วิกฤตโควิดแจ้งเกิด "สตาร์ทอัพ" - Forbes Thailand

วิกฤตโควิดแจ้งเกิด "สตาร์ทอัพ"

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Nov 2021 | 12:08 PM
READ 1211

อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูง บวกกับอิทธิพลของโลกออนไลน์ และการสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบฟินเทค กำลังจุดประกายกระแสธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างที่ไม่ได้เห็นกันในหลายทศวรรษ และการดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

Jackie Nguyen
ภายในล็อบบี้คอนกรีตสีเทาหยาบที่ Firebrand Collective ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันสำหรับสตรีในเขตอุตสาหกรรม West Bottoms ใน Kansas City นั้น Jackie Nguyen ชงลาเต้ปรุงด้วยเครื่องเทศและ ลิ้นจี่จากร้านกาแฟเคลื่อนที่สีสันสดใสของเธอเอง Cafe Ca Phe ตกแต่งด้วยภาพวาดหัวมังกร และระบายสีเหลืองและสีแดงสดของธงเวียดนามใต้ คาดสีน้ำเงินสว่างตาเพื่อแสดงถึงอิทธิพลของฝรั่งเศสที่มีต่ออาหารในประเทศของเธอ “แน่นอนว่าหมายถึง Kansas City” Nguyen วัย 32 ปีกล่าว “และยังเป็นสีของทีม Chiefs และ Royals” ด้วย Cafe Cà Phê บริการกาแฟเย็น Hella Good Lattes และ Saigon ให้แก่ลูกค้าวันละ 200 คน มีรายได้ต่อเดือนราว 30,000 เหรียญสหรัฐฯ “เป็นเส้นทางที่บ้าแต่มหัศจรรย์มาก” Nguyen ผู้ประกอบการมือใหม่กล่าว “ก่อนหน้านี้การแสดงเป็นธุรกิจเดียวที่ฉันเคยรู้จัก” เพียงปีเศษๆ ที่ผ่านมาเท่านั้น Nguyen เป็นนักแสดงที่ใช้เวลาอยู่ในโรงละครเวทีมาเกือบ 2 ทศวรรษ ก่อนเกิดโรคระบาดเธอทำเงินได้ปีละ 90,000 เหรียญจากการตระเวนแสดง Miss Saigon ในวันที่ 15 มีนาคมปีที่แล้วเธอเพิ่งจะแสดงที่ Fort Myers ใน Florida และวันต่อมาไฟเวทีบรอดเวย์ก็ดับลง “ฉันไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ไม่มีเงินเก็บเป็นชิ้นเป็นอัน” Nguyen กล่าว เธอย้ายจาก Long Island City ใน Queens ไปยัง Kansas City เจียดเงินเก็บอันน้อยนิดมา 10,000 เหรียญ และอีก 13,000 เหรียญจาก Kickstarter (ซึ่งช่วยให้มีผู้ติดตามทางอินสตราแกรม 4,000 คน) และเธอจะไม่กลับไปบรอดเวย์อีก “ในฐานะนักแสดง อาชีพของฉันขึ้นอยู่กับความกรุณาของคนอื่น แต่ตอนนี้ฉันเลือกเองได้ และฉันก็มุ่งมั่นมากๆ ในสิ่งที่เลือก” Nguyen เป็นหนึ่งในประชากรกว่า 4 ล้านคนที่ขับเคลื่อนกระแสผู้ประกอบการในสหรัฐฯ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อัตราการว่างงานจากพิษโควิดพุ่งสูงอย่างที่ไม่ได้เห็นมานับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) วิถีชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ผ่านช่องทางฟินเทคเทคโนโลยีราคาถูกที่แพร่หลายทั่วไป บวกกับความตั้งใจแน่วแน่ ทำให้ชาวอเมริกันหันมาเดิมพันกับการเป็นนายตัวเอง จนทำให้อัตราการก่อตั้งบริษัทใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในทุกๆ วิกฤตเศรษฐกิจจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากเสมอ อย่างที่ว่ากันว่า ความจำเป็นคือมารดาของสิ่งประดิษฐ์ แต่สถานการณ์ในเวลานี้ไม่เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดแพร่กระจายในวงกว้าง ในปริมาณมาก และรวดเร็วมากจนเหลือเชื่อมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ธุรกิจขนาดเล็กมากเท่านั้น ข้อมูลจาก U.S. Census Bureau ระบุว่า ในปี 2020 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนประกอบกิจการใหม่มากกว่า 4.3 ล้านคน สูงกว่าปี 2019 ถึงเกือบ 840,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวรัอยละ 25 และแตกต่างจากวิกฤตสินเชื่อเมื่อปี 2008 อย่างสิ้นเชิง โดยในเวลานั้นมีผู้ยื่นขอจดทะเบียนลดลงร้อยละ 8 ในบรรดาธุรกิจสร้างงานเหล่านี้ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนั้นอยู่ไกลจากศูนย์กลางราคาแพงทั้งหลายที่ตั้งอยู่ริมชายหาด ตรงกันข้ามกลับไปอยู่ที่รัฐทางตอนใต้ที่จุดประกายกระแสดังกล่าว เช่น Georgia, Mississippi, Alabama และ Louisiana มีอัตราการเติบโตเป็นเลข 3 หลัก และเพื่อย้ำเน้นให้เห็นยุคแห่งการประกอบกิจการอันอุดม ไปด้วยความหลากหลายที่กำลังเดินทางมาถึงนี้ Forbes จึงได้เปิดตัว Next 1000 การจัดอันดับผู้ก่อตั้งกิจการขนาดย่อมทั่วทั้งสหรัฐฯ ที่ผู้อ่านเสนอชื่อมา บริษัทต่างๆ เหล่านี้มีทุนและรายได้ไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ แต่กลับเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีการจ้างงานชาวอเมริกันกว่า 30 ล้านคน
"สตาร์ทอัพ"
Jade Adams โดนโควิดเล่นงานจนทำให้อาชีพช่างภาพงานแต่งงานของเธอต้องสะดุดลง เธอจึงหันมาสนใจต้นไม้ในบ้านเป็นงานอดิเรก เธอสะสมพันธุ์พืชแปลกๆ ไว้กว่า 200 ชนิดจนเต็มอะพาร์ตเมนต์ และได้ตัดสินใจขายผ่านทางเฟซบุ๊ก ต่อมาในเดือนกรกฎาคมเธอจัดบูธออกงานใน Central Collective ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่ Knoxville ใน Tennessee ต่างจากสมัยเป็นช่างภาพ Adams ทำรายได้ปีละราว 48,000 เหรียญ แต่นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วเธอทำรายได้รวม 265,000 เหรียญเข้าไปแล้ว หากหายนะทางเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากโควิดทำให้ชาวอเมริกันนับล้านๆ คนต้องการเริ่มธุรกิจเป็นของตนเอง เทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือที่พวกเขาต้องการพอดี การสื่อสารผ่านวิดีโออย่างแพร่หลาย รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ ระบบคลาวด์ และเว็บไซต์ DIY ต่างๆ ทำให้ใครก็ตามสามารถเปิดบริษัทระดับโลกของตัวเองได้ง่ายๆ จากที่บ้านด้วยต้นทุนย่อมเยา “เศรษฐกิจยุคอินเทอร์เน็ตมีความแพร่หลายและเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงในทุกๆ แง่มุมทางเศรษฐกิจของเรา” Lettieri จาก EIG กล่าว “ในวันนี้คุณมีโอกาสทำอะไรหลายๆ อย่างผ่านระบบออนไลน์อย่างที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วยังเป็นไปไม่ได้เลย” Shopify บริษัทซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาด 1.5 แสนล้านเหรียญ ที่อนุญาตให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาเปิดร้านขายของออนไลน์ได้นั้น มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 ขณะที่ PayPal ยักษ์ใหญ่แห่งวงการชำระเงินช่องทางดิจิทัลมีบัญชีธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเดียวกัน จากการสำรวจของ Salesforce พบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ จำนวนมากถึงร้อยละ 70 อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี หรือ มุ่งเน้นทางดิจิทัลเป็นหลักตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจมีช่องทาง เข้าถึงเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้น ในปี 2020 Lendio ตลาดสินเชื่อธุรกิจได้ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจรายย่อยที่อยู่นอกโครงการ PPP กว่า 100,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 500% “การหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำลายพรมแดนลงอย่างสิ้นเชิง” Loren Padelford หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดทั่วโลกของ Shopify กล่าว “คุณสามารถเปิดบริษัทได้ในชั่วข้ามคืน และขาย สินค้าไปทั่วโลก” เทคโนโลยียังทำให้คนสามารถทำงานได้จากทุกหนทุกแห่ง ในเดือน มิถุนายน ปี 2020 Matt Redler ชาว Tampa ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Panther เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถว่าจ้างโปรแกรมเมอร์และนักออกแบบได้จากทั่วโลก ก่อนเกิดโรคระบาด Redler วัย 23 ปีว่าจ้างนักเขียนโค้ดจากต่างประเทศมาสร้างเว็บไซต์จองเชฟส่วนตัว ต่อมาโควิดทำให้ความต้องการบริการดังกล่าวหมดไป แต่ Redler ก็ปรับตัวได้ทันที เขาเดิมพันไว้ว่า การขยายตัวของการทำงานผ่านระบบออนไลน์จะสร้างกระแสความต้องการแรงงานต่างชาติราคาถูก “บริษัทที่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งแรงงานฝีมือดีได้จากทั่วโลกจะมีโอกาสดีกว่าที่จะเติบโตต่อไปในอีกทศวรรษหน้า” แม้ว่าแรงงานต่างประเทศจะมีค่าจ้างถูกกว่าพนักงานชาวอเมริกัน แต่ก็นำมาซึ่งความยุ่งยากเรื่องบัญชีเงินเดือนและการปฏิบัติตามกฎหมาย Panther ช่วยให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแรงงานสายเทคโนโลยีได้ใน 160 ประเทศ มีซอฟต์แวร์ตรวจสอบประวัติ ต้อนรับพนักงานใหม่ และจัดทำบัญชีเงินเดือน อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทต่างๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานและภาษีในท้องถิ่น เมื่อไม่นานมานี้ Redler ระดมทุนได้ 4.2 ล้านเหรียญจาก Soma Capital, Adapt VC และนักลงทุนกลุ่มนักลงทุน angel ซึ่งรวมถึง Jon Oringer เศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้ง Shutterstock และยังเป็นลูกค้าคนหนึ่งของเขาด้วย “คนเก่งๆ มีอยู่ทุกที่ แต่โอกาสไม่ได้มีอยู่ทุกแห่ง” การล็อกดาวน์ในช่วงโควิดแสดงให้เห็นว่า พนักงานสามารถทำงานได้ดีเท่าเดิมแม้ไม่มีสำนักงานส่วนกลาง และหลายล้านคนก็ไม่กลับเข้าทำงานในออฟฟิศอีกเลย จากการศึกษาของ Harvard Business School ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมพบว่า พนักงานกว่า 25% ต้องการทำงานที่บ้านต่อไป
Maisha Burt (ซ้าย) และ Allyson McDougal (ขวา) ผู้ร่วมก่อตั้ง Workchew
Maisha Burt เปิดตัว Workchew ในปี 2018 และติดโผการจัดอันดับ Forbes Next 1000 เธอเปลี่ยนโรงแรม บาร์ และร้านอาหารต่างๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งปกติมักจะไม่ค่อยมีการใช้งาน Burt วัย 46 ปีได้แนวคิดนี้ขณะทำงานเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล “ฉันเบื่อมากตอนทำงานที่บ้าน” เธอกล่าว “ฉันต้องการสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างร้านกาแฟซึ่งคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ และสถานที่อย่าง WeWork ซึ่งก็แพงเกินไป” ก่อนวิกฤตโรคระบาด Burt มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้ารายบุคคล แต่หลังจากนั้นเธอกว้านทำสัญญากับบริษัทต่างๆ เนื่องจากนายจ้างเองต้องการลดขนาดพื้นที่สำนักงาน ขณะที่ลูกจ้างก็เบื่อการทำงานในครัวและห้องแต่งตัวดัดแปลงเต็มทน “เรายังคงรักษาภาพลักษณ์ บรรยากาศ และต้นทุนการนั่งทำงานในพื้นที่ทำงานร่วมกันเอาไว้” Burt กล่าว ขณะที่พันธมิตรของเธอจะได้ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ พร้อมกับทำรายได้จากพื้นที่ที่มีการใช้งานน้อย” เมื่อเดือนมีนาคม Burt ระดมทุนได้ 2.5 ล้านเหรียญจาก Harlem Capital Partners และ Techstars Ventures รวมถึง Chris Maguire ผู้ร่วมก่อตั้ง Etsy และ Kathryn Petralia ผู้ร่วมก่อตั้ง Kabbage เมื่อมีทุนอยู่ในมือแล้ว Burt จึงอยู่ระหว่างการขยาย Workchew ไปยังเมืองอื่นๆ อีก 17 แห่ง ซึ่งรวมถึง New York, Detroit, Seattle และ San Francisco “เรากำลังเดินหน้าด้วยความเร็วอย่างเต็มที่” เธอกล่าว ไม่ใช่แค่เธอคนเดียว เนื่องจากชาวอเมริกันหลายล้านคนกำลังบอกลาอาชีพเก่าไปตลอดกาลเพื่อเริ่มต้นธุรกิจใหม่ จุดประกายความหวังในช่วงวิกฤตโควิดอันเลวร้ายและพังพินาศ ย้อนกลับไปในยุค 1930 ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เราได้รู้จักกับโทรทัศน์ สายการบินพาณิชย์ และเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่ประธานาธิบดี Roosevelt มอบระบบประกันสังคมและการรับประกันเงินฝาก ประธานาธิบดี Biden ก็อยู่ระหว่างเสนอขยายโครงการภาครัฐครั้งใหญ่ มหาอำนาจอย่าง Microsoft, Genen- tech, Vanguard และ Home Depot ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อในยุค 1970 และในขณะที่ภาวะถดถอยในปี 2008 ส่งผลกระทบภาคการเงินและตลาดที่อยู่อาศัยกลับเป็นยุคก่อตั้งของ Instagram, Uber, Airbnb, WhatsApp และ Slack การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว กว่า 4 ล้านราย และผู้ก่อตั้งกิจการเหล่านี้จะไม่หันหลังกลับไปมองอดีตอีกต่อไป “เราได้เห็นการฟื้นตัวของสังคมและเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการเกิดยุค Roaring Twenties ขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ปี 1918” Dan Wang รองศาสตราจารย์ด้านธุรกิจประจำ Columbia University กล่าว “มันไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่า เราจะได้เห็นการปะทุขึ้นมาของไอเดียใหม่ๆ จากผู้ประกอบการเหล่านี้” เรื่อง: MANEET AHUJA เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: CHRIS CRISMAN
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine