Pinkfong บริษัทผู้สร้าง Baby Shark พร้อมเติบโตอีกขั้น รุกตลาดเว็บตูน ขยายฐานออฟไลน์ - Forbes Thailand

Pinkfong บริษัทผู้สร้าง Baby Shark พร้อมเติบโตอีกขั้น รุกตลาดเว็บตูน ขยายฐานออฟไลน์

เจ็ดปีผ่านไปหลังคลิปวิดีโอ “Baby Shark Dance” ถูกเผยแพร่บน YouTube ปัจจุบัน Kim Min-seok ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสัญชาติเกาหลีเบื้องหลังวิดีโอสุดไวรัลกำลังมองหาลู่ทางขยับขยายและสร้างความสำเร็จอีกครั้งกับการ์ตูนดิจิทัลที่เรียกว่า เว็บตูน (Webtoon) พร้อมด้วยยกทัพการแสดงออฟไลน์และสวนสนุกเติมเต็มความสุขให้ผู้ชมทุกวัย


    หลังช่วงเวลาเกือบทศวรรษของความพยายามที่ไม่มีใครเห็น คลิปวิดีโอขนาด 2 นาทีเศษบน YouTube เกี่ยวกับครอบครัวตัวการ์ตูนฉลามก็จุดประกายบริษัทบันเทิงเกาหลีที่น้อยคนจะรู้จักให้โด่งดังในปี 2018

    บริษัท Pinkfong ที่ตั้งอยู่ในกรุงโซลเผยแผร่ “Baby Shark Dance” บน YouTube ในปี 2016 ก่อนจะกลายเป็นไวรัลในอีกสองปีถัดมา จากเพลงชวนน้องร้องตามสู่วิดีโอที่มีผู้ชมมากที่สุดบน YouTube ประจำปี 2020 และจนตอนนี้ก็มียอดเข้าชมถึง 1.3 หมื่นล้านครั้งแล้ว กระทั่ง Elon Musk ทวีตเกี่ยวกับ “Baby Shark Dance” ในปี 2021 โดยกล่าวว่าวิดีโอนี้ “มียอดเข้าชมมากกว่าจำนวนมนุษย์บนโลกเสียอีก”

    ณ ตอนนี้ “Baby Shark” ก็มีอายุเจ็ดขวบแล้ว Kim Min-seok ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Pinkfong เผยเวลาที่บริษัทจะต้องเติบโตด้วยเช่นกัน และเพื่อที่จะสามารถเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ พวกเขาจึงต้องไปให้ไกลกว่าสื่อบันเทิงสำหรับเด็กและวิดีโอบน YouTube

Baby Shark Event ในฮ่องกงปี 2019


    “เราได้ริเริ่มแผนการเติบโตครั้งใหม่เพื่อก้าวสู่การผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกด้านการผลิตเนื้อหาและมอบประสบการณ์บันเทิงแก่ผู้ชมทุกวัยในครอบครัว” Kim Min-seok ซีอีโอหน้าใสวัย 42 ปีกล่าวในการสัมภาษณ์ทางวิดีโอ “เรากำลังพัฒนารูปแบบและประเภทของเนื้อหาที่หลากหลายซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมกลุ่มอื่นได้นอกจากเด็กๆ”

    

เปิดตลาดเว็บตูน สื่อบันเทิงยอดนิยมของคนรุ่นใหม่


    เป้าหมายแรกของ Pinkfong คือวัยรุ่น (Teenager) และวัยหนุ่มสาว (Young Adult) ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ Kim Min-seok เชี่ยวชาญ ก่อนร่วมก่อตั้ง Pinkfong ในปี 2010 นั้น Kim Min-seok ทำงานที่บริษัทเกมออนไลน์ชั้นนำอย่าง Nexon และ NHN

    นอกจากนี้เขายังสามารถขอคำแนะนำจากลุง Kim Chang-soo ที่เป็นมหาเศรษฐีและนักธุรกิจแฟชั่นทรงอิทธิพล โดยลุงของเขาได้ถือครองหุ้นของ Pinkfong อยู่เกือบ 1% ซึ่งบริษัทดังกล่าวยังได้ดูแลบริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อย่าง F&F ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายช่วงอายุเดียวกัน

    Pingfong ของ Kim Min-seok ตั้งเป้าเข้าถึงผู้ชมหน้าใหม่ผ่านเว็บตูน หรือการ์ตูนดิจิทัลอ่านง่ายที่ถูกออกแบบมาเพื่ออ่านบนสมาร์ทโฟน คำๆ นี้เกิดจากคำว่า เว็บ และ การ์ตูน เหมือนหนังสือการ์ตูนดิจิทัลเวอร์ชั่น TikTok คือคำอธิบายของ Jayden Kang ผู้อำนวยการธุรกิจระดับโลกของฝ่ายเนื้อเรื่องจาก Kakao Entertainment ซึ่งเป็นธุรกิจสายบันเทิงแยกย่อยมาจากบริษัทอินเทอร์เน็ตทรงอิทธิพล Kakao ของมหาเศรษฐีเกาหลี Kim Beom-su

    “เนื้อหาบน TikTok ที่มีความยาว 10-30 วินาที จัดว่าสั้นมาก ปกติแล้วไม่ได้มีบริบทอะไร เว็บตูนก็คล้ายๆ กัน คุณไม่จำเป็นต้องจดจำเรื่องราวทั้งหมด” Kang ซึ่งเคยทำงานอีกหนึ่งบริษัทอินเทอร์เน็ตแนวหน้าของเกาหลีอย่าง Naver ผู้จัดทำเว็บตูนเช่นเดียวกับ Kakao เล่าเสริม “เนื้อหาที่ทำออกมาแบบพอดีคำและเพลิดเพลิน ขอแค่มีเวลาสัก 10 นาทีบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า คุณก็เปิดแอปแล้วอ่านได้เลย”

Jayden Kang


    วัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ช่วงวัยที่เติบโตมาพร้อมสมาร์ทโฟนในมือ ต่างก็ถูกดึงดูดมายังเว็บตูนย่อยง่ายเหล่านี้โดยเฉพาะ และนั่นคือเหตุผลที่ Pinkfong มุ่งมั่นขยายเข้าสู่ตลาดเว็บตูน “คนหนุ่มสาวคือกลุ่มผู้บริโภคเว็บตูนที่ใหญ่ที่สุด มันจึงเป็นรูปแบบที่ยอดเยี่ยมในการเข้าถึงผู้ชมหน้าใหม่” Kim Min-seok กล่าว

    เว็บตูนยังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในประเทศเกาหลี เว็บตูนถูกสร้างขึ้นช่วงต้นยุค 2000 โดยเมื่อปี 2021 ยอดขายหนังสือการ์ตูนดิจิทัลสูงถึง 1.6 ล้านล้านวอน (ราว 1.4 พันล้านเหรียญฯ) เพิ่มจาก 1.1 ล้านล้านวอนในปี 2020 และ 3.8 แสนล้านวอนในปี 2017 อ้างอิงจากรายงานของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) องค์กรภาครัฐที่ดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์

    Kang บอกว่า ตลาดเว็บตูนที่เติบโตนั้นเป็นเพราะเนื้อหามากมายหลากหลายที่เข้าถึงได้ มีค่าโสหุ้ยที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่อย่าง และอุปสรรค (Barrier of Entry) ในการเข้าสู่วงการผลิตเว็บตูนก็ต่ำ ทำให้บรรดานักเขียนการ์ตูนสามารถนำเสนอเนื้อหาต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย

    ตัวอย่างเว็บตูนยอดนิยม เช่น Covertness (2010) เรื่องราวแอคชั่นคอมเมดี้เกี่ยวกับสามสายลับจากเกาหลีเหนือที่ต้องทำภารกิจลับในหมู่บ้านเล็กๆ ของเกาหลีใต้ และ The Kingdom of the Gods (2014) ที่เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมซอมบี้ยุคโชซอนของเกาหลี

    “เนื้อหาต้นฉบับ (Original) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังบนแพลตฟอร์มเว็บตูน สามารถปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบอื่นได้ เช่น ภาพยนตร์คนแสดง ซีรีส์ อนิเมชั่น และเกม” Kim Min-seok ว่า “เราได้เห็นเว็บตูนเรื่องเยี่ยมมากมายประสบความสำเร็จในการนำไปฉายบนจอโทรทัศน์มาแล้ว”

    เว็บตูน Covertness ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทำเงินเมื่อปี 2013 ในนาม Secretly Greatly หรือชื่อไทยคือ แผนลับสุดยอด ซึ่งกลายภาพยนตร์ที่สร้างรายได้รวดเร็วที่สุดในเกาหลี โดยแตะหลักล้านในเวลาไม่ถึง 36 ชั่วโมง ส่วนเว็บตูน The Kingdom of the Gods ก็จุดประกายให้เกิดซีรีส์เรื่อง Kingdom ซึ่งฉายทาง Netflix ในปี 2019 ขึ้นแท่นรายการสตรีมมิ่งยอดนิยมเรื่องแรกของเกาหลี

    “เว็บตูนคือแหล่งขุมทรัพย์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต้นฉบับ” Kang แห่ง Kakao Entertainment กล่าว “ผู้กำกับหลายคนต่างก็มองหาเรื่องราวใหม่ๆ จากบนเว็บตูน”

    Kakao Entertainment เผยว่า เว็บตูนราว 50 เรื่องบนแพลตฟอร์มของพวกเขาถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำภาพยนตร์หรือซีรีส์เมื่อปีที่ผ่านมา ตัวเลขเพิ่มจากปี 2020 เป็นสองเท่า ตัวอย่างเว็บตูนดังจาก Kakao Entertainment ที่กลายไปเป็นซีรีส์ยอดนิยม ได้แก่ 

    Business Proposal (เริ่มฉายทาง Netflix ปี 2022) หรือในชื่อไทยคือ นัดบอดวุ่น ลุ้นรักท่านประธาน ซึ่งก้าวสู่อันดับสามของซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกบน Netflix ณ ช่วงเวลานั้น

    อีกเรื่องคือ Dr. Brain (เริ่มฉายทาง Apple TV+ ปี 2021 โดยเป็นซีรีส์ภาษาเกาหลีเรื่องแรกบนสตรีมมิ่งของ Apple) นอกจากนี้ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของ Walt Disney อย่าง Disney+ ก็กำลังเตรียมปล่อยซีรีส์ Moving ที่ทำจากเว็บตูนของ Kakao Entertainment ในปีนี้

โปสเตอร์ Dr. Brain ฉบับเว็บตูนและฉบับซีรีส์


    Pinkfong ก็เข้าร่วมเป็นหนึ่งในบริษัทมากมายที่ขยายตัวสู่สื่อบันเทิงซึ่งเป็นที่นิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Amzaon เปิดตัวหมวดเว็บตูนบนแพลตฟอร์มอ่านหนังสือดิจิทัล Kindle สำหรับผู้ใช้งานชาวญี่ปุ่น ขณะที่เดือนธันวาคมปี 2022 ทาง Apple ได้เซ็นสัญญาสุดพิเศษกับสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลี Kenaz ให้เป็นผู้จัดหาเว็บตูนมาลงแอป Books

     นักลงทุนย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ GIC ทุ่มเงิน 99 ล้านเหรียญลงทุนใน Ridi แพลตฟอร์มเว็บตูนเกาหลีหน้าใหม่ ทำให้สตาร์ทอัพรายนี้มีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญ ส่วนทาง Kakao Entertainment ได้รับเงินลงทุนราว 950 ล้านเหรียญจาก GIC และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (PIF) ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

    Kakao Entertainment ลงทุนอย่างหนักหน่วงในเว็บตูนตลอดหลายปีที่ผ่านมาด้วยตัวเอง เพียงปี 2021 ปีเดียว Kakao Entertainment ใช้จ่ายเงินเกือบ 1 พันล้านเหรียญเพื่อซื้อสามบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาดิจิทัลรายใหญ่ ได้แก่ Tapas Media (ผู้ดำเนินการช่องทางอ่านหนังสือการ์ตูนออนไลน์รายแรกของอเมริกาเหนือ) จำนวน 510 ล้านเหรียญ, Radish (แอปอ่านนวนิยายออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก SoftBank Ventures Asia และ Lowercase Capital ของ Chris Sacca นักลงทุนใน Twitter รุ่นแรกๆ) จำนวน 440 ล้านเหรียญ และ Wuxiaworld (เว็บไซต์และแอปอ่านนวนิยายแฟนตาซีภาษาอังกฤษที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง) จำนวน 37.5 ล้านเหรียญ

    

ครองใจแบบออฟไลน์ ด้วยประสบการณ์ที่จับต้องได้


     ผู้สร้าง “Baby Shark” ต้องการเป็นไวรัลบนโลกออฟไลน์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการแสดงสดและสวนสนุก “ธุรกิจออฟไลน์กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหลังโรคระบาดผ่านพ้นไป และเป็นหนึ่งในโอกาสที่ทำให้เราตื่นเต้นอย่างที่สุด” Kim Min-seok เผย “เนื้อหาเน้นการมีปฏิสัมพันธ์อย่างการแสดงสดและสวนสนุกกระตุ้นให้คุณอยากสัมผัสประสบการณ์จากช่องทางอื่นในชีวิตจริง เช่น ซื้อของที่เกี่ยวข้องกับรายการหลังจากที่คุณรับชมและมีประสบการณ์กับมันแล้ว”

    Kim Min-seok ยังตื่นเต้นกับ “Baby Shark Live!” มากเป็นพิเศษ โดยเป็นการแสดงสดที่มีเค้าโครงมาจากวิดีโอสุดไวรัลบน YouTube ซึ่งจัดทัวร์ในหลายร้อยเมืองทั่วอเมริกาเหนือหลังข้อบังคับต่างๆ ว่าด้วยโควิด-19 ผ่อนคลายลง ที่ประเทศสิงคโปร์ใกล้บ้านเราก็เพิ่งมีการแสดงสดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และกำลังเตรียมการแสดงในกว่า 20 เมืองทั่วประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม

Pinkfong Baby Shark Live! ในนิวยอร์กปี 2019


    “การแสดงสดเป็นหนึ่งในหนทางสร้างการมีส่วนร่วมทรงประสิทธิภาพที่สุดในการฟูมฟักความภักดีของแฟนๆ” Kim Min-seok กล่าว “การแสดงสดเปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่ไม่เหมือนใคร ด้วยระดับความมีส่วนร่วมที่แตกต่างกับการรับชมทางโทรทัศน์และวิดีโอ ผ่านการจัดหาพื้นที่ให้เด็กๆ และครอบครัวสามารถร้องเพลงและเต้นด้วยกันได้”

    สวนสนุก ธุรกิจกำไรงามของ Walt Disney บริษัทบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของ Pinkfong

    “สวนสนุกไม่ใช่แค่ดึงดูดและสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมอย่างสูงด้วยเครื่องเล่น เกม และสินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้มีโอกาสใช้เวลาอันมีค่าร่วมกัน” Kim Min-seok อธิบาย “ดังนั้น สวนสนุกจึงเหมือนกับการแสดงสด คือมีบทบาทสำคัญในการเสริมฐานแฟนให้แข็งแกร่งและสร้างคุณค่าเหนือกาลเวลาของแบรนด์”

    การสร้างสวนสนุกที่เต็มไปด้วยตัวละครจากคลังของตัวเองถือเป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันมานมนาน ตัวอย่างคือ Studio Ghibli ผู้สร้างอนิเมชั่นครองใจมหาชนจากญี่ปุ่นเบื้องหลัง Spirited Away หรือ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ ที่คว้ารางวัลออสการ์ไปในปี 2003

    ทาง Studio Ghibli ได้เปิดสวนสนุกกลางจังหวัดไอจิของญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา เทศบาลจังหวัดไอจิคาดการณ์ว่าสวนสนุกดังกล่าวจะสร้างระลอกคลื่นทางเศรษฐกิจเกิดเป็นรายได้เกือบ 50 ล้านเยน (380 ล้านเหรียญ) เข้าสู่จังหวัดหลังเปิดบริการเต็มรูปแบบในปีหน้า จังหวัดไอจิยังเป็นบ้านของอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่อย่าง Toyota Motor

    เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา Pinkfong เปิดสวนสนุกป๊อปอัพในร่มขนาด 14,000 ตารางฟุตที่ประเทศสิงคโปร์ขึ้นเป็นครั้งแรกของทางบริษัท ในเดือนมกราคม Pinkfong พาสวนสนุกแบบเดียวกันไปมอบความสนุกยังประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซีย และเร็วๆ นี้ก็จะจัดขึ้นที่ฮ่องกง

กระเป๋าเป้ตัวการ์ตูนจากแบรนด์ภายใต้ Pinkfong


    ในเดือนพฤษภาคม 2023 บริษัท Pinkfong ได้จับมือกับผู้ดำเนินกิจการสวนสนุกในประเทศจีน Haichang Ocean Park ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทลงทุนนอกตลาดยักษ์ใหญ่ MBK Partners ของมหาเศรษฐีเกาหลี Michael Kim เพื่อนำการแสดงสดและสินค้าธีมฉลามน้อย Baby Shark เยือนเมืองต่างๆ กว่า 30 แห่งทั่วแดนมังกร

    

ปรับแผนพัฒนาองค์กร เติบโตไปกับผู้ชม


     เพื่อผลิตเนื้อหาสำหรับเว็บตูน การแสดงสด และสวนสนุกให้มากขึ้น Pinkfong กำลังคิดจะแยกหน่วยงานเฉพาะกิจออกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ “เพราะอุตสาหกรรมนี้ข้องเกี่ยวกับกระแสระยะสั้นมากกว่าธุรกิจอื่น จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทดลองเพื่อสรรหาสิ่งที่ผู้ชมจะชื่นชอบจริงๆ ให้ทันเวลา” Kim Min-seok กล่าว

    “ตอนที่เริ่มต้นในฐานะสตาร์ทอัพเล็กๆ มีสมาชิกเพียงสามคน เราสามารถทดลองและตัดสินใจแบบทันทีทันใดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เขาเสริม “แต่เมื่อบริษัทโตขึ้น จึงเป็นเรื่องยากขึ้นที่จะทดลองและลงมือให้ว่องไวเทียบกับในอดีต เราเสาะหาวิธีการแก้ไขและพบว่า การควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) และการลงทุนต่างก็เป็นหนทางที่ดีที่สุดประการหนึ่ง โดยใช้ประโยชน์จากทีมงานขนาดเล็ก แม้ว่าองค์กรจะไม่ได้เล็กอีกแล้วก็ตาม”

    Pinkfong เปิดตัวบริษัทลูกด้านการลงทุน SmartStudy Ventures ในปี 2019 และบริหารจัดการกองทุนสามกอง ได้แก่ กองทุนด้านการท่องเที่ยวมูลค่า 30 ล้านเหรียญ กองทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญา 35 ล้านเหรียญ (ซึ่งจะมีการขอลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในเนื้อหาต่างๆ) และกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย

    บริษัทที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของ Pinkfong นั้นรวมถึง สตูดิโอผู้ผลิตเว็บตูน Endorphins, สตูดิโออเนิเมชั่น Red Dog Culture House และผู้พัฒนาเกม Marcoville

    “หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างสรรค์เนื้อหาสนุกสนานที่สามารถพาผู้คนจากช่วงวัยและประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาอยู่ร่วมกันได้” Kim Min-seok เผย “การได้เห็นเด็กน้อยที่ติดตาม Pinkfong และ Baby Shark เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงดู Pinkfong และ Baby Shark กับลูกๆ ของพวกเขาในอนาคต สิ่งนี้น่าจะมีความหมายสำหรับพวกเรามากทีเดียว”

    

    แปลและเรียบเรียงจากบทความ Baby Shark Creator Grows Up ซึ่งเผยแผ่นบน Forbes

    

    อ่านเพิ่มเติม : Vivvi สตาร์ทอัพจาก 2 คุณพ่อ แก้ปัญหาการเลี้ยงเด็กของคนวัยทำงาน

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine