นพพล อนุกูลวิทยา และอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ สองเพื่อนสนิทร่วมลงขันทำธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ไกด์ท้องถิ่นนำทางด้วยสไตล์เที่ยวแบบ Local Experiences สร้างรายได้ให้ Take Me Tour หลักล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี จนเป็นสตาร์ทอัพสายท่องเที่ยวไทยรายเดียวที่ติดอันดับ Forbes 30 Under 30 Asia
จากแนวคิดที่อยากทำธุรกิจท่องเที่ยวเอาต์บาวด์ในสมัยเรียนอยู่ต่างประเทศภายใต้ชื่อ“พาฉันเที่ยว” แบบเป็นงานอดิเรกไม่จริงจัง เน้นให้นักเรียนไทยที่เรียนในแต่ละประเทศพาเที่ยวแบบทุกซอกทุกมุม สัมผัสวัฒนธรรม วิถีชีวิตในเมืองต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ปรากฏว่าได้รับความสนใจมากในหมู่นักท่องเที่ยวไทยที่อยากไปเที่ยวต่างประเทศในมุมมองใหม่ๆนพพล อนุกูลวิทยา และ อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ สองเพื่อนสนิทผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Take Me Tour เล่าว่า หลังเรียนจบกลับเมืองไทยก็ตัดสินใจลงขันเดินหน้าทำธุรกิจท่องเที่ยวต่อทันที และกอดคอเดินเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพเต็มรูปแบบ มุ่งท่องเที่ยวแบบอินบาวด์ในประเทศไทยซึ่งนับเป็น top destination ระดับโลก จนปัจจุบัน Take Me Tour ระดมทุนจากนักลงทุนไทยไปแล้วหลายรอบตั้งแต่ 5 แสนเหรียญ หรือประมาณ 16 ล้านบาท จนถึง 1.2-1.5 ล้านเหรียญ “สิ่งที่สร้างความประทับใจให้คนที่ท่องเที่ยวกับเรา คือการพาเที่ยวแบบเข้าถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต สัมผัสมุมใหม่ๆ มีประสบการณ์ร่วมทำกิจกรรมในที่นั้นจริงๆ พาไปเมืองที่ไม่ค่อยมีใครพาไป ไปร้านอาหารท้องถิ่น ซึ่งนักเรียนไทยในประเทศเหล่านี้คือผู้รู้จริงแบบทุกซอกทุกมุม รู้ว่าควรพาไปที่ไหน อาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวดัง แต่เป็นเมืองที่มีเรื่องเล่ามีตำนาน”แนวคิดแบบ Local Experiences นับเป็น“จุดต่าง” ในธุรกิจท่องเที่ยว และได้ใจนักท่องเที่ยวที่พร้อมกลับมาให้พวกเขาจัดทริปอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่านพพลในฐานะซีโอโอ บอกว่า Take Me Tour ได้สร้างมาตรฐาน Local Experiences ในการท่องเที่ยวไทยขึ้นมา สร้างโอกาสให้คนท้องถิ่นมีรายได้จากผู้นำเที่ยวในพื้นที่ที่พวกเขารู้ดีและชำนาญที่สุด สามารถครีเอทกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ว่าควรไปไหน ทำอะไร ไม่ใช่แค่ sightseeing อย่างเดียว แต่ต้องไปชิมกาแฟได้ ไปทำอาหารได้ ไปนั่งสมาธิได้ ไปตักบาตร หรือไปแบบ ghost tour ตามรอยตำนานแม่นาคพระโขนง ฯลฯ เน้นกิจกรรมที่ common เป็นสิ่งใกล้ตัวแต่คนมองข้ามไป เหมือนกับมีเพื่อนพาเที่ยวปัจจุบัน Take Me Tour มีไกด์ท้องถิ่นที่ลงทะเบียนในระบบมากกว่า 2 หมื่นคนใน 55 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ไกด์นำเที่ยว รวมถึงให้คนในท้องถิ่นได้ไม่น้อย ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากลาย เป็นวิธีคิดแบบ Sharing Economy ที่สตาร์ทอัพทั่วโลกนิยมใช้กัน
“รูปแบบทริปเที่ยวมีตั้งแต่เป็นกลุ่ม เป็นคู่ มีความเป็นไพรเวท มาแค่ 2 คนก็พาไปเที่ยวได้ เช่น สามีภรรยามาจองทริปก็สามารถปิดทริปได้เลย ไม่ต้องรอคนที่ 3 ที่ 4 เพราะอยากให้เที่ยวแบบมีคุณภาพจริงๆ อาจต้องยอมมีต้นทุนเพิ่มเพราะใช้คนพาเที่ยวเยอะขึ้นก็ต้องยอม”
จากรายได้ 3 แสนบาทในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ จนถึงวันนี้ Take Me Tour เก็บเกี่ยวรายได้แล้วอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญต่อปี หรือราว 30 ล้านบาทเป้าหมายธุรกิจของ Take Me Tour ไม่ได้อยู่แค่ในไทยอีกต่อไป พวกเขาขยายธุรกิจไปสู่ประเทศ CLMV อย่าง เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม ด้วยผู้นำเที่ยวท้องถิ่นที่นั่น กลายเป็น global platform การท่องเที่ยวที่ไร้พรมแดน
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็มของ "Take Me Tour" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine