“ให้คนอื่นทำหน้าที่แทน” วิถีแห่งผู้นำที่ Mark Zuckerberg ขอไม่เอาด้วย - Forbes Thailand

“ให้คนอื่นทำหน้าที่แทน” วิถีแห่งผู้นำที่ Mark Zuckerberg ขอไม่เอาด้วย

Mark Zuckerberg กล่าวว่า หนึ่งในหลักการทำงานสุดย้อนแย้งของเขาในฐานะผู้นำธุรกิจ คือการที่เขาไม่ชอบมอบหมายภาระหน้าที่ให้คนอื่น


    ซีอีโอแห่ง Meta ร่วมแบ่งปันสไตล์การบริหารจัดการของเขาผ่านทางช่องพอดแคสต์ Morning Brew Daily ตอนหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมาว่า “ผมคิดว่า หนึ่งในแนวทางความเป็นผู้นำหรือการบริหารจัดการที่ย้อนแย้งที่สุดของผม คือผมไม่เชื่อในการมอบหมายภาระหน้าที่ให้คนอื่นมากเท่าไหร่”

    “ผมเหมือนจะคิดว่า วิถีทางที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจควรทำโดยพื้นฐานแล้วคือการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในสิ่งต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” Zuckerberg อธิบาย

    “ผมหมายถึง คุณจำเป็นต้องรู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ตรงไหน และจะให้คนพวกนี้ไปดูแลตรงไหน เพราะคุณจะมีส่วนร่วมแค่ครึ่งทางและไม่รู้บริบททั้งหมด แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ คุณต้องการผู้คนฝีมือดีพวกนี้เพราะไม่ว่าคุณจะใช้เวลาจัดการเรื่องต่างๆ มากแค่ไหน ก็ยังคงมีสิ่งต่างๆ มากมายที่ผมทำไม่หมด และเราก็จำเป็นต้องมีคนเก่งๆ พวกนี้ที่สามารถดูแลงานสำคัญต่างๆ ที่ผมไม่ได้ทำ แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักหรอก”

    เขาพูดต่อไปว่า “มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าตัวเองมั่นใจขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา คือผมรู้สึกว่าผมสามารถเข้าใจงานพวกนี้อย่างลึกซึ้ง และผลักดันพวกมันไปในทิศทางที่ผมคิด และใช่ครับ ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้สวยดั่งใจ แต่คุณก็แค่เรียนรู้ ตกผลึก และทำซ้ำ ทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นเวลานาน”

    การกระทำอื่นๆ ของ Zuckerberg ในการขับเคลื่อน Meta ถูกนำมาพิจารณากันตลอดหลายปีมานี้ ท่ามกลางการปลดพนักงานรอบแล้วรอบเล่ารวมกว่า 20,000 คน

    Zuckerberg เผยว่าการลดคนในช่วงแรกเป็นเรื่องของการลงทุนครั้งใหญ่ที่ผิดพลาด ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีเมตาเวิร์สด้วย นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการลดคนหลังจากที่มีการจ้างงานมากเกินพอดีในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดที่วงการเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซโตพรวดพราด

    ปีที่ผ่านมา Zuckerberg ประกาศว่าเป็น “ปีอันทรงประสิทธิภาพ” ในการทำให้ Meta มีความกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น จากการตัดขั้นตอนบริหารจัดการระดับกลางออกไปบางส่วน

    ผู้ก่อตั้ง Meta กล่าวในช่วงถามตอบกับพนักงานในตอนนั้นด้วยว่า เขาไม่ต้องการ “โครงสร้างการบริหารจัดการที่ ผู้จัดการดูแลผู้จัดการ และผู้จัดการอีกคนก็ดูแลผู้จัดการอีกคนอีกไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่ากว่าจะถึงขั้นตอนการดูแลคนที่ทำงานตรงนั้นจริงๆ คือตอนไหน”


แปลและเรียบเรียงจาก Mark Zuckerberg shares one of his most controversial leadership principles


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Warren Buffett ย้อนรำลึกถึง Charlie Munger พร้อมแนะการลงทุน “อย่าเชื่อกูรู”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine