มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Romesh Wadhwani และ Douglas Leone - Forbes Thailand

มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Romesh Wadhwani และ Douglas Leone

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Jan 2017 | 11:12 AM
READ 3063

อเมริกายังมีข้อได้เปรียบตามธรรมชาติที่ช่วยอธิบายถึงสาเหตุที่ผู้อพยพจำนวนมากสามารถพลิกชีวิตสู่เส้นทางมหาเศรษฐี อันเนื่องจากระบบการศึกษาของสหรัฐฯ มีความโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและได้ดึงดูดคนรุ่นหนุ่มสาวที่ฉลาดหลักแหลมและเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นจากทั่วทุกมุมโลกในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เส้นทางสู่การเป็นมหาเศรษฐีง่ายกว่าอดีตอย่างมาก เริ่มจากมุ่งสู่อเมริกาเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย ตกหลุมรักประเทศนี้ไปจนถึงโอกาสที่ได้รับ (รวมไปถึงตกหลุมรักคู่สมรสในอนาคต) ตัดสินใจอยู่ต่อหลังเรียนจบและนำประสบการณ์ความรู้เหล่านั้นไปสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ (และตำแหน่งงาน) ที่ปูทางความมั่งคั่งสู่อันดับมหาเศรษฐี Forbes 400

จำนวนผู้อพยพเข้าสู่อเมริกาซึ่งมีการศึกษาตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไปเติบโตเพิ่มขึ้น 78% นับจากปี 2000 ถึง 2014 และในปัจจุบันผู้อพยพที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปมีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงถึงเกือบ 30% จากข้อมูลของ Migrant Policy Institute ตัวเลขดังกล่าวมีสัดส่วนใกล้เคียงกับประชากรวัยผู้ใหญ่ชาวสหรัฐฯ ที่เกิดในประเทศ และสัดส่วนของผู้อพยพเหล่านี้ได้ศึกษา 4 วิชาในหลักสูตรบูรณาการหรือที่เรียกว่า STEM (ประกอบด้วยวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ซึ่งช่วยผลักดันทักษะในการสร้างความมั่งคั่งในโลกธุรกิจยุคใหม่ยังมีสัดส่วนที่สูงจนน่าประหลาดใจ ในปี 2011 ผู้อพยพยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตร 3 ใน 4 จากทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดที่คิดค้นขึ้นใน 10 อันดับมหาวิทยาลัยที่ได้รับสิทธิบัตรมากที่สุดของประเทศ Romesh Wadhwani คือหนึ่งในตัวอย่างผู้ที่ผ่านเส้นทางสู่การเป็นเศรษฐีดังกล่าวเขาเข้าศึกษาปริญญาตรีที่ IIT Bombay วิทยาลัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของอินเดียแต่ในปี 1969 เดินทางไปยังอเมริกาเพื่อเรียนต่อปริญญาเอกที่ Carnegie Melon เขาตั้งรกรากใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาและก่อร่างสร้างความมั่งคั่ง 3 พันล้านเหรียญจากการก่อตั้ง Aspect Development บริษัทซอฟต์แวร์และ Symphony Technology Group บริษัทเพื่อการลงทุนนอกตลาดที่มุ่งเน้นธุรกิจเทคโนโลยี “มันเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับผมที่จะเปิดบริษัทของตัวเองที่อินเดียในช่วงเวลานั้นเนื่องจากไม่มีการสนับสนุนผู้ประกอบการ” Wadhwani กล่าว “ในสหรัฐฯ ทุกคนมีอิสระที่จะมีความฝันอันยิ่งใหญ่ มีอิสระที่จะคว้าความสำเร็จด้วยการแลกหยาดเหงื่อและความทุ่มเท โดยไม่ต้องมีพื้นฐานครอบครัวที่พรั่งพร้อม มั่งคั่งร่ำรวยมาก่อนหรือเป็นที่นับหน้าถือตามีฐานะทางสังคม” Douglas Leone มหาเศรษฐีผู้ติดโผรายชื่อใน Forbes 400 เป็นอีกหนึ่งคนที่จุดเปลี่ยนในชีวิตมาจากการศึกษาในอเมริกา เขากำลังเรียนชั้นมัธยมต้นในอิตาลีตอนเดินทางออกจากประเทศเมื่อปี 1968 พ่อแม่ของเขาวาดภาพความสำเร็จในอนาคตของเขาที่รวมถึง “การมีชีวิตในระดับสังคมที่สูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในยุโรป” เขาลงท้ายด้วยการจบปริญญาตรีจาก Cornell และศึกษาต่อ ปริญญาโทที่ Columbia และ MIT “American Dream จะเป็นจริงได้ถ้าคุณใช้ประโยชน์จากโอกาสอย่างเต็มที่” เขากล่าว “ผมใช้การศึกษาเป็นใบเบิกทางที่จะนำพาผมเข้าไปหาโอกาส” Leone เคยเป็นพนักงานขายในบริษัทต่างๆ เช่น Sun Microsystems และ Hewlett-Packard ก่อนที่จะเริ่มงานกับธุรกิจเงินร่วมลงทุน Sequoia Capital ในปี 1988 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทเมื่อปี 1996 ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง Sequoia ได้ลงทุนใน Google, YouTube, Zappos, LinkedIn และ WhatsApp และมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานจำนวนมาก “ถ้าให้ผมเลือกเดิมพันว่าบริษัทที่เราได้ร่วมลงทุนสร้างงานได้มากกว่าหรือน้อยกว่า 1 ล้านตำแหน่ง ผมเลือกข้างมากกว่า” เขากล่าว ปัจจุบัน Leone มีมูลค่าทรัพย์สินตามการประเมิน 2.7 พันล้านเหรียญ เขากล่าวว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานให้ประสบการณ์ที่หาค่าประเมินไม่ได้ “การเป็นผู้อพยพทำให้คุณมีแรงกระตุ้นและเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายไป ผมยังคงรู้สึกถึงพลังนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้” เขากล่าว “ความล้มเหลวไม่ใช่ทางเลือกผมบอกลูกๆ ว่าสิ่งเดียวที่ผมให้พวกเขาไม่ได้คือความรู้สึกสิ้นหวังและผมขอโทษในเรื่องนี้” เขาพูดจากประสบการณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
Forbes 400 ชี้ ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่ Forbes 400 มหาเศรษฐีผู้อพยพแห่ง Forbes 400 Thomas Peterffy และ สามี-ภรรยา ผู้ก่อตั้ง Forever 21
คลิ๊กเพื่ออ่านฉบับเต็ม "Forbes 400 ชี้ฝันชาวอเมริกัน ยังดีอยู่" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559