ปลดตรวนพิซซ่า - Forbes Thailand

ปลดตรวนพิซซ่า

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jul 2018 | 11:44 AM
READ 10469

ความสำเร็จของ Domino’s, Papa John’s และธุรกิจพิซซ่ารายใหญ่ทั้งหลาย ก่อความเสียหายให้เหล่าร้านพิซซ่ารายย่อยมากมายตอนนี้ Slice กำลังลงมือช่วยรวมพลคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ พาเข้าสู่โลกออนไลน์ และปล่อยหมัดสวนกลับบ้าง

Ilir Sela ชอบเรียกตัวเองว่า “พิซซ่ารุ่นที่ 3” ผู้อพยพชาวแอลเบเนียวัย 38 ปี ซึ่งครอบครัวขยายของเขาเป็นเจ้าของร้านขายพิซซ่าจำนวนมากกระทั่งเขาเองก็จนปัญญาจะนับ ดังนั้นเมื่อเขาเปิดตัวธุรกิจในปี 2010 เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีช่วยร้านพิซซ่าอิสระให้สามารถแข่งขันกับร้านแบบ Domino’s, Little Caesars, Papa John’s และ Pizza Hut ได้ สิ่งแรกที่เขาทำคือให้พี่เขย ลูกพี่ลูกน้องและเพื่อนๆ เขา เข้ามาสมัครใช้บริการในบรรดาคนจำนวนนั้นคือ Blerim Marku ผู้จัดการร้าน Pizza Club ในเมือง Edgewater รัฐ New Jersey และเป็นลูกพี่ลูกน้องญาติห่างๆ ของ Sela ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเขาใน New York ช่วงนั้น Pizza Club ทำธุรกิจขายพิซซ่าผ่านหน้าร้านและส่งอาหารผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีล้าสมัย แม้จะรู้ว่า “Papa John’s และ Domino’s นั้นขายดิบขายดีจากยอดสั่งซื้อทางออนไลน์” Marku กล่าว ปัญหาคือร้านขายพิซซ่าขนาดเล็กยังไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากพอในการสร้างระบบสั่งซื้อออนไลน์ที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว ในขณะที่ตัวกลางเชื่อมระบบดิจิทัลอย่าง Grubhub และ Seamless ก็แพงเกินไปเมื่อ Sela นำเสนอหนทางราคาไม่แพงให้ลูกพี่ลูกน้องของเขาในการรับคำสั่งซื้อรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นบริการที่เขาเรียกว่า “MyPizza” Marku ก็เข้าร่วม ผลปรากฏว่ายอดขายของ Pizza Club ที่เคยชืดชากลับร้อนแรงขึ้นมาและตอนนี้ Slice กำลังช่วยให้ร้านทำเงินได้ราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ใกล้เคียงกับสาขาทั่วไปของ Domino’s “นี่แหละที่เราต้องการ” Marku กล่าว วันนี้ Pizza Club คือหนึ่งในร้านขายพิซซ่ากว่า 8,200 แห่ง ทั้งในเมืองใหญ่และเมืองเล็กรวม 2,200 เมืองตลอดทั่วทุกรัฐในประเทศ ที่ใช้แพลตฟอร์มสั่งพิซซ่าของ Sela ซึ่งตอนนี้รีแบรนด์เป็น Slice จากการได้รับเงินสนับสนุน 20 ล้านเหรียญ Slice ตั้งอยู่ในมหานคร New York เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทดำเนินการจัดส่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว FORBES คาดการณ์ว่าคำสั่งซื้อในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญซึ่งจะทำให้ Slice มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านเหรียญบริษัทมีศักยภาพที่จะโตยิ่งขึ้นไปกว่านี้เพราะถึงที่สุดแล้ว ตลาดพิซซ่าในสหรัฐอเมริกานั้นมีมูลค่าถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญ แต่เนื่องจากเครือข่ายธุรกิจนี้ขยายตัวผ่านระบบดิจิทัล ร้านขายพิซซ่าท้องถิ่นจึงอยู่ในสภาวะล้าหลัง โดยเฉพาะ Domino’s นั้น ได้รับความเชื่อถือจากการพลิกธุรกิจมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีซึ่งสามารถผลักดันยอดขายออนไลน์ไปอยู่ที่กว่าครึ่งหนึ่งของอดขายทั้งหมดในสหรัฐฯ Sela ใช้เงินนั้นเริ่มธุรกิจ MyPizza ที่นำเสนอสิทธิประโยชน์ 2 อย่างให้ร้านค้าท้องถิ่น อย่างแรกคือการขายแบบดิจิทัลที่ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้ามีแนวโน้มสั่งเพิ่มสินค้าที่ให้กำไรงามเช่น มอสซาเรลลาสติ๊ก หรือน้ำอัดลมขนาด 2 ลิตร Sela บอกว่าปริมาณการสั่งซื้อเฉลี่ยต่อออร์เดอร์ของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 18 เหรียญผ่านทางโทรศัพท์ มาอยู่ที่ 30 เหรียญผ่านแพลตฟอร์ม อย่างที่สองคือยอดขายออนไลน์มาพร้อมข้อมูล ซึ่งช่วยให้ร้านท้องถิ่นส่งมอบบริการและจับกลุ่มลูกค้าได้อยู่หมัดขึ้นผ่านโปรแกรมส่วนลดต่างๆ และสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าขาประจำในช่วงแรกนั้น บริษัทมีแค่ Sela และวิศวกรประจำเว็บไซต์ เขาไม่ได้มีงบทำการตลาดมากนัก เลยใช้วิธีติดแผ่นป้ายรอบรถ แล้วขับไปจอดหน้าร้านที่เขาหวังว่าจะสมัครใช้บริการ “ผมจะทำให้แน่ใจว่าเจ้าของร้านเห็นรถ” เขากล่าว “นั่นช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้เรา และทำให้พวกเขาคิดว่าธุรกิจเราใหญ่กว่าที่เราเป็น” เขาคงต้นทุนไว้ที่ระดับต่ำด้วยการตั้งระบบหลังบ้านไว้ที่บ้านเกิดในมาซิโดเนียซึ่งตอนนี้เขามีพนักงาน 300 คน โดยส่วนใหญ่ทำหน้าที่คีย์ข้อมูลเข้าระบบและบริหารจัดการฐานข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานจุดขายของ Slice เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการเจ้าใหญ่กว่าที่ไม่ใช่แพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับการสั่งซื้อพิซซ่า Sela ทำเงินได้แล้ว 40 ล้านเหรียญจากคำสั่งซื้อพิซซ่าในปี 2015 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นขณะที่กำลังมองหาเงินทุนและความชำนาญเฉพาะทางมาช่วยในการขยายธุรกิจ เขาก็เริ่มระดมทุนก้อนแรก จากนั้นเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา Sela และ Ryan Scott ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ Slice และอดีตผู้บริหารของ Grubhub และ Seamless ก็ช่วยกันหว่านล้อมให้ Jeff Richards หุ้นส่วนผู้จัดการที่ GGV Capital บินมาจาก Silicon Valley เพื่อมาเจอพวกเขาที่งาน International Pizza Expo ใน Las Vegas Sela นักขายที่เต็มไปด้วยพลังและชอบเข้าสังคมพยายามเสนอขายโอกาสในการสร้างธุรกิจที่อาจแข่งขันกับยักษ์ใหญ่วงการพิซซ่า ด้วยการรวมร้านพิซซ่าขนาดเล็กนับหมื่นแห่งเข้าด้วยกัน เขายังมองเห็นโอกาสสำหรับ Slice ที่จะช่วยลูกค้าในการทำราคาขายต่อกล่องและต่อเมนูได้ดีกว่า และโอกาสในการขยายธุรกิจไปนอกสหรัฐฯ “ในฐานะนักลงทุนในบริษัทร่วมลงทุน” Richards กล่าว “หลายครั้งที่เราได้ยินว่ามีผู้คนแวดวงเทคโนโลยีหาทางเข้ามาทำงานในธุรกิจที่พวกเขาพยายามเรียนรู้ นี่คือชายหนุ่มจากธุรกิจนั้น ที่เติบโตมากับซอสพิซซ่าในเส้นเลือด และรู้ดีว่ามีปัญหาใหญ่อยู่ในธุรกิจของตน” และทั้ง Richards กับ Sela ต่างก็รู้ว่าปัญหาขนาดใหญ่ย่อมนำมาซึ่งโอกาสอันยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน เรื่อง: Amy Feldman เรียบเรียง: ชูแอตต์
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "ปลดตรวนพิซซ่า" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine