รุ่งอรุณแห่ง ธนาคารดิจิทัล - Forbes Thailand

รุ่งอรุณแห่ง ธนาคารดิจิทัล

FORBES THAILAND / ADMIN
20 May 2020 | 09:56 AM
READ 4391

ทุกวันนี้ใครมีเงินครึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ กับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ตั้งธนาคารได้แล้ว ธนาคารดิจิทัล เปิดให้บริการแล้วหลายสิบแห่ง และเหล่าบริษัทร่วมลงทุนก็วางเดิมพันหลายพันล้านเหรียญว่าธนาคารเหล่านี้จะมาแทนที่ธนาคารของจริงตามหัวมุมถนนได้

กองทัพมหึมาของธนาคารดิจิทัลกำลังเล็งผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กในตลาดเฉพาะกลุ่มทุกประเภท ตั้งแต่นักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียล ทันตแพทย์ และเจ้าของร้านแฟรนไชส์ McKinsey ประเมินว่ามีสตาร์ทอัพ 5,000 รายทั่วโลกกำลังเสนอบริการด้านการเงินทั้งแบบใหม่และดั้งเดิม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2,000 รายเมื่อ 3 ปีก่อน และ CB Insights รายงานว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2019 นักร่วมลงทุนเทเงินให้กิจการธนาคารดิจิทัลไปแล้ว 2.9 พันล้านเหรียญ เทียบกับ 2.3 พันล้านเหรียญในปี 2018 ทั้งปี ปัจจัยที่เสริมการระเบิดของธุรกิจนี้คือ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ทำให้การเปิดธนาคารดิจิทัลราคาถูกและง่ายบวกกับการเพิ่มจำนวนของคนรุ่นใหม่ที่ชอบทำทุกอย่างผ่านมือถือ แอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่ใช้งานง่ายช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการโดยธนาคารแบบดั้งเดิม และเปิดธนาคารเองได้ด้วยเงินทุนแค่ 5 แสนเหรียญ เมื่อมีแพลตฟอร์มตัวกลางแบบนี้ธนาคารดิจิทัลขนาดจิ๋วก็สามารถออกผลิตภัณฑ์การเงินแบบเดียวกับธนาคารใหญ่ได้ ทั้งบัญชีออมทรัพย์ ที่ FDIC คุ้มครอง บัญชีกระแสรายวันด้วยบัตรเดบิต การเข้าถึงเอทีเอ็ม บัตรเครดิต ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และแม้แต่สมุดเช็คมันช่วยให้ผู้ประกอบการฟินเทคมีเวลาว่างไปทุ่มเทกับการสร้างตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นตลาดเล็กหรือแปลกแค่ไหนก็ตาม Dee Choubey แห่ง MoneyLion “โอกาสมีไม่จำกัด” Dee Choubey ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ MoneyLion คุยฟุ้งระหว่างเดินเล่นเข้าสู่สวนสาธารณะ Madison Square Park ใน Manhattan ใบต้นโอ๊กและแอชกำลังเปลี่ยนสีท่ามกลางแสงแดดเดือนตุลาคม Choubey วัย 38 ปี เดินออกกำลังตอนกลางวันมาจากออฟฟิศที่แออัดของ MoneyLion ในย่าน Flatiron District ซึ่งมีพนักงาน 65 คนทำงานหนัก เพื่อเปลี่ยนโฉมธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อย ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ชอบใช้แอป เขานับนิ้วพลางยกตัวอย่างกิจการ 2-3 รายที่เขาชื่นชม ซึ่งเป็นบริษัทที่เปลี่ยนแปลงพื้นฐานการไหลของเงินทั่วโลกเน้นให้เห็นความทะเยอทะยานที่เขามีต่อสตาร์ทอัพอายุ 6 ปีของเขาเอง “PayPal” และ “Square” 2 บริษัทนี้มีมูลค่ารวมกัน 1.5 แสนล้านเหรียญ “จุดยืนของ MoneyLion คือ เป็นผู้บริหารความมั่งคั่งและธนาคารส่วนบุคคลให้กับครอบครัวที่มีรายได้ 50,000 เหรียญ” Choubey กล่าว จากตัวเลขล่าสุดแอปของ MoneyLion มีผู้ใช้งาน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนเมื่อปีก่อน และผู้ใช้งาน 1 ล้านคนในจำนวนนั้น เป็นลูกค้าแบบจ่ายค่าบริการ โดยรวมแล้ว MoneyLion เสนอผลิตภัณฑ์การเงินทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่คาดไม่ถึงอย่างการเบิก เงินเดือนล่วงหน้า และอีกไม่นานก็จะมีบริการนายหน้าด้วย บริษัทของเขามีมูลค่าประเมินเกือบ 700 ล้านเหรียญ และเขาคาดการณ์ว่า MoneyLion จะถึงจุดคุ้มทุนในช่วงกลางปี 2020 บริษัทจะเปิดตัวบัญชีออมทรัพย์ผลตอบแทนสูงที่คุ้มครองโดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ในเร็วๆ นี้ ส่วนบัตรเครดิตมีแผนจะตามมาทีหลังในปี 2020 เขากล่าวว่าถ้าจะรักษาลูกค้าเอาไว้ “เราก็ต้องเป็นโรงงานสร้างผลิตภัณฑ์” Jon Stein ผู้สร้าง Betterment บริษัทฟินเทคซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากการธนาคาร แต่มีธุรกิจมั่นคงแล้วก็เข้ามาเล่นเกมนี้เช่นกัน Betterment จากเมือง New York ซึ่งใช้อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์บริหารหุ้นและพันธบัตรมูลค่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญให้ลูกค้าเพิ่งเปิดให้บริการบัญชีออมทรัพย์ผลตอบแทนสูงเมื่อเร็วๆ นี้ และดึงเงินฝากมาได้ 1 พันล้านเหรียญใน 2 สัปดาห์ “ความสำเร็จแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมาเราไม่เคยโตเร็วขนาดนี้” Jon Stein ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Betterment กล่าวด้วยความทึ่ง และกล่าวว่าเขากำลังจะเปิดตัวบัญชีกระแสรายวันแบบไม่มีค่าธรรมเนียมพร้อมบัตรเดบิต ส่วนบัตรเครดิตกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะตามมา Tim Spence แห่งธนาคาร Fifth Third  Tim Spence พาร่าง สูง 6 ฟุต 3 นิ้วของเขาเดินอย่างรวดเร็วผ่านตึกสูง 31 ชั้นในเมือง Cincinnati ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคาร Fifth Third นายจ้างของเขาธนาคารระดับภูมิภาคอายุ 161 ปีแห่งนี้มีสินทรัพย์ 1.71 แสนล้านเหรียญ Spence สวมเสื้อนอกลายตาหมากรุกและไม่ผูกเนกไท เขาดูไม่เหมือนนายธนาคารทั่วไป และเขาก็ไม่ใช่ Fifth Third มี 1,143 สาขา แต่วันนี้ Spence กำลังให้ความสำคัญกับ Dobot แอปมือถือที่ธนาคารซื้อกิจการมาเมื่อปี 2018 และเปิดตัวใหม่อีกครั้งในปีนี้ Dobot ช่วยผู้ใช้งานตั้งเป้าหมายการออมเงินของตัวเอง และโอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันเข้าบัญชีออมทรัพย์ให้โดยอัตโนมัติ “เราทำยอดดาวน์โหลดได้ถึง 80,000 ครั้งในช่วง 6 เดือน โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายการตลาดเลย” เขากล่าว การโกยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 3 สาย “ซื้อ-จับมือ-สร้าง” ที่ Spence ช่วยคิดขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายจากธนาคารดิจิทัลการจับมือ หมายถึงการลงทุนในบริษัท ฟินเทค และการออกเงินให้บริษัทฟินเทคหน้าใหม่ที่สร้างผลิตภัณฑ์เงินกู้ “ถ้าพูดถึงสตาร์ทอัพซึ่งแข่งกับเราโดยมีนักร่วมลงทุนหนุนหลังสิ่งที่ผมอิจฉาที่สุดก็คือพวกเขาดึงดูดคนเข้าไปร่วมงานด้วยได้เก่งมากเรื่องนี้น่าทึ่งจริงๆ” Spence กล่าว ธนาคารดิจิทัล กำลังผุดขึ้นอย่างรวดเร็วและคุกคามธนาคารแบบดั้งเดิม McKinsey ประเมินว่าภายในปี 2025 รายได้รวม 40% ของธนาคารอาจเสี่ยงต่อการถูกคู่แข่งดิจิทัลชิงไปในที่สุด  
คลิกอ่านฉบับเต็ม รุ่งอรุณแห่งธนาคารดิจิทัล ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine