"บล็อกเชน" ก้าวสู่ยุครุ่งเรือง - Forbes Thailand

"บล็อกเชน" ก้าวสู่ยุครุ่งเรือง

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Oct 2019 | 11:18 AM
READ 11445

"บล็อกเชน" ได้ก้าวสู่ยุครุ่งเรืองแล้ว ขณะที่บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ กำลังชะงักงันอยู่ในภาวะตลาดหมี บริษัท ทั่วโลกต่างพากันอ้าแขนรับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเงินดิจิทัล เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนอย่างเงียบๆ

บริเวณย่าน Jersey ทางฝั่งของแม่น้ำ Hudson ซึ่งอยู่ฟากตรงข้ามของศูนย์กลางด้านธุรกิจ การเงินการธนาคารแห่งเกาะ Manhattan เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานโครงสร้างเหล็กและกระจก และออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแนวสากลสมัยใหม่ ป้ายตัวอักษร “DTCC” ที่ติดอยู่ด้านบนของอาคารโดดเด่นและมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล ทว่า น้อยคนนักที่รู้ว่า นี่คือศูนย์กลางการจัดเก็บหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่านับ 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะอาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานของ Depositary Trust & Clearing Corp. หรือ DTCC มีหน้าที่ดูแลหลักทรัพย์หลากหลายประเภท ตั้งแต่ตราสารทุนตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนรวมและอนุพันธ์ ในไม่ช้านี้ DTCC จะตัดริบบิ้นเริ่มใช้ระบบที่อิงพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ บล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์อันเป็นแกนหลักในการทำธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ ข้อมูลบนระบบ Trade Information Warehouse (TIW) ของ DTCC ในอีกซีกหนึ่งของโลก ณ กรุง Taipei ประเทศไต้หวัน Foxconn ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตโทรศัพท์ iPhone ได้จับมือกับผู้ให้บริการสินเชื่อระหว่างบุคคลต่อบุคคลสัญชาติจีน ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อ Chained Finance ใน Shanghai ในอนาคตอันใกล้ Chained จะเชื่อมต่อกับ Foxconn และซัพพลายเออร์รายย่อยของบริษัทที่มีจำนวนมากมาย (รวมถึงซัพพลายเออร์ของซัพพลายเออร์) บนบล็อกเชนพื้นฐาน Ethereum โดยจะใช้สกุลเงินที่บริษัทสร้างขึ้นและเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ (เงื่อนไขข้อตกลงจะถูกดำเนินการโดยอัตโนมัติ) ในการชำระเงินและให้บริการสินเชื่อในรูปแบบเกือบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารลงได้มาก “เรามองว่าบล็อกเชนเปรียบเหมือนโครงสร้างร่างกายสำหรับงานของเรา” Jack Lee ผู้ก่อตั้งหน่วยธุรกิจลงทุนของ Foxconn ซึ่งได้ควักกระเป๋า 40 ล้านเหรียญลงทุนในสตาร์ทอัพบล็อกเชน 6 แห่งกล่าว “สัญญาอัจฉริยะซึ่งการบังคับเงื่อนไขข้อตกลงเป็นไปอย่างอัตโนมัติคือกล้ามเนื้อ และสกุลเงินดิจิทัลเสมือนเลือดที่ไหลเวียน” หัวใจหลักของบล็อกเชนก็คือ ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งสำเนาข้อมูลจะได้รับการจัดเก็บลงบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง เทคโนโลยีนี้ช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรม (ด้านการเงินและด้านอื่นๆ) ระหว่างบุคคล (หรือบริษัท) ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนหรือยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การทุจริตหรือปลอมแปลงเอกสารเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากประวัติการทำธุรกรรมทุกรายการจะถูกบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทุกคนสามารถเข้าถึงรายละเอียดและตรวจสอบธุรกรรมเหล่านั้นได้ตลอดเวลา บริษัทหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตน ทั้งการติดตามแหล่งที่มาของปลาทูน่าตั้งแต่จับขึ้นจากมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทะเลใต้ จนถึงปลายทางการจำหน่ายในร้านค้าปลีก จากการจัดอันดับ Blockchain 50 โดย Forbes เป็นครั้งแรกในปีนี้ บริษัทจากภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งรวมถึง Allianz, Visa และ JPMorgan Chase ติดอันดับเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือ ทำเนียบ Blockchain 50 ประกอบด้วยบริษัทจากแทบทุกอุตสาหกรรม หากยกตัวอย่างในภาคธุรกิจอาหาร บ่อยครั้งการเผชิญวิกฤตปัญหาหลายต่อหลายด้าน ตั้งแต่สถานการณ์โรคท้องร่วงจากเชื้ออีโคไลระบาดไปจนถึงอุบัติเหตุของพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงาน บริษัทต่างๆ อย่างเช่น Nestlé ที่หันมาพึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของตั้งแต่เริ่มขึ้นตอนการผลิต รวมถึงการลดปริมาณงานด้านเอกสาร Golden State Foods ซัพพลายเออร์ซึ่งผลิตแฮมเบอร์เกอร์ป้อน McDonald’s ชั่วโมงละ 400,000 ชิ้น ใช้เทคโนโลยี เช่น ป้ายอิเล็กทรอนิกส์คลื่นวิทยุ RFID และ Hyperledger Fabric เพื่อติดตามไส้เบอร์เกอร์ว่าอยู่ที่ไหน และอุณหภูมิอยู่ที่เท่าไหร่ ระบบดังกล่าวจะส่งสัญญาณเตือน GSF เมื่อปัจจัยแวดล้อมอาจส่งผลให้อาหารเน่าเสีย ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้จะช่วยบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยการประเมินตรวจสอบแบบเรียลไทม์ว่า แต่ละช่วงเวลามีปริมาณเนื้อสำหรับแฮมเบอร์เกอร์บนรถขนส่งหรือในตู้เย็นของแต่ละสาขาเท่าไรบ้าง ในภาคธุรกิจการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ทุกๆ 20 เซนต์ของการใช้จ่ายทุกๆ ดอลลาร์ คือการสูญเงินให้กับความไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งคิดเป็นเงินราว 7 แสนล้านเหรียญต่อปี Ciox บริษัทจาก Alpharetta รัฐ Georgia ผู้ให้บริการบริหารข้อมูลเวชระเบียนให้กับโรงพยาบาลราว 60% ในสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แม้บริษัททั่วโลกจะผุดโครงการที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์จำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทว่าเทคโนโลยีนี้ยังใหม่และมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำหรือช่วยลดค่าใช้จ่ายเป็นตัวเลขชัดเจนได้ หนึ่งในกลุ่มที่กำลังมั่งคั่งจากยุคขุดทองแห่งบล็อกเชนเพื่อธุรกิจก็คือภาคธุรกิจที่ปรึกษา โดย Deloitte, PwC, KPMG, EY และ Tata Consultancy Services ได้จัดตั้งทีมเพื่อให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนต่อบรรดาผู้บริหารองค์กร และเก็บค่าบริการมหาศาลสำหรับบริการวางแผนนำระบบบล็อกเชนไปใช้ในธุรกิจ IBM ที่เป็นทั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีและบริการให้คำปรึกษาอาจเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการบล็อกเชนเพื่อธุรกิจ นอกจากจะเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม Hyperledger Fabric แล้ว IBM ยังมีทีมพนักงาน 1,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่มุ่งหน้าพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนโลกนี้และเผยว่า ธุรกิจ IBM Blockchain ของตนได้ให้บริการด้านบล็อกเชนกับลูกค้ากว่า 500 ราย “อานุภาพของเครือข่ายบล็อกเชนอยู่ที่ผู้มีส่วนร่วมและสมาชิก” Wieck จาก IBM กล่าว ส่วนเรื่องที่ว่าสมาชิกในเครือข่ายจะเป็นผู้บุกเบิกโลกแห่งเงินดิจิทัลในอุดมคติหรือบริษัทผู้ประกอบธุรกิจนั้นไม่ได้สลักสำคัญเท่าไหร่นัก เรื่อง: Michael Del Castillo เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกอ่านฉบับเต็ม “Blockchain 50” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine