อายุยังไม่แตะเลข 3 แต่ ‘ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล’ และ ‘ปัญญ์ ศิริวิริยะกุล’ สองหนุ่มรุ่น 4 ทายาทอาณาจักรน้ำตาล KTIS ใจกล้าเกินตัว กระโดดขึ้นเมกะเทรนด์ "รักษ์โลก" ปั้นธุรกิจผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยด้วยเม็ดเงินลงทุนแตะระดับพันล้าน พร้อมเป้าหมายดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ บทพิสูจน์โมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จะว่าไปสองหนุ่ม ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล และ ปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่และวิศวกรบริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ก็ไม่ได้ใหม่กับ Forbes Thailand สักทีเดียว เนื่องจากทั้งคู่เป็นลูกหลานของตระกูล “ศิริวิริยะกุล” มหาเศรษฐีไทยจากธุรกิจน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของโลก ที่เคยให้เกียรติเรานำเรื่องราวของธุรกิจครอบครัวอายุกว่า 5 ทศวรรษอย่าง KTIS มาเล่าสู่กันฟัง หรือแม้กระทั่ง ประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทของ KTIS รุ่น 3 ของตระกูลก็ได้มาปรากฏบนปกของนิตยสารเราในฐานะหนึ่งในมหาเศรษฐีของเมืองไทย ไม่นับรวมสมาชิกคนอื่นๆ เมื่อเวลาหมุนเปลี่ยนวัยหนึ่งร่วงโรย อีกวัยเติบใหญ่เข้าแทนที่ พร้อมๆ กับวันเวลาที่โลกธุรกิจมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนและสร้างความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้ KTIS จำเป็นต้องปรับตัวเองและโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับ นี่จึงกลายเป็นโจทย์ที่คนรุ่นใหม่หัวใจรักสิ่งแวดล้อมของ KTIS ต้องร่วมช่วยกันคิด เพื่อเติมเต็มแนวทางที่ว่า “KTIS More Than Sugar” และภารกิจนี้ ภูมิรัฐ วัย 29 ปี และ ปัญญ์ วัย 25 ปี หนึ่งในสมาชิกรุ่น 4 รับอาสาเข้ามาช่วยเพื่อสร้างจิ๊กซอว์อีกตัวเติมเต็มในสายธุรกิจของกลุ่มที่เรียกว่า “ชีวภาพ” หรือ bio ต่อยอดจากธุรกิจผลิตน้ำตาลที่เป็นธุรกิจหลักดั้งเดิมของกลุ่ม โดยเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารธุรกิจสายเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากเยื่อกระดาษชานอ้อยของกลุ่ม- พุ่งเป้าชน -
โจทย์ธุรกิจของภูมิรัฐและปัญญ์ตั้งอยู่บนปรัชญาของ KTIS ที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมและบนแนวทางขององค์กรที่มุ่งหน้าสู่ zero waste ที่ได้ริเริ่มทำมาราว 20 ปีที่แล้ว โดยมีผลงานของกลุ่มที่ปรากฏให้เห็นคือ การผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล ถือเป็นนวัตกรรมและผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมน้ำตาลในยุคนั้น จากจุดนี้ ทั้งคู่ครุ่นคิดและมองหา “โอกาส” สร้างมูลค่าเพิ่มต่อ เพราะปีหนึ่งๆ มีชานอ้อยจำนวนมหาศาลลำเลียงออกมาจากสายพานโรงงานของกลุ่มบริษัท ในที่สุดสองหนุ่มก็มาจบลงที่ไอเดียด้วยการแปรรูปเป็นภาชนะจากชานอ้อยอย่างจานหรือหลอด ซึ่งพวกเขามองว่า ไม่เพียงเป็นการใช้ทรัพยากรที่เหลืออย่างคุ้มค่าแล้ว แต่ในตัวของมันยังมีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย ประกอบกับตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสหรัฐฯ และยุโรป หรือแม้กระทั่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้เปิดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมเพราะความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการสินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ “Concept เริ่มจาก 4-5 ปีที่แล้ว จริงๆ ก็มีการพูดคุยกันตลอด มีช่อง opportunity อยู่ตรงนี้ที่จะทำตัวบรรจุภัณฑ์ แต่เมื่อ 5 ปี ที่แล้วมันเหมือน concept ใหม่ องค์กรเราก็ทำมาแต่น้ำตาล ทำเอทานอล ไม่เป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค ธุรกิจเราไม่คุ้นเคยกับธุรกิจแนวนี้ อยู่ดีๆ ทำน้ำตาลจะไปทำจาน ทำกล่อง งงนะ” ภูมิรัฐบอกจุดเริ่มต้นของโครงการให้เราฟัง เมื่อความคิดตกผลึก แต่ใช่ว่าจะทำได้ทันที อุปสรรคด่านแรกพี่พวกเขาต้องผ่านคือ ต้องให้ผู้บริหารของกลุ่มยอมรับกับแนวคิด เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ และสามารถดำเนินในรูปแบบธุรกิจได้จริง ทั้งคู่รับรู้ว่างานนี้เป็นงานหินและแน่นอนว่าหากอธิบายด้วยข้อมูลจากลมปากคงจะผ่านยาก ดังนั้น ทั้งสองจึงลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยริเริ่มโครงการ “Pilot Plant” ขึ้น ด้วยเงินลงทุนไม่กี่ล้านบาทกับเครื่องจักรการผลิตจำนวน 4 ตัว เป็นเสมือนโรงงานทดลองเล็กๆ ผลิตสินค้าจากชานอ้อยอย่างจานและหลอดมีกำลังการผลิตไม่กี่หมื่นชิ้นต่อวัน ทั้งคู่ใช้เวลาทดลองราว 2 ปี จนวันหนึ่งก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพอย่างที่ตั้งใจ และสินค้าเหล่านี้ได้ส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีเกินคาดจนสินค้าไม่พอขาย จากความสำเร็จนี้ทำให้ทั้งคู่ค่อนข้างจะมั่นใจแล้วว่าน่าจะเป็นหลักฐานหนักแน่นมากพอที่จะทำให้ผู้บริหารของบริษัทให้ความเห็นชอบกับโครงการนี้ เพื่อทำการผลิตสินค้าในเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างเป็นทางการ “ถ้าวันแรกขอผู้ใหญ่ 1 พันล้านบาทไปลงทุน ไม่ได้หรอก คงไม่ให้ ดังนั้น เราก็เริ่มลงทุนด้วยเงินไม่กี่ล้านบาทก่อน สัก 3-4 เครื่อง ผลิตกันวันละไม่กี่หมื่นชิ้น อันนี้เรียกว่า “เล็กๆ ของเรา” พอออกมาปุ๊บ มันขายได้ ผู้ใหญ่เราเห็น เริ่มเล่นใหญ่ได้” ภูมิรัฐกล่าวพร้อมกับหัวเราะ ภูมิรัฐอธิบายเพิ่มเติมว่า มี “3 ใช่” ที่เขาคิดว่าผู้ใหญ่น่าจะเห็นดีเห็นงามกับโครงการของพวกเขานั่นก็คือ 1. “product quality” ในช่วงแรกผู้ใหญ่ยังเคลือบแคลงสงสัยกับจานกระดาษว่าใช้ได้จริงไหม หรือมันจะแฉะไหมเมื่อใส่อาหารเข้าไปจริงๆ จากจุดนี้ทำให้เขา ปัญญ์ และทีมงานจึงทำงานกันหนักขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่าสินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพและสามารถใช้งานได้จริง 2. คือ “market readiness” อย่างเดือนแรกสามารถผลิตได้เป็นแสนชิ้น ทำให้เกิดความวิตกว่าจะไปขายที่ไหน ทว่ามีเทรดเดอร์มาช่วยรับไปจำหน่ายและสามารถขายได้หมดจนกระทั่งไม่พอขาย และ 3. คือ “business opportunity” เมื่อโครงการมีแนวทางที่ชัดและพิสูจน์ได้ว่าสามารถดำเนินงานในเชิงธุรกิจได้จริงทำให้มีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจและเข้ามาพูดคุยเพื่อร่วมลงทุน- แกร่งเกินวัย -
เมื่อทุกอย่างชัดเจนและผู้ใหญ่เปิดไฟเขียว การก่อตั้งโรงงานผลิตจึงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2563 ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ณ KTIS Complex จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีการติดตั้งเครื่องจักรผลิตจำนวน 50 เครื่อง มีกำลังการผลิตเต็มที่ราว 1,500 ล้านชิ้นต่อปี เน้นเพื่อการส่งออกโดยมีตลาดสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปเป็นหลัก รวมไปถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอื่นๆ ปัญญ์บอกว่า โรงงานแห่งนี้ถือเป็นโรงงานชั้นนำแห่งหนึ่งที่ผลิตสินค้าภาชนะจากชานอ้อยของไทย และเป็นโรงงานที่มีการผลิตอย่างครบวงจรโดยใช้วัตถุดิบชานอ้อยของกลุ่มบริษัททั้งหมด ซึ่งถูกควบคุมภายใต้มาตรฐาน ISO ดังนั้น สินค้าจานหรือหลอดจากชานอ้อยที่ผลิตออกมาจึงไม่เพียงแต่มีคุณภาพ แต่ยังมีความปลอดภัย 100% สำหรับใช้ใส่อาหารรับประทาน นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้ยังสามารถรองรับกับการผลิตภาชนะจากชานอ้อยที่มีความซับซ้อนในอนาคตอย่างภาชนะเพื่อใช้ทางการแพทย์ที่ใช้ใส่อุปกรณ์ในห้องผ่าตัดที่ต้องการมาตรฐานด้านความสะอาดและปราศจากเชื้อปนเปื้อน เป็นต้น หรือแม้กระทั่งผลิตสินค้าอื่นๆ โรงงานนี้ก็สามารถผลิตได้ เพียงแค่เปลี่ยนแม่พิมพ์ตัวใหม่ของสินค้านั้นๆ เข้าไปแทน “โรงงานใช้เงินลงทุนระดับพันล้านเป็นโครงการใหญ่ พอดูว่าเทรนด์มันใช่ทั้ง 3 ข้อ ทำให้เรากล้าที่จะลงทุน เชื่อมั่นจากที่ว่าเราได้พูดคุยในตลาด ดูเทรนด์ในตลาด แล้วก็เชื่อว่าเป็นสเกลที่เหมาะสมและดีที่สุด” ปัญญ์กล่าว ปัจจุบันโรงงานสร้างไปแล้วกว่า 80% และมีกำหนดจะเปิดในราวพฤษภาคม-มิถุนายน ปีนี้ ช้ากว่ากำหนดการเดิมเล็กน้อยเนื่องจากเกิดการสะดุดจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กระนั้นการระบาดของโควิดก็ได้มอบบทเรียนให้กับทั้งสอง กล่าวคือในช่วงนั้นประเทศเข้าสู่การล็อกดาวน์เพื่อหยุดการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ทีมงานติดตั้งเครื่องจักรจากประเทศจีนไม่สามารถเข้ามาได้ ทำให้ภูมิรัฐและปัญญ์ต้องหาทางออกเพื่อให้โครงการเดินหน้า โดยทั้งคู่เลือกใช้วิธีการพูดคุยผ่านวิดีโอคอลเรื่องการติดตั้งพร้อมกับทีมงาน และให้พันธมิตรทางฝั่งจีนส่งเครื่องจักรเข้ามาแทน ส่วนปัญญ์เองในฐานะวิศวกรคุมที่ช่วยดูการก่อสร้างโรงงานก็ต้องรับบทหนักกับรายละเอียดงานทุกอย่าง จนบางครั้งเขาต้องมากินนอนอยู่กับพื้นที่ก่อสร้าง แต่หลังโรงงานเสร็จสิ่งที่ท้าทายตามมาคือ ตลาดส่งออก ซึ่งภูมิรัฐบอกว่า ในส่วนนี้บริษัทมีเครือข่ายเทรดเดอร์รับไปจำหน่ายอยู่แล้ว และในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะชักชวนเทรดเดอร์ที่มีศักยภาพและมีปรัชญาการทำงานคล้ายกับบริษัทเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย โดยบริษัทยังถือหุ้นใหญ่อยู่เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านการขาย โดยภูมิรัฐคาดหวังว่า โรงงานนี้จะสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำใน 3 ปีนับจากวันที่ผลิตอย่างเป็นทางการ และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้บริษัทก็จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ “ถ้ามัน work ก็เตรียมตัวเขาตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน ผมว่าเงินเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “โอกาส” เพราะจะมีผู้ลงทุนเห็นเรามากขึ้น มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ตอนนี้เป็นบริษัทลูกของ KTIS ถ้าเรา spin off เป็นบริษัทเราเองมันก็จะมีความชัดเจน” ภูมิรัฐกล่าว ปัจจุบันหลอดจากชานอ้อยของบริษัทมีจำหน่ายอยู่ในตลาดแล้วและมีลูกค้าหลักอย่างเชนโรงแรมใหญ่ๆ ใช้ โดยสินค้าอยู่ภายใต้แบรนด์ Cherr (ออกเสียงตัว “ฌ” ของไทย) ขณะที่สินค้าอื่นๆ อย่างจานก็อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะตั้งเป็นแบรนด์ใหม่หรือไม่ หรือใช้ชื่อร่วมกับแบรนด์นี้ ซึ่งคาดว่าจะสรุปก่อนที่โรงงานจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามภูมิรัฐบอกว่า สินค้าที่ผลิตได้นั้นจะจับกลุ่มเป้าหมายที่เห็นคุณค่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกับบริษัท และจะไม่เน้นว่าเป็นสินค้าคุณภาพราคาถูก เพื่อเลี่ยง “price war” แต่จะเน้นเป็นสินค้าคุณภาพในราคาที่ “เหมาะสม” ทั้งคู่ยอมรับว่าโครงการระดับพันล้านนี้เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดที่เคยรับผิดชอบมา เทียบกับภูมิรัฐที่มีอายุงาน 4 ปี และอายุงาน 2 ปีของปัญญ์ ดังนั้น เราจึงอดถามไม่ได้ว่า อายุก็ยังไม่มากกังวลไหมกับหน้าที่รับผิดชอบในโครงการลงทุนด้วยเม็ดเงินสูงขนาดนี้? ทั้งคู่ตอบด้วยรอยยิ้มว่า “กังวล” แต่กระนั้นภูมิรัฐบอกว่า “ที่บ้านสอนเรามาตลอดว่า ถ้าอะไรคิดว่าเป็นกังวลหรืองานยากก็ต้องทำให้ดีที่สุด ทำกันให้สุดกำลัง” ขณะที่ปัญญ์บอกว่า “มันเป็นเส้นบางๆ ระหว่าง “ความท้าทาย” กับ “ความกังวล” ความกังวลทำให้เราโฟกัสไปที่ “อุปสรรค” และ “ความท้าทาย” ทำให้เราโฟกัสไปที่เป้าหมาย” ถึงวันนี้ทั้งคู่บอกว่า รู้สึก “ภูมิใจมากๆ” กับโครงการนี้ เพราะได้สร้างมากับมือ โดยภูมิรัฐบอกว่า ชอบที่คอนเซ็ปต์ไม่เหมือนใครในโลก เนื่องจากบริษัทใช้ชานอ้อยมาทำถือเป็น absolute circular economy จริงๆ ไม่เคยเห็นใครทำอย่างสมบูรณ์แบบนี้มาก่อน อย่างจานกระดาษ หลอดกระดาษ บางแห่งนำทรัพยากรจากธรรมชาติมาใช้ อย่างเช่น ตัดต้นไม้มาผลิต แต่ของบริษัทนำมาจาก by-product จากชานอ้อยจริงๆ ซึ่งไม่เคยเห็นสินค้าใดที่ตอบโจทย์ได้มากขนาดนี้ แต่ความภูมิใจคงอยู่ได้ชั่วพักชั่วครู่ เพราะภารกิจยักษ์ยังรอพวกเขาอยู่ในวันข้างหน้า และทั้งคู่ยอมรับกับความจริงนี้ โดยภูมิรัฐบอกว่า “พวกเราจะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้อีก นำพาบริษัทให้มันก้าวไป มันต้องมีงานใหญ่ๆ ความรับผิดชอบใหญ่ๆ มากกว่านี้” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ KTIS อ่านเพิ่มเติม:คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine