การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566 - Forbes Thailand

การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2566

เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการเติบโตปีนี้อยู่ที่ 3.6% ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่งนักเมื่อพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นที่นิยมให้หมู่คนรุ่นใหม่คว้าชัยชนะไปอย่างงดงาม

    

    ในช่วงเวลาอันกดดัน ยังคงไม่ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยดังอย่าง Harvard University จะสามารถกำชัยชนะในครั้งนี้เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้เอง ความมั่งคั่งรวมของ 50 มหาเศรษฐีไทยก็เพิ่มขึ้นเกือบ 15% เป็น 1.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ

    พี่น้องเจียรวนนท์แห่งกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ยังคงครองอันดับหนึ่ง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาการควบรวมบริษัทโทรคมนาคม True ของพวกเขากับคู่แข่งคือ Total Access Communications (DTAC) ก็เสร็จสิ้นลงด้วยดี ก่อให้เกิดผลประโยชน์มหาศาล ความมั่งคั่งของสี่พี่น้อง ธนินท์, สุเมธ, จรัญ และมนตรีผู้ถึงแก่กรรมไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 รวมถึงคนในครอบครัวเจียรวนนท์ รวมกันแล้วสูงขึ้น 7.5 พันล้านเหรียญ สร้างสถิติใหม่ที่ 3.4 หมื่นล้านเหรียญ

    ปีนี้เป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับเครื่องดื่ม Red Bull ซึ่งขายได้ราว 1.16 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก มีบันทึกรายได้กว่า 1 หมื่นล้านเหรียญในปี 2022 เป็นแรงพลังที่นำให้ เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว ยังคงรั้งมหาเศรษฐีอันดับสองด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.34 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 7 พันล้านเหรียญและสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว

    โดยรวมแล้ว มีมหาเศรษฐีไทย 21 คนที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีสองรายที่มีเปอร์เซ็นต์ความร่ำรวยเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการกลับมาของนักชอปต่างชาติ คนแรกคือ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว โดยครอบครัวของเขาดำเนินกิจการกลุ่มบริษัทสินค้าปลอดภาษี King Power International ความมั่งคั่งของอัยยวัฒน์และครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 3.5 พันล้านเหรียญ ทวงคืนตำแหน่งในสิบอันดับแรกนั่นคืออันดับ 8

    ส่วนอีกคนที่รับทรัพย์ไปมหาศาลคือ ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้ปกครองอาณาจักรค้าปลีกของครอบครัวอย่าง The Mall Group ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากมายรวมถึง Siam Paragon และ EmQuartier โดยเธอและครอบครัวมีความมั่งคั่ง 2 พันล้านเหรียญ เพิ่มจากเดิมถึงสองเท่า

    การกลับมาของกำลังซื้อของธุรกิจค้าปลีกยังได้พาสองมหาเศรษฐีหน้าใหม่เข้าสู่ทำเนียบคนแรกคือ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ครอบครัวของเขาถือหุ้นใน The Mall Group และธุรกิจอื่นๆ ทำให้เขาได้เปิดตัวที่อันดับ 24 ด้วยทรัพย์สิน 1.4 พันล้านเหรียญ ส่วนอีกรายคือ อนันท์ รักอริยะพงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ Sappe อยู่ที่อันดับ 50 กับมูลค่าทรัพย์สิน 590 ล้านเหรียญ บริษัทของพวกเขามาไกลจากจุดเริ่มต้นในการขายขนมแบบไทยๆ และคุกกี้เมื่อ 50 ปีก่อนโดยตั้งชื่อแบรนด์ว่าปิยจิตตามชื่อลูกสาวซึ่ง ณ ตอนนี้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ SAPPE

    การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สร้างผลประโยชน์ให้สองมหาเศรษฐีบนทำเนียบหนึ่งคือ วานิช ไชยวรรณ ผู้มากด้วยประสบการณ์ในวงการประกัน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ของเขาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมาโดยเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศประจำปี 2022 สร้างความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้น 30% อยู่ที่ 3.9 พันล้านเหรียญ ด้าน ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หวนคืนสู่ทำเนียบหลังห่างหายไปสองปีอานิสงส์จากการที่กลุ่มบริษัทอาหาร Betagro ของเขา IPO ไปในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเช่นกัน 

    การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023 มีมหาเศรษฐีจำนวน 22 รายที่มีความมั่งคั่งลดลง โดยมีนักธุรกิจสี ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตกลงมากที่สุดเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้ติดอันดับในทำเนียบ

    สืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตสายไฟและสายเคเบิ้ลของ Stark ซึ่งลูกชายของเขาวนรัชต์ได้ถือหุ้นอยู่ โดยหุ้น Stark พังยับเยินและถูกสั่งพักการซื้อขายหลังทางบริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินให้กับทางตลาดหลักทรัพย์ได้ในเวลาที่กำหนดดังที่ปรากฏ

    แม้เกณฑ์ต่ำสุดของการจัดอันดับครั้งนี้จะตกลงเหลือ 590 ล้านเหรียญจาก 655 ล้านเหรียญเมื่อปี 2022 ก็มีห้ารายที่ต้องบอกลาทำเนียบไปในปีนี้

10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023

อันดับ 1: พี่น้องเจียรวนนท์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.4 หมื่นล้านเหรียญ / 1.18 ล้านล้านบาท

อันดับ 2: เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.34 หมื่นล้านเหรียญ / 1.16 ล้านล้านบาท

อันดับ 3: เจริญ สิริวัฒนภักดี
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.36 หมื่นล้านเหรียญ / 4.73 แสนล้านบาท

อันดับ 4: ครอบครัวจิราธิวัฒน์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.24 หมื่นล้านเหรียญ / 4.32 แสนล้านบาท

อันดับ 5: สารัชถ์ รัตนาวะดี
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.13 หมื่นล้านเหรียญ / 3.93 แสนล้านบาท

อันดับ 6: วานิช ไชยวรรณ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.9 พันล้านเหรียญ / 1.36 แสนล้านบาท

อันดับ 7: ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.8 พันล้านเหรียญ / 1.32 แสนล้านบาท

อันดับ 8: อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.5 พันล้านเหรียญ / 1.21 แสนล้านบาท

อันดับ 9: สมโภชน์ อาหุนัย และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3 พันล้านเหรียญ / 1.04 แสนล้านบาท

อันดับ 10: ครอบครัวโอสถานุเคราะห์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.5 พันล้านเหรียญ / 8.70 หมื่นล้านบาท

วิธีการจัดทำ
    ทำเนียบการจัดอันดับเรียบเรียงจากข้อมูลการถือหุ้นและการเงินของทั้งครอบครัวและรายบุคคล การซื้อขายและวิเคราะห์หุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ การจัดอันดับนี้แตกต่างจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีอื่นๆ โดยจะนับทรัพย์สินของครอบครัวรวมถึงที่มีการแบ่งปันกันในวงศ์ตระกูลจากหลายๆ รุ่นมารวมด้วย ทรัพย์สินที่มีการเปิดเผยคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2023 การประเมินมูลค่าบริษัทเอกชนอ้างอิงจากเปรียบเทียบกับบริษัทแบบเดียวกันที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

    รายชื่อทั้งหมดยังรวมเอาชาวต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจ พักอาศัย หรือมีพันธะอื่นๆ ในประเทศไทย รวมถึงพลเมืองที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่มีธุรกิจหรือพันธะสำคัญกับประเทศ ทางกองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขข้อมูลหรือถอดถอนคนหนึ่งคนใดออกจากทำเนียบหากมีข้อมูลใหม่


อ่านเพิ่มเติม: 10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Thailand s 50 Richest 2023: Despite Political Uncertainty, Tycoons Get A Double-Digit Boost To Their Combined Wealth ซึ่งแผยแพร่บน forbes.com


    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine