ประวัติศาสตร์การเมือง ที่น่าประทับใจ และการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ - Forbes Thailand

ประวัติศาสตร์การเมือง ที่น่าประทับใจ และการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่

Every Drop of Blood: The Momentous Second Inauguration of Abraham Lincoln โดย Edward Achorn ปาฐกถาที่ถือกันว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันก็คือ ปาฐกถาที่ Abraham Lincoln กล่าว ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 1865 ซึ่งหากจะมีข้อยกเว้นก็คงจะเป็นสุนทรพจน์ที่ Gettysburg ของตัวเขาเอง ทั้งนี้ประธานาธิบดี Lincoln ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังทุกคนด้วยการไม่พูดถึงความสำเร็จในการรวมชาติหลังจากที่ไฟสงครามสงบลง และก็ไม่พูดถึงนโยบายการบริหารประเทศหลังสงครามด้วย ไม่มีการใช้ถ้อยคำที่ปลุกใจแม้แต่อย่างใดเลย แต่ในปาฐกถาความยาว 700 กว่าคำของเขานั้น Lincoln บอกกับชาวอเมริกันว่า ความขัดแย้งรุนแรง ที่ผ่านมานั้นเป็นการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าต่อบาปของการกดขี่คนลงเป็นทาส ซึ่งทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ต่างก็มีส่วนผิดด้วยกันทั้งคู่ “เราวาดหวังและสวดภาวนาด้วยความศรัทธาว่าหายนะภัยจากสงครามจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าให้สงครามดำเนินต่อไปจนกว่าความร่ำรวยที่ถูกสร้างสมมาจากการกดขี่แรงงานทาสอย่างยาวนานถึง 250 ปี หมดสิ้นไป และจนกว่าเลือดทุกหยดที่หลั่งออกมาจากการถูกลงแส้จะถูกทวงคืนด้วยดาบของผู้อื่น อย่างที่มีการกล่าวถึงเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน ก็ต้องบอกว่า ‘การพิพากษาของพระองค์เที่ยงแท้และเป็นธรรม’” อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาของความเมตตาและสมานฉันท์ ไม่ใช่เวลาของความเกลียดชังและอาฆาตมาดแค้น สำหรับ Lincoln แล้วเขามองว่า สงครามกลางเมืองมีความสำคัญเป็นพิเศษ ในฐานะบททดสอบว่าประเทศที่เกิดจากความเห็นชอบร่วมกันของผู้ถูกปกครองจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้หรือไม่ ตัว Lincoln เองไม่ได้เคร่งศาสนาจนถึงกับไปโบสถ์เป็นประจำ และในช่วงชีวิตของเขาก็เคยได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับศาสนาออกมามากกว่า 1 ครั้ง ถึงแม้เขาจะชอบอ่านพระคัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับ King James มันก็ไม่ได้เกิดจากแรงศรัทธา แต่ Achorn บอกว่า “เขา (Lincoln) เห็นว่ามันเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้แจ้งในภาคปฏิบัติเป็นหนังสือสร้างแรงบันดาลใจที่เขียนด้วยโวหารอย่างสวยงาม แฝงด้วยปัญญาญาณที่ลึกซึ้ง ซึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่ยากลำบากนานนับสหัสวรรษของมนุษยชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม ศีลธรรม และการพัฒนาตนเอง เขาจำมันได้ขึ้นใจจนสามารถท่องมันออกมาได้ทั้งบท” แต่ถึงที่สุดแล้วเขาก็เกิดศรัทธาในองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงอยู่เหนือโลกนี้ เขาถึงกับเคยบอกนายพลคนหนึ่งว่า “ถ้าหากว่าในยามวิกฤตผมไม่ได้เห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้วล่ะก็ ผมไม่มีทางยืนหยัดอยู่ได้อย่างนี้หรอก” มีหนังสือมากมายหลายเล่มที่เขียนถึงประวัติศาสตร์อเมริกันช่วงนี้และปาฐกถาฉบับนี้ แต่ต้องถือว่าหนังสือของ Achorn ซึ่งเป็นนักเขียนและบรรณาธิการมือดีมีความพิเศษตรงที่สามารถสร้างบรรยากาศและจำลองฉากหลังเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมเสมือนว่าผู้อ่านได้อยู่ในรัฐ Washington ในช่วงที่ Lincoln สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ได้อย่างสมจริง Achorn มีพรสวรรค์ในการบรรยายถึงรัฐ Washington ได้อย่างละเอียดลออทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่คลองน้ำเน่าเหม็นยอดโดมรัฐสภาสหรัฐฯ ซ่องโสเภณี ไปจนถึงสถานที่ต่างๆ ที่ใช้จัดกิจกรรมทางสังคมทำให้ผู้อ่านได้รสชาติที่ครบถ้วนทั้งในด้านที่สวยงามและด้านที่มืดมนของยุคสมัยนั้น นอกจากนี้ Achorn ยังสามารถรังสรรค์บุคลิกให้กับตัวละครที่เป็นที่รู้จักกันดีในหน้าประวัติศาสตร์ได้อย่างแนบเนียน และได้เขียนถึง Lincoln ได้ดีมากเช่นกัน “ความทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กสักคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียแม่ การถูกทอดทิ้ง ต้องใช้ชีวิตยามค่ำคืนด้วยความหลาดกลัว เงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว กินอยู่อย่างสกปรก เหน็บหนาว และหิวโหย ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่ Lincoln ต้องผ่านพบในวัยเด็ก และเมื่อเขาอายุได้ 19 ปี Sarah พี่สาวของเขาก็เสียชีวิตจากการคลอดบุตร Lincoln เขียนไว้ในจดหมายถึงเด็กที่อยู่ในช่วงโศกเศร้าเมื่อปี 1862 ว่า ‘ในโลกที่แสนเศร้าของเราใบนี้คนทุกคนย่อมต้องเผชิญกับความโศกเศร้ากันทั้งนั้นและกับคนหนุ่มสาวจะยิ่งทรมานขมขื่นอย่างที่สุด เพราะมันจะมาโดยไม่รู้ตัว...ทุกอย่างที่พูดมานี้ผมรู้ดีเพราะได้เจอมากับตัวเอง’” หนทางสู่ความสำเร็จของ Lincoln เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาได้หล่อหลอมให้เขาพร้อมและสามารถเผชิญกับบทพิสูจน์อันทารุณของสงคราม ซึ่งมีแต่จะนำมาซึ่งความผิดหวังและล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อมองย้อนกลับไปถึงอุปสรรคต่างๆ ก็ต้องถือว่า น่าอัศจรรย์ที่เขาสามารถฝ่าฟันจนผ่านพ้นมันมาได้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดานายพลที่ไม่ได้เรื่อง การแบ่งพรรคแบ่งพวกทางการเมืองในกองกำลังฝ่ายเหนือ ซึ่งรวมไปถึงในพรรคการเมืองของเขาเองด้วย ยังมิต้องพูดถึงปัญหาและเหตุการณ์ร้ายแรงที่เขาประสบกับตัวเองอีกต่างหาก  
คลิกอ่านบทความชั้นนำเพิ่มเติม ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine