ณัฐพล วิมลเฉลา ติดอาวุธสยามราชธานี - Forbes Thailand

ณัฐพล วิมลเฉลา ติดอาวุธสยามราชธานี

ผู้บริหารรุ่น 3 แห่งสยามราชธานียกเครื่องธุรกิจ Outsourcing Services ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย มุ่งเติบโตแตะตัวเลขสองหลักภายในปีหน้า เข็นบริการใหม่ Drive4U ส่งพนักงานขับถึงรถลูกค้าทันใจ นำ AI เสริมเขี้ยวเล็บธุรกิจรับป้อนข้อมูลแบบไฮเทค ล่าสุดเตรียมนำบริษัทเข้าขายหุ้นไอพีโอใน SET ไม่เกินกลางปี 2562 ฉีกอีกบทบาทเพิ่มแต้มทรัพย์สินของพ่อให้ออกผลโดยปันเม็ดเงินลงทุนสตาร์ทอัพสุดล้ำ

ทายาทวัย 32 ปี ณัฐพล วิมลเฉลากรรมการบริหารและผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจดิจิทัล บริษัท สยามราชธานี จำกัด เล่าถึงรากฐานเดิมของสยามราชธานี ที่ริเริ่มโดยผู้เป็นปู่ คือ มงคล วิมลเฉลา เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ใน จ.นครสวรรค์ เมื่อปี 2519 แต่ต่อมาเมื่อผู้เป็นบิดาคือ ไกร วิมลเฉลาซึ่งปัจจุบันคือ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทเล็งเห็นโอกาสจากธุรกิจจ้างเหมาบริการ (Outsourcing Services) เมื่อปี 2524 ซึ่งได้ต่อยอดการดำเนินธุรกิจไปยังธุรกิจบริการดูแลรักษาสวนหย่อมที่เริ่มจากพนักงานเพียง 5 คน ไปสู่ธุรกิจจ้างเหมาแรงงาน ธุรกิจบริการพนักงานขับรถ ธุรกิจบริการรถเช่าและธุรกิจบริการบันทึกข้อมูล ที่ปัจจุบันบริษัททำรายได้รวมเฉลี่ย 1.6 พันล้านต่อปีมีอัตราการเติบโตระหว่าง 5-6% ต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะขยายอัตราการเติบโตถึงตัวเลขสองหลักภายในปี 2562 ณัฐพลยังเล่าถึงทิศทางการดำเนินกิจการ อีกว่า การเติบโตดังกล่าวไม่ได้เกิดจากรากฐานที่ตลาดรวมขยายขึ้น แต่เป็นการเพิ่มรายได้จากที่สยามราชธานีสามารถครอบครองลูกค้าใหม่มากขึ้น จากทุกธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่ ควบคู่กับการเปิดให้บริการใหม่ๆ เช่น บริการขนส่งรถจักรยานด้วยรถตู้สำหรับกลุ่มนักไตรกีฬา บริการขนส่งรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ด้วยรถตู้สำหรับกลุ่มนักขี่ผู้ชื่นชอบความเร็ว “เดิมตระกูลผมทำธุรกิจร้านโชห่วยที่นครสวรรค์ แล้วจึงเริ่มทำวุ้นเส้นยี่ห้อน้ำฝน หิมะ และน้ำค้าง ขณะที่พ่อผมช่วยงานที่บ้านด้วยการเป็นเซล แต่ด้วยความที่อยากเป็นเจ้าของกิจการจึงเริ่มรับงานทำสวนก่อน แล้วค่อยเพิ่มบริการอื่นๆ ตามมา ซึ่งพ่อจะไม่ปฏิเสธทุกโอกาสที่เข้ามา จึงเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจที่สยามราชธานีทำจนถึงวันนี้” สำหรับผลงานที่แจ้งเกิดให้กับสยามราชธานี ต้องยกให้กับธุรกิจบริการดูแลและจัดสวนหย่อม โดยเริ่มต้นจากการช่วยดูแลสวนหย่อมให้กับโรงงานยาสูบ (ปัจจุบันคือการยาสูบแห่งประเทศไทย) ซึ่งด้วยคุณภาพบริการทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีลูกค้ารายใหม่ๆ ตามมา นำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ทั้งการจัดหาคนงานประเภทช่างหรือแม่บ้านขณะที่ต่อมาได้เพิ่มธุรกิจจ้างเหมาแรงงานในปี 2539 ซึ่งนับว่าบริษัทเป็นรายแรกและรายเดียวที่ให้บริการงานด้านการปักเสาพาดสาย โดยมีพนักงานมากกว่า 4,000 คน แบ่งเป็นการขยายเขตการปักเสา เปลี่ยนเสาไฟฟ้า เปลี่ยนลูกตุ้มไฟฟ้า ซ่อมไฟฟ้า ตัดกิ่งไม้ และยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ในปี 2542 บริษัทยังพัฒนาไปอีกขั้น โดยนำเสนอบริการพนักงานในสำนักงานที่ขณะนี้มีอยู่ราว 4,500 คน ซึ่งครอบคลุมทั้งงานด้านธุรการ ประชาสัมพันธ์ บันทึกข้อมูล พนักงานเดินเอกสารภายในประสานงาน ฯลฯ โดยกำหนดสัญญาจ้างที่ 12 เดือนขึ้นไป และไม่ต่ำกว่า 10 คน โดยระยะแรกลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ และราชการ เช่น การไฟฟ้านครหลวง แต่ภายหลังได้ขยายไปยังกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บมจ.ไออาร์พีซี เป็นต้น และในปีเดียวกันนั้นยังเริ่มให้บริการพนักงานขับรถ และปัจจุบันยังเพิ่มจำนวนไปถึงกว่า 3,000 คน ที่ประกอบด้วยพนักงานขับรถส่วนกลาง พนักงานขับรถ ผู้บริหาร และพนักงานขับรถโฟล์คลิฟท์ โดยกำหนดระยะเวลาให้บริการ 12 เดือนขึ้นไปต่อสัญญาจ้าง และตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป “บริการพนักงานขับรถเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเรา ทุกวันนี้พนักงานขับรถก็ยังเป็นตำแหน่งที่หาคนยากอยู่ แต่เรามีเน็ตเวิร์กที่สามารถหาได้ง่ายและเรายังมีระบบเทรนงานที่ดี ไม่เท่านั้นยังเป็นบริษัทแรกที่ได้ ISO 39001 ด้านบริหารจัดการความปลอดภัยตั้งแต่เมื่อปี 2556 และเราจะไม่ส่งฆาตกรไปขับรถให้ใคร” แน่นอนว่ายังมีโอกาสใหม่ที่ตามมาจากบริการพนักงานขับรถ นั่นคือบริการรถเช่าที่เริ่มล้อหมุนเมื่อปี 2544 ซึ่งขยายธุรกิจการบริการเพิ่มออกมาเป็นรถเช่าระยะสั้นตั้งแต่ 1 เดือน-ไม่เกิน 3 ปี บริการรถเช่าระยะยาว ระยะเวลาตั้งแต่ 3-5 ปี บริการเช่ารถยนต์พร้อมพนักงานขับรถ และบริการรถยนต์ดัดแปลง ซึ่งเหมาะสำหรับบรรทุกสินค้า 1-1.5 ตัน โดยขณะนี้มีลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งต่างก็ใช้บริการรถเช่าของบริษัทที่ให้บริการอยู่ถึง 1,500 คัน “บริการของสยามราชธานีช่วยให้ลูกค้าไปทำสิ่งที่ตัวเองเก่งหรือสิ่งที่สำคัญจริงๆ ไม่ต้องมาวุ่นวายกับเรื่องที่ไม่ใช่งานหลัก”

เสริมนวัตกรรม

อีกหนึ่งธุรกิจที่ค่อนข้างฉีกแนวและกำลังถูกยกระดับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI คือธุรกิจบริการบันทึกข้อมูล (Data Solution) ซึ่งจากปี 2548 ที่เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันได้แตกยอดไปยังอีกหลายบริการย่อย จนมีการบันทึกข้อมูลไปแล้วมากกว่า 100 ล้านรายการที่มีทั้งบริการ บันทึกข้อมูลและสแกนเอกสาร บริการจัดทำเงินเดือน ตลอดจนบริการจดหน่วยมิเตอร์น้ำ ณัฐพลเล่าว่าโปรแกรม AI ที่นำมาใช้มีความสามารถที่จะอ่านลายมือเขียนของคนแล้วสแกนมาเป็นตัวพิมพ์ได้เลย จึงช่วยลดเวลาและความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลของบุคลากรได้ ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้อย่างเป็นทางการไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งนับว่าสยามราชธานีจะเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำ AI มาใช้ให้บริการด้านบันทึกข้อมูลโดยตัวเขามองว่า AI พัฒนาเร็วมาก แล้ว “ต้นทุนของคนคีย์ข้อมูลจะหายไปเลยเราสามารถนำแรงงานเดิมไปทำงานอย่างอื่นแทนได้ มีงานต่างๆ ให้ทำอยู่แล้ว แต่เราไม่มีนโยบาย lay off แน่นอน เพราะไม่ใช่ความผิดของพนักงาน" เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายขึ้น จึงพัฒนาบริการพนักงานขับรถยนต์รายวัน ชื่อว่า “Drive4U” ที่เริ่มเปิดให้บริการได้ราว 1 ปี แบ่งเป็นพนักงานขับรถให้กับบุคคลทั่วไปและพนักงานขับรถให้กับผู้บริหาร สำหรับ Drive4U เป็นบริการที่เหมาะสมกับกรณีที่ต้องการคนขับรถแบบเร่งด่วน(เรียกได้ภายใน 30 นาที) และใช้บริการในระยะเวลาสั้นๆ ที่คิดค่าบริการแบบรายวันที่ 1,300 บาท/คน (9 ชั่วโมง) และรายเดือน 21,640 บาท/คน (จันทร์ถึงศุกร์) “เรามีเป้าหมายที่ aggressive สำหรับ Drive4U ซึ่งหลังจากมีการใช้งานแอพฯคาดว่าเราจะโตที่ตัวเลขสองหลักไปเรื่อย ๆ”  ไม่เพียงเท่านั้น ณัฐพลยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี จึงได้คิดค้นและพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มวัยทำงานที่ไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย/คนไข้ หรือผู้พิการ จึงมีบริการรถเช่ารายวันเกิดขึ้น เรียกว่า Mr. journey เพราะมองว่าญาติก็ต้องการดูแลบุคคลเหล่านี้อย่างดีที่สุด ให้สะดวกสบายเหมือนตอนที่ยังสุขภาพดี “สิ่งที่เราอยากไปคือ ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจให้ได้เงิน แต่เราอยากช่วยให้สังคมดีขึ้นด้วยแม้ตอนนี้ volume ธุรกิจยังไม่มาก แต่เราก็ทำไปก่อน อย่างน้อยก็อยากให้คนรู้ว่ามีเราอยู่ แล้วมันดีกับสังคม”

ล่าเทคโนโลยี

นับจากที่เริ่มเข้ามาเป็นกรรมการบริหารของสยามราชธานีเมื่อปี 2555 นั้น ภารกิจสำคัญของณัฐพลไม่เพียงดูแลเรื่องจัดหานวัตกรรมอัจฉริยะต่างๆ มาใช้ ตัวเขายังมีบทบาทในแง่ของทายาทที่เป็นผู้คัดสรรการลงทุนของครอบครัวสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งนับเป็นการลงทุนส่วนตัว หรือ private investment ของไกรที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท สยามราชธานี หรือสมาชิกอื่นๆ ของตระกูลวิมลเฉลา และเริ่มใส่เม็ดเงินอย่างเป็นทางการในปีนี้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะนำผลงานของบรรดาสตาร์ทอัพเหล่านั้นมาใช้กับงานของบริษัทก็ตาม เช่น บริษัทSiam Alpha ที่พัฒนาเทคโนโลยี AI “แม้ว่าทางครอบครัวไม่ได้บังคับให้มาช่วยงานที่บ้าน แต่ผมก็เตรียมตัวเองมาตลอดที่จะมาทำธุรกิจที่พ่อสร้างมา” พลนำเงินทุนของครอบครัวมาร่วมลงขันจัดตั้งธุรกิจ venture capital (VC) ร่วมกับ นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้ง RISE (Corporate Accelerator) และนักลงทุนอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม โดยตัวเขารับหน้าที่คัดสรรนวัตกรรมที่โดดเด่นมาสนับสนุนด้วย เช่น Blockchain Capital Group Bit cub “Blockchain จะมา disrupt ธุรกิจที่เป็นคนกลางแทบทั้งหมด ซึ่งสยามราชธานีก็เป็นคนกลางเช่นกัน เราจึงเลือกที่จะไปลงทุนในธุรกิจที่จะมา disrupt เรา แม้มีคนมองว่าคงอีกนานกว่าจะเกิดขึ้น แต่เราก็ตัดสินใจที่จะลงทุนไปก่อน ซึ่งล่าสุดลงไป 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในบริษัทด้าน blockchain เพราะพ่ออยากศึกษาแบบที่ไม่ได้ไปฟังใครพูด” แผนการต่อไปเพื่อสร้างให้สยามราชธานีแข็งแกร่งขึ้นคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET และคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นไอพีโอได้ภายในกลางปี 2562 ซึ่งโดยเป้าหมายที่แท้จริงของการแปรรูปสู่บริษัทมหาชนในนามบมจ.สยามราชธานี เนื่องจากต้องการให้รางวัลเป็นหุ้นแก่พนักงานที่อยู่กับบริษัทมาถึง 30 ปี นอกจากนี้คือต้องการให้บริษัทมีระบบการทำงานเป็นมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดให้บุคลากรที่มีความสามารถเลือกมาทำงาน กับบริษัทด้วย “เหตุผลหลักคือพ่ออยากให้ reward กับพนักงานที่อยู่กับเรามาถึง 30 ปี แล้ว” ภาพ : กิตติเดช เจริญพร