แอพฯ Poshmark โซเชียลช็อปปิ้ง เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อขายเสื้อผ้าแฟชั่น - Forbes Thailand

แอพฯ Poshmark โซเชียลช็อปปิ้ง เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อขายเสื้อผ้าแฟชั่น

แอพฯ Poshmark ก้าวข้ามคำว่าเสื้อผ้ามือสองจนกลายมาเป็นตลาดแฟชั่นมูลค่า 625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมทั้งสร้างผู้ประกอบการในตลาดของตัวเองได้อย่างไร

Manish Chandra วัย 51 ปี แต่งตัวสมเป็นอดีตวิศวกรจาก Silicon Valley ที่ผันตัวมาเป็นซีอีโอของแอพพลิเคชั่นด้านแฟชั่น เขาคาดเข็มขัด Louis Vuitton สวมเสื้อเชิ้ต Tommy Bahama และรองเท้าผ้าใบ Adidas NMD

ทุกชิ้นเป็นของที่เขาซื้อผ่าน Poshmark แอพฯ โซเชียลช็อปปิ้งที่เขาก่อตั้งร่วมกับ Tracy Sun (ผู้ดูแลการขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่) Gautam Golwala ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และ Chetan Pungaliya (หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม)

งานแรกในชีวิตผมคือสร้างฐานข้อมูลเซมิคอนดักเตอร์ให้ Intel แต่วันนี้ผมช่วยทั้งผู้ชายและผู้หญิงให้ขายรองเท้าได้” Chandra เล่ามีแต่ Silicon Valley เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ชีวิตคุณเดินทางแบบนี้ได้ใน 30 ปี

Poshmark เปิดตัวเมื่อปี 2011 เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้หญิงหารายได้ด้วยการระบายเสื้อผ้าส่วนเกินออกมาจากตู้เหมือนเป็น eBay สำหรับเสื้อผ้ามือสองโดยเฉพาะ แต่วันนี้ Poshmark เป็นมากกว่านั้น โดยมีทั้งร้านขายเสื้อผ้าใหม่และตลาดขายส่งที่มีผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นซึ่งแจ้งเกิดด้วยแอพฯ นี้มาขายเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเองอย่างครบวงจร

บริษัทออกแบบแอพฯ ให้มีลักษณะเฉพาะตัวคล้ายการเดินดูของหน้าร้านผ่านหน้าจอมือถือ ผู้ใช้งานจะกดติดตาม (follow) ตู้เสื้อผ้าออนไลน์ของผู้ใช้งานด้วยกัน เสมือนเป็นเครือข่ายโซเชียลที่มีผู้ใช้งาน 40 ล้านคน ซึ่งมีทั้งอินฟลูเอนเซอร์และเพื่อนๆ ของคุณเอง คล้ายกับ Instagram หรือ Pinterest แต่จุดที่แตกต่างคือ ทุกอย่างที่คุณเห็นคือของซื้อของขาย

Manish Chandra (คนที่ 3 จากซ้าย) และทีมของเขาที่สำนักงานของ Poshmark บริษัทสร้างรายได้ให้ผู้ขายบนแพลตฟอร์มนี้ไปกว่า 1 พันล้านเหรียญแล้ว

ปัจจุบัน Poshmark มีผู้ใช้งาน 40 ล้านคน และ 5 ล้านคน หรือ 12.5% จากจำนวนนั้นก็เป็นผู้ขายด้วย แอพฯ นี้ช่วยให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแบบเดียวกับในเว็บ Etsy หรือ eBay คนเหล่านี้สร้างธุรกิจจากการขายสินค้าผ่าน Poshmark ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพที่ซื้อสินค้าจากที่อื่นมาขายต่อ (reseller) หรือแฟชั่นนิสต้าที่แจ้งเกิดด้วยการออกแบบและขายเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง

โดย Poshmark จะหักส่วนแบ่ง 20% จากยอดขายแต่ละครั้งและคาดว่าบริษัทจะทำรายได้ถึง 140 ล้านเหรียญในปี 2018 แต่ขณะนี้กิจการยังไม่ทำกำไรเนื่องจากบริษัทยังมุ่งขยายธุรกิจในเชิงลึกสำหรับสินค้าประเภทใหม่ๆ (โดยกำลังนึกถึงเสื้อผ้าผู้ชายและเครื่องสำอาง) และเจาะตลาดระดับสากล (โดยเล็งแคนาดาไว้เป็นที่แรก) Poshmark ระดมเงินลงทุนได้ 160 ล้านเหรียญ ด้วยมูลค่ากิจการที่ประเมินเมื่อไม่นานมานี้ 625 ล้านเหรียญ

รูปแบบหน้าขายของ Poshmark (PHOTO CREDIT: hercampus.com)

Chandra ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อแบบคนเสพติดวัฒนธรรมป๊อปที่ว่า การจะแนะนำแฟชั่นใหม่ๆให้คนอื่นต้องทำผ่านคน ไม่ใช่ผ่านแบรนด์

ถึงผมจะอายุ 51 แล้ว แต่ก็เข้าใจกระแสวัฒนธรรมป๊อปมากกว่าที่คนอื่นคิด” Chandra กล่าว เขาโตในอินเดียและใช้ชีวิต 15 ปีแรกย้ายบ้านทุก 2-3 ปีตามพ่อที่เป็นผู้พิพากษา เขาสมัครเรียนที่ Indian Institute of Technology Kanpur ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำเพื่อเข้าเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และได้เข้าเรียนด้วยคะแนนอันดับสุดท้ายของห้อง จากนั้นเขาก็ได้ปริญญาโทจาก University of Texas ที่เมือง Austin และบังเอิญสนใจการเต้นรำพื้นเมืองแบบเม็กซิกันด้วย

หลังจากเรียนจบในปี 1989 เขาก็ไปทำงานด้านฐานข้อมูลที่ Intel เขาทำงานที่นั่น 1 ปีก่อนจะลาออกมาทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านฐานข้อมูลอีกหลายแห่งในรัฐ California ตอนเหนือ และได้ปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก UC Berkeley ในปี 1995

สำหรับ Poshmark จุดที่ต่างจากคู่แข่ง คือการสร้างเครือข่ายโซเชียลโดยไม่ได้เน้นว่าคุณรู้จักใครบ้าง แต่เน้นว่าคุณชอบรสนิยมการแต่งกายของใคร ผู้ใช้งานจะ follow สินค้าของกันและกัน และแชร์รายการสินค้าที่เห็นว่าน่าสนใจให้ follower ที่ติดตามตนเองอยู่ได้ดูด้วย

นอกจากนี้ในแอพฯ ยังมีการจัด “Posh Parties” รายวันเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ามาเลือกดูสินค้าตามธีมต่างๆ ได้ เช่น ช็อปปิ้งเฉพาะรองเท้าบูทหุ้มข้อหรือชุดไปงานพรอม สินค้าแต่ละรายการจะมีช่องคอมเมนต์ให้ผู้ซื้อเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับสินค้า และนักช็อปก็สามารถขอให้ผู้ขายช่วยออกแบบสไตล์ให้ตัวเองได้โดยนำสินค้าที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าออนไลน์มาจัดชุดให้

ผู้บริหารใน Poshmark มองว่า คนเราไม่ได้ช็อปปิ้งด้วยการค้นหาสิ่งที่ต้องการ (search-based shopping) แต่เราเดินดูสินค้าในร้านหรือถามเพื่อนๆ ว่าเสื้อผ้าน่ารักที่เพื่อนใส่นั้นไปซื้อมาจากไหน

ยักษ์ใหญ่ในวงการอี-คอมเมิร์ซทุกวันนี้ส่วนมากจะพึ่งพาวิธีการช็อปปิ้งแบบค้นหาสินค้า (search-based shopping) อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง คนเราไม่ได้ช็อปปิ้งด้วยวิธีนี้ตลอดเวลา แต่เราเดินดูสินค้าในร้านหรือถามเพื่อนๆ ว่าเสื้อผ้าน่ารักที่เพื่อนใส่นั้นไปซื้อมาจากไหน

ขั้นต่อไปสำหรับ Poshmark คือขยายกิจการในเชิงลึกให้มากขึ้นสำหรับเสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าสำหรับคนไซส์ใหญ่ และสินค้าหรูหรา ตอนนี้ผู้ใช้งาน 1 ใน 5 เป็นผู้ชาย และบริษัทก็กำลังเล็งตลาดใหม่ๆ อย่างเครื่องสำอางและของแต่งบ้าน

เรามอง Poshmark เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเพื่อการค้าที่มีแฟชั่นเป็นจุดเริ่มต้น” Chandra กล่าวแต่เราจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน

 

เรื่อง: Biz Carson เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอารุง


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "Poshmark โซเชียลช็อปปิ้ง" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine