Next Tycoons วางโรดแมปธุรกิจยั่งยืน “Synergy for Sustainability” - Forbes Thailand

Next Tycoons วางโรดแมปธุรกิจยั่งยืน “Synergy for Sustainability”

Forbes Forum 2023 ระดมเหล่า Next Tycoons มองทิศทางการทำธุรกิจต้องยึดโยงแนวทางความยั่งยืน ย้ำเป็นแนวปฏิบัติหลักไม่ใช่แค่เทรนด์ ชี้ปัจจัยโลกเปลี่ยนเพิ่มแรงกดดัน โมเดลธุรกิจยุคใหม่ต้องเติบโตควบคู่สังคม วางรากฐานตั้งแต่การศึกษา กติกาสังคม สิ่งแวดล้อม โลก และธุรกิจ


    เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 2566 Forbes Thailand จัดเสวนา Forbes Forum The Next Tycoons 2023 “Synergy for Sustainability” โดยระดมนักธุรกิจรุ่นใหม่ ครอบครัวธุรกิจที่ส่งต่อรุ่นสืบทอด และตัวแทนจากภาคการเงิน ร่วมเสวนาทิศทางและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทางของความยั่งยืนซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก โดยการเสวนาแบ่งเป็น 2 เวที ภายใต้หัวข้อ Sustainable City : Driving Urban Innovations for a Resilient Future และ The Power of Synergy เวทีแรก Sustainable City: Driving Urban Innovations for a Resilient Future

    วิทยากรกลุ่ม next tycoons ที่ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ประธานบริหารโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ, ประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด, พนิตศนี ตั๊นสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย, ดร.อภิชาต ประดิษฐสมานนท์ รองประธาน ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดย MQDC


    

สร้างความตระหนักรู้สู่การปฏิบัติ

    

    บรรดา next tycoons ต่างมองเรื่องของแนวทางความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องวางเป็นแนวปฏิบัติ และต้องปลูกฝังแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่การศึกษา ด้วยการมีเนื้อหาที่บรรจุในหลักสูตรสอนให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และต้องสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เข้าใจเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกับการเติบโต จะทำให้ประชากรรุ่นใหม่มีหัวใจตระหนักเรื่องความยั่งยืน คิดและทำ
ทุกอย่างโดยเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก

    ขณะที่ภาคธุรกิจเริ่มคำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ เช่น Rêver Automotive ก่อตั้งขึ้นมาด้วยธุรกิจที่วางแผนเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่ต้นด้วยการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ซึ่งข้อมูลเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเรเว่ส่งมอบรถไฟฟ้าไปแล้ว 15,000 คันที่วิ่งในถนน เทียบแล้วเท่ากับการลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,500 ตัน แต่มองเพียงรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พอ ต้องรวมไปถึงทั้งระบบนิเวศของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยทุกห่วงโซ่อุปทานต้องพร้อม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกันในการสร้างความพร้อมนำสังคมไปสู่ความยั่งยืนในการลดปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด

    ขณะเดียวกันภาคธุรกิจต่างตื่นตัวเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ ทั้ง reduce, reuse และ recycle กันมากขึ้น ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาฯ ขนาดใหญ่อย่าง The Forestias ออกแบบการปลูกป่าขนาดใหญ่ในเมือง ตอบโจทย์ความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบโครงการ เพราะมองว่าการพัฒนาความยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

    ในขณะที่ภาคการเงิน สถาบันการเงินหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญการปล่อย
สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะธนาคารยูโอบีให้ความสำคัญเรื่อง Green Loan โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับซัพพลายเชนทั้งหมดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมถึงการจำหน่าย เรียกได้ว่าสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในภาคธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และยังรวมไปถึงการปล่อย Green Loan ให้กับผู้ประกอบการรายเล็กอย่างกลุ่ม SME

    

ส่งต่อธุรกิจส่งต่อความยั่งยืน

    

    เวทีที่ 2 The Power of Synergy เป็นการระดมความเห็นการส่งต่อธุรกิจจาก 2 ครอบครัวธุรกิจที่มีทั้งรุ่นบุกเบิกและทายาทที่เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งต่างเห็นความสำคัญเรื่องความยั่งยืนและมองว่าเป็นเงื่อนไขหลักตัวใหม่ที่คนทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญ เวทีนี้วิทยากรประกอบด้วย ดร.กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการ และ นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน), ไกร วิมลเฉลา กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง และ ณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด, วัชรพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรม วินิลเทค จำกัด, ดร.ภูริต เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ ที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ความแตกต่างของยุคสมัยนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง สำหรับรุ่นบุกเบิกการเริ่มต้นธุรกิจอาจมีความลำบาก ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อนหน้านี้โลกยังไม่พูดถึงความยั่งยืน ธุรกิจคือการเรียนรู้และต่อสู้ แต่มายุคหลังเมื่อโลกพัฒนาไปไกลสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ความยั่งยืนกลายมาเป็นโจทย์สำคัญ จะเห็นว่าธุรกิจที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนโดยเนื้อในธุรกิจอย่างพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังลม สิ่งเหล่านี้คือความยั่งยืนในตัวธุรกิจ การส่งต่อจากรุ่นบุกเบิกเมื่อมาถึงมือรุ่นสืบทอด มองโอกาสขยายความยั่งยืนของบริการด้านพลังงานไปสู่ผู้ใช้รายย่อย ต่อยอดความยั่งยืนไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

    ในบางครั้งการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอาจมีมุมมองและแนวคิดที่แตกต่างกัน ธุรกิจที่ยั่งยืนในเนื้อธุรกิจอยู่แล้วเดินหน้าได้อย่างชัดเจน แต่ในบางธุรกิจความยั่งยืนอาจต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้การดำเนินธุรกิจนั้นๆ ใช้ทรัพยากรน้อยลง ลดการทำลายล้าง ลดความสูญเสีย สูญเปล่า เทคโนโลยียุคใหม่สามารถนำมาช่วยเรื่องความยั่งยืนได้เช่นกัน รวมถึงธุรกิจการผลิตต่างๆ ความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการคัดเลือกและนำมาใช้อย่างคุ้มค่า แต่ความต่างของยุคสมัยและการส่งต่ออาจมีอุปสรรคบางประการในเรื่องความเข้าใจและการยอมรับ จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อส่งต่อได้อย่างราบรื่นและเป็นไปตามความตั้งใจของทั้งสองเจเนอเรชั่น

    ในขณะที่สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารยูโอบีให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น โดยนอกจากบริการด้านสินเชื่อแล้ว ยังมีบริการด้านการจัดการทางการเงินของครอบครัว การจัดทำธรรมนูญครอบครัว การส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่เก็บทรัพย์สินและจัดการมรดก แต่ยังต้องออกแบบการส่งต่อความมั่งคั่งให้สอดคล้องกับแนวทางเรื่องความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น ตรงตามวัตถุประสงค์ของการถ่ายโอนธุรกิจ เพื่อทำให้การส่งต่อนั้นๆได้ครบทั้งมูลค่าและเนื้อหา ตรงตามเจตจำนงในการรักษาความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว ควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดลล้อม และโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


    

อ่านเพิ่มเติม : David Adelman สร้างความมั่งคั่งจากอสังหาริมทรัพย์สำหรับนักเรียนนักศึกษา

คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine