำนวน 7 ใน 10 ตัวเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับแอนติบอดี ซึ่งรวมถึงยากดภูมิคุ้มกันชื่อ Humira ของบริษัท AbbVie ที่ขายได้ 1.9 หมื่นล้านเหรียญ (รายได้สุทธิ) และยารักษามะเร็งชื่อ Keytruda ของบริษัท Merck ซึ่งทำรายได้ 1.11 หมื่นล้านเหรียญในปี 2019
Carl Hansen ผู้ก่อตั้ง AbCellera Biologics วัย 46 ปี
AbCellera มีแนวทางต่างจากบริษัทอื่นอย่างมาก เพราะแทนที่จะพยายามทำตัวเป็นบริษัทยาครบวงจรในแนวดิ่ง บริษัทนี้กลับมุ่งสนใจเฉพาะขั้นตอนการค้นหาตัวยา ซึ่งแม้จะเป็นส่วนแรกสุดในกระบวนการพัฒนายา แต่ก็สำคัญที่สุดด้วย การคัดเลือกยาที่น่าจะได้ผลที่สุดเกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ จากนั้นจึงทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิต AbCellera ระดมทุนได้ 105 ล้านเหรียญจากนักลงทุนอย่าง Peter Thiel, University of Minnesota และ OrbiMed เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียง 6 เดือน โดยข้อมูลจาก PitchBook ระบุว่า บริษัทนี้มีมูลค่าประเมิน 4.8 พันล้านเหรียญ AbCellera ไม่สนใจจะทำธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ แต่หันมาเสนอบริการที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “บริการช่วยค้นหายาตัวใหม่” แทน บริษัทไบโอเทคแห่งนี้ทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ 90 แห่ง รวมถึงยักษ์ใหญ่แห่งวงการยาอย่าง Pfizer, Gilead และ Novartis โดยบริษัทเหล่านี้ขอให้ AbCellera ช่วยค้นหาแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์บางอย่าง ซึ่ง AbCellera จะใช้เทคโนโลยีของตัวเองเพื่อค้นหาแอนติบอดีที่น่าจะเหมาะสมให้ ความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดของ AbCellera คือ การตรวจสอบแอนติบอดีหลายพันชนิดในเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 เพื่อหาแอนติบอดีที่ต่อสู้กับเชื้อนี้ได้ดีที่สุด จากนั้นจึงส่งแอนติบอดีที่ดูมีแววที่สุดให้บริษัทยา Eli Lilly การทดสอบทางคลินิกสำหรับ bamlanivimab ซึ่งเป็นแอนติบอดีตัวหนึ่งในกลุ่มดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากร่วมมือกันค้นหาแค่ 90 วัน ซึ่งการทดสอบให้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลางและเมื่อเดือนพฤศจิกายนแอนติบอดีตัวนี้ก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ทำสัญญาซื้อยาตัวนี้ 950,000 โดสในราคา 1.2 พันล้านเหรียญ และ Eli Lilly ประกาศตัวเลขประมาณการเมื่อกลางเดือนธันวาคมว่า บริษัทน่าจะมีรายได้ 2 พันล้านเหรียญจากยารักษาโควิด-19 ในปี 2021 ซึ่งรายได้ก้อนใหญ่ในจำนวนนี้มาจาก bamlanivimab ข้อมูลจาก Credit Suisse ชี้ว่า AbCellera ซึ่งทำเงินไป 25 ล้านเหรียญเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2020 จะได้ค่าสิทธิอีกประมาณ 270 ล้านเหรียญจากยอดขายครั้งนี้ นอกจากนี้ AbCellera ยังกำลังหาทางเร่งกระบวนการพัฒนายาจากแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย เพราะกรอบเวลาที่สั้นลงจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนายาและช่วยให้รายได้เข้ามาเร็วกว่าที่คาด “ถ้ามองในแง่การเงิน การลดเวลาลง 1 ปีจะเท่ากับประหยัดต้นทุนค่าเสียโอกาสให้นักลงทุนได้มหาศาล” Gal Munda นักวิเคราะห์จาก Berenberg Capital Markets กล่าว ปัจจุบัน Hansen มีทรัพย์สิน 3 พันล้านเหรียญ ซึ่งต้องขอบคุณหุ้นไอพีโอสุดร้อนฉ่าของบริษัทที่เปิดขายเมื่อเดือนธันวาคม เมื่อเราถามเรื่องที่เขากลายเป็นดาวรุ่งพุ่งเข้าสมาคมพันล้าน Hansen ตอบอย่างถ่อมตัวว่า “รู้สึกว่าเหนือจริงอยู่บ้าง” แต่เขาพูดถึงความสำเร็จของ AbCellera อย่างฉะฉานกว่านั้น “ถ้าโควิดจะแสดงให้เห็นตัวอย่างอะไรได้ สำหรับผมมันคงเป็นบทพิสูจน์โมเดลธุรกิจและเทคโนโลยี”  
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine