สานฝันงานกุศลจากรุ่นพ่อ - Forbes Thailand

สานฝันงานกุศลจากรุ่นพ่อ

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Aug 2017 | 02:10 PM
READ 2476

Ted Stanley สร้างความร่ำรวยจากธุรกิจของตกแต่งบ้าน ก่อนที่จะหันมาทุ่มลงทุนให้กับการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ด้านจิตเวช ในตอนนี้ลูกชายของเขาเข้ามาสานต่อสิ่งที่พ่อได้สร้างไว้ และแน่นอนมันมีประเด็นส่วนตัวของสองพ่อลูกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อตอนอายุ 19 ปี Jonathan Stanley ต้องหยุดพักการเรียนเพราะมีพฤติกรรมคุ้มดีคุ้มร้าย ถึงขนาดตำารวจนำตัวเขาเข้ารับการบำบัดในหน่วยผู้ป่วยจิตเวช หลังจากได้รับการรักษายาวนานถึง 4 ปี ด้วยการให้ลิเทียมและยา Tegretol เด็กหนุ่มคนนี้ก็เริ่มอาการดีขึ้นจนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ต่อมาเขาเรียนจบ Williams College และ Quinnipiac School of Law และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยที่มีความเข้าใจข้อเด่นข้อด้อยของกฎหมายด้านดังกล่าวของแต่ละรัฐอย่างแตกฉาน ในอายุ 51 ปี Jonathan Stanley ลดดีกรีการทำงานด้านกฎหมายลงเนื่องจากอยู่ในวัยใกล้ปลดระวาง เขาค่อยๆ หันหลังให้กับวงการนี้ ทว่า เขากลับทุ่มเทกำลังให้โครงการการกุศลมูลค่าสูงถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในงานวิจัยทางการแพทย์เรื่องความเจ็บป่วยด้านจิตเวชต่อยอดจากพ่อของเขา นอกจากนี้ยังจะต้องจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่พ่อของเขาทิ้งไว้ด้วย Jon ประเมินว่าเขาจะจัดการเรื่องทรัพย์สินตรงนี้ได้ก่อนอายุ 60 ปี กลุ่มผู้สูงวัยและ Gen X ทั้งหลายในขณะนี้ส่วนใหญ่กำลังง่วนไปกับการจัดการเรื่องต่างๆ ที่พ่อแม่พวกเขาทิ้งไว้ แต่สำหรับ Jon แล้วเขายังต้องทำหน้าที่ในการสานต่อความตั้งใจของพ่อแม่ในเรื่องของการทำกุศลต่อสังคมด้วย ในปี 2010 Bill และ Melinda Gates และ Warren Buffett ริเริ่มสนับสนุนให้เพื่อนมหาเศรษฐีด้วยกันแบ่งปันทรัพย์สมบัติอย่างน้อยครึ่งหนึ่งให้กับการกุศล ไม่ว่าจะเป็นยามที่พวกเขามีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วในชื่อโครงการ Giving Pledge มีคนร่วมลงนามในโครงการนี้ถึง 158 รายการ โดยในนั้นมี Ted และ Vada Stanley พ่อและแม่ของ Jon รวมอยู่ด้วย ผู้บริจาคใน 8 รายการตอนนี้เสียชีวิตไปแล้วไม่ว่าจะเซ็นชื่อร่วมแบบสามีภรรยาหรือว่ามาแบบเดี่ยวๆ แน่นอนว่าสำหรับทายาทของผู้ร่วมบริจาคในลักษณะนี้ บางคนคงมีความผิดหวังลึกๆ แต่สำหรับผู้อุทิศให้กับการกุศลหลายคน อาทิ ครอบครัว Gates พวกเขาพยายามที่จะดึงเอาลูกๆ เข้ามาร่วมในการวางแผนงานการกุศลตั้งแต่วัยเยาว์ และนี่ก็เป็นสิ่งที่ Ted ปฏิบัติมายาวนานก่อนที่ Giving Pledge จะเป็นรูปเป็นร่างเสียอีก Ted ซึ่งเสียชีวิตกะทันหันในเดือนมกราคมปี 2016 ด้วยวัย 84 ปีสร้างความร่ำรวยจากธุรกิจขายของสะสม เขาก่อตั้งร้านของสะสม Danbury Mint เมื่อปี 1969 โดยเริ่มจากเหรียญที่ระลึกที่นักบินอวกาศก้าวลงบนดวงจันทร์ MBI ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของร้านดังกล่าวปัจจุบันจำหน่ายสินค้าหลากหลายตั้งแต่เครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ ไปจนถึงหนังสือขอบทองต่างๆ Ted เป็นคนไม่ใช้ชีวิตหวือหวาหรือทำตัวโดดเด่นแต่อย่างใด เมื่อ Jon ยังเด็ก เขาจำได้ว่าพ่อแม่ของเขาภาคภูมิใจมากที่ได้บริจาครายได้ครึ่งหนึ่งต่อปีของพวกเขาเป็นการกุศล พ่อของเขาชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าความมั่งคั่งที่เขาสั่งสมมาเกือบทั้งหมดจะต้องไปใช้ในงานการกุศล ไม่ใช่สำหรับเพื่อครอบครัว “ถ้าเป็นครอบครัวอื่น ผมคงกลายเป็นมหาเศรษฐีไปแล้ว แต่สำหรับผมแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นมหาเศรษฐี” Jon กล่าว ปัจจุบัน Jon อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม Fort Lauderdale มูลค่าเหยียบ 1.5 ล้านเหรียญ Jon ถือเป็นบุคคลสำคัญในครอบครัวที่สานงานการกุศลของ Ted ในปี 1989 Ted และ Vada ทุ่มเงิน 1 ล้านเหรียญเพื่อเป็นทุนให้กับ Stanley Medical Research Institute ที่ Bethesda ในรัฐ Maryland ในการศึกษาการรักษาโรคจิตเภทและโรคไบโพล่าร์ ทั้งสองพยายามตัดลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ และทุ่มเกือบ 600 ล้านเหรียญให้กับสถาบันแห่งนี้ซึ่งทดลองและผลิตยารักษาโรคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสามัญ หรือยาที่ไม่มีฉลาก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทยาต่างๆ จะไม่ให้ความสนใจ สถาบันดังกล่าวยังให้การสนับสนุนงานวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการอักเสบและเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคต่ออาการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามในตอนนี้ E. Fuller Torrey จิตแพทย์วัย 79 ปี ซึ่งเป็นหัวเรือสำคัญของสถาบันแห่งนี้ระบุว่า องค์กรเตรียมตัวจะม้วนเสื่อในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้แล้ว นี่เป็นเพราะเมื่อราวทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ Torrey ก็อายุมากขึ้นเรื่อยๆ และความก้าวหน้าพัฒนายารักษาอาการทางจิตก็ยังไม่ไปไหนไกล ครอบครัว Stanley ตัดสินใจลงทุนในแนวทางรักษาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้แผนที่ทางพันธุกรรมเพื่อบ่งชี้สัญญาณการเกิดความผิดปกติทางจิต ในปี 2007 พวกเขาทุ่มเงินอีก 100 ล้านเหรียญเพื่อก่อตั้ง Stanley Center for Psychiatric Research ที่ Broad Institute ของ MIT และ Harvard University ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชีวการแพทย์ใน Cambridge University โดยสถาบันนี้ยังได้รับเงินสนับสนุนจาก Eli และ Edythe Broad ผู้เซ็นสัญญาร่วมโครงการ Giving Pledge อีกด้วย แม้ว่าจะทุ่มเงินไปแล้ว 175 ล้านเหรียญ ในปี 2014 เขาประกาศจะให้เงินแก่สถาบันนี้เพิ่มอีก 650 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการบริจาคครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาให้กับงานวิจัยด้านจิตวิทยา โดยเงินส่วนใหญ่จะดึงไปจากหุ้นที่ถืออยู่ใน MBI ภายหลังที่ Ted เสียชีวิตไปแล้ว “สิ่งที่ Broad ทำนั้นสมกับปณิธานของพ่อผมอย่างมาก ดังนั้นพ่อจึงทุ่มเทสุดชีวิตให้กับสิ่งนี้” Jon กล่าวพร้อมให้ความเห็นว่า พ่อของเขาก็ทำคล้ายๆ กับที่ Buffett ตัดสินใจทุ่มทรัพย์สมบัติมากมายให้กับ Bill & Melinda Gates Foundation Ted ซึ่งเป็นบุตรชายของคนงานรถไฟที่ควบคุมระบบเบรคใน Reading ใช่ว่าจะเป็นคนที่โปรยเงินเป็นว่าเล่น เขาไม่ยอมเสียเงินสร้างหน่วยวิจัย genome ด้วยตัวเอง แต่ทำผ่าน Stanley Family Foundation ซึ่งได้รับเงินบริจาคจากเขาอีกต่อหนึ่ง และองค์กรนี้ก็จะยุบตัวเองภายในสิบปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว
หนึ่งในมรดกจากสินทรัพย์ของบิดา
หนึ่งในมรดกจากสินทรัพย์ของบิดา
ช่วงสิ้นปี 2015 ไม่นานก่อนที่ Ted จะเสียชีวิต Stanley Family Foundation จัดสรรเงินออกไปได้ 50 ล้านเหรียญ จากเป้า 650 ล้านเหรียญซึ่ง Ted ได้วางไว้ โดยทรัพย์สินของมูลนิธิขณะนั้นมีสูงถึง 500 ล้านเหรียญ ซึ่งรวมถึงหุ้นของ Ted ใน MBI ธุรกิจที่มีมูลค่า 214 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ หุ้นของ Ted ทั้งหมดจะแปรไปเป็นเงินส่งให้กับมูลนิธิแห่งนี้ แม้ว่า Jon จะไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่ามูลค่าหุ้นทั้งหมดของ Ted มีเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าจะเพียงพอที่จะมอบให้กับ Broad ได้ ทั้งนี้ MBI รายงานในเว็บไซต์ของตัวเองว่า บริษัทมียอดขายราว 350 ล้านเหรียญต่อปี ในขณะนี้ Jon กำลังง่วนอยู่กับการจัดการทรัพย์สินมรดกจากพ่อแม่ เขาต้องคุยกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในการประกาศขายบ้านของครอบครัว และบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งของที่อยู่ในบ้านและยังเป็นผู้จัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์อีกหลายแห่งที่พ่อของเขาทิ้งไว้ให้กับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงลูกเลี้ยงซึ่งเป็นลูกของภรรยาVada จากการแต่งงานครั้งแรกของเธอด้วย “(กองทรัสต์) เหล่านี้เพียงพอที่จะให้คุณใช้ชีวิตไปจนถึงบั้นปลายได้อย่างสบาย แต่ไม่ได้หมายความว่าใครในนี้จะสามารถไปซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้นะ” เขากล่าวยืนยัน เรื่อง: Ashlea Ebeling เรียบเรียง: ธฤตวัต เสมใจดี
คลิกอ่านฉบับเต็ม "สานฝันงานกุศลจากรุ่นพ่อ" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine