Aloke Lohia 'เศรษฐีสร้างได้' แห่งอินโดรามา ผู้พลิกความล้มเหลวเป็น 'Deal Maker' - Forbes Thailand

Aloke Lohia 'เศรษฐีสร้างได้' แห่งอินโดรามา ผู้พลิกความล้มเหลวเป็น 'Deal Maker'

ไล่ล่าซื้อกิจการไปทั่วโลก กับเป้าหมายมาร์เก็ตแคป 6 แสนล้านบาท Aloke Lohia เป็นตัวอย่างของความจริงอันน่าเจ็บปวดที่ว่าความเป็นมหาเศรษฐีไม่สามารถถ่ายทอดกันได้ทางพันธุกรรม แต่ความสำเร็จนั้น 'สร้างได้' กว่าจะมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 10 ของไทย ตามการจัดอันดับของ FORBES ปี 2561 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.038 หมื่นล้านบาท) Aloke Lohia เริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้ประกอบการในปี 2531 ด้วยเงินทุนจากพ่อของเขาจำนวน 5.5 ล้านเหรียญ (137.5 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ที่เขาผลาญมันไปกับโครงการผลิตสารเคมีแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี “นายแบงก์ที่เคยปล่อยเงินกู้ให้ผมในโครงการนี้บอกผมว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่า Aloke Lohia จะมีวันที่ประสบความสำเร็จ” Aloke กล่าวพร้อมกับหัวเราะอย่างชอบใจในการให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ที่ห้องทำงานของเขาบนชั้น 37 ของอาคาร โอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 ใจกลางกรุงเทพฯ ชีวิตอันราบรื่นและสุขสบายของ Aloke ต้องหมดไปหลังจากเข้าร่วมงานกับบริษัทของครอบครัว ในกรุง Jakarta ประเทศอินโดนีเซียได้เพียงไม่กี่ปี เมื่อเขาได้รับ “คำแนะนำ” จากพ่อ Mohanlal Lohia ให้ไปเสาะหาลู่ทางการทำธุรกิจในประเทศไทย “กลัว” Aloke ตอบสั้นๆ คำเดียวพร้อมหัวร่อเบาๆ เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกในตอนนั้นเมื่อได้รับเงิน 5.5 ล้านเหรียญเป็นทุนตั้งต้นจากพ่อเพื่อมาเริ่มกิจการในไทยในขณะนั้นซึ่งเขาอายุเพียง 30 ปี “มองย้อนหลังไปแล้ว…พ่อฉลาดมาก เรามีพี่น้อง 3 คน ท่านให้คนหนึ่งอยู่อินโดนีเซียอีกคนไปอินเดีย และส่งผมไปประเทศไทยท่านกระจายลูกๆ ของท่านออกไป” Aloke บอกว่าการที่พ่อกระจายลูกๆ ออกไปเปิดกิจการใน 3 ประเทศไม่ได้มีเหตุผลแค่เพื่อการกระจายไข่ออกไปไว้ในหลายๆ ตะกร้า เนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ท่านได้ประสบจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาช่วงปี 2503 หลังจากล้มลุกคลุกคลานกับโครงการแรกของเขาในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี Aloke จึงเริ่มตระหนักว่าโครงการผลิต furfural และ furfuryl alcohol จากซังข้าวโพดของเขาไม่มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ จึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งนำมาสู่โครงการผลิตเส้นด้ายจากขนแกะในปี 2537 และการเริ่มปฐมบทของ Indorama Ventures Public Company Ltd. (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ IVL) อย่างเป็นทางการ ในปี 2538 เมื่อเขาตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยโครงการผลิตเม็ดพลาสติก PET (polyethylene terephthalate) ซึ่งใช้ในการผลิตขวดและบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย “เมื่อมองย้อนกลับไป สิ่งที่ดีที่สุดที่เวลาได้สอนผมคือ ความพากเพียร บากบั่น ถ้าคุณเชื่อมั่นในตัวคุณเอง และทำงานหนัก คุณจะประสบความสำเร็จในที่สุด” Aloke กล่าว Aloke มองช่วงเวลา 5 ปีแรกของชีวิตการเป็นผู้ประกอบการของเขา เสมือนการเข้าเรียน MBA และเมื่อมองย้อนหลังกลับไปช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้กลับเป็น “ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต” ที่ทำให้เขาได้รู้จักมิตรแท้ ได้พิสูจน์ตัวเองสร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากพันธมิตรหุ้นส่วน ธนาคาร และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่าไม่เคยทอดทิ้งเขาหรือหนีหายไปไหนแม้กระทั่งในเวลาที่ล้มเหลว

Born to be Global

การเข้าซื้อกิจการเป็นกลยุทธ์ที่ Aloke ใช้ในการขยายอาณาจักรทางธุรกิจของเขาตั้งแต่ในช่วงปีแรกๆ ของ IVL เริ่มจากการเข้าซื้อบริษัท Indo Poly ในประเทศไทยในปี 2540 ซึ่งเป็นใบเบิกทางในการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจโพลีเอสเตอร์ ซึ่งในวันนี้ยังเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก และเพียงไม่กี่ปีหลังจากเริ่มกิจการในไทย IVL ได้เริ่มสยายปีกออกไปต่างประเทศโดยเข้าซื้อบริษัท StarPet ในสหรัฐฯ ในปี 2546 “เราเริ่มจากการมองตลาดในไทย ก่อนจะหันไปมองตลาดในภูมิภาค และมองต่อไปทั่วโลก เมื่อเราประสบความสำเร็จในไทยแล้วทำไมเราจะประสบความสำเร็จในอาเซียนไม่ได้? แล้วเมื่อเราประสบความสำเร็จในอาเซียนแล้ว ทำไมเราจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในเอเชีย? แล้วเมื่อเราสำเร็จในเอเชียแล้ว ทำไมเราถึงจะไม่สามารถสำเร็จในโลก?” Aloke อธิบายหลักคิดในการขยายกิจการออกไปทั่วโลกของ IVL “หลังจากที่ได้เข้าซื้อกิจการ 2-3 แห่งเราเริ่มตระหนักว่า ในโลกธุรกิจไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทในยุโรปอเมริกา หรืออาเซียน ล้วนแต่มี values ที่เหมือนกันจากมุมมองของทางธุรกิจ”

เข้าสู่การผลิตแบบครบวงจรและธุรกิจ HVA

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ IVL คือการขยับก้าวขึ้นไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง (HVA) อาทิ การผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์เกรดพิเศษที่ใช้ในการผลิตสินค้านอกอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น hygiene fiber ที่ใช้ในการผลิตผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่เริ่มในปี 2555 ผ่านการซื้อกิจการในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน และเส้นใยโพลีเอสเตอร์เกรดพิเศษอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตฟิล์มและสินค้าอื่นๆ รวมทั้ง nylon 66 ที่ใช้ผลิตยางในและถุงลมนิรภัยสำหรับรถยนต์ ดีล HVA ขนาดใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2560 เมื่อ IVL ประกาศเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท DuPont Teijin Films (DTF) ซึ่งเป็นผู้ผลิตฟิล์ม BOPET (Biaxiallyoriented Polyethylene Terephthalate) และฟิล์ม PEN (Polyethylene Naphthalate) ชั้นนำระดับโลกมีกำลังการผลิตฟิล์มและพอลิเมอร์รวม 277,000 ตันต่อปี จากโรงงานผลิตทั้งสิ้น 8 แห่งในสหรัฐอเมริกายุโรป และจีน พร้อมศูนย์การวิจัยและพัฒนาในประเทศอังกฤษ

ตั้งเป้ากำไรจากเงินสดโตสองเท่าภายใน 5 ปีอีกครั้ง

Aloke ใช้เวลา 30 ปีในการขยายอาณาจักร IVL สู่ธุรกิจที่มีขนาดมาร์เก็ตแคปประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญในปัจจุบัน เขามุ่งหวังการเติบโตอีกสองเท่า เพื่อให้มาร์เก็ตแคปแตะระดับ 2 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 6.35 แสนล้านบาท) ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า แม้ว่าเป้าหมายนี้ดูจะท้าทายไม่น้อยเมื่อเทียบกับขนาดของ IVL ในปัจจุบันที่ขยับขึ้นมาเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีรายได้จากการขายรวม 7.2 พันล้านเหรียญ ในปี 2560 มีฐานการผลิต 75 แห่งใน 25 ประเทศ ครอบคลุม 4 ทวีป แต่เมื่อดูจากผลงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่ IVL สามารถเพิ่มกำไรหลักก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ให้เติบโตมากกว่าสองเท่า (จาก 478 ล้านเหรียญในปี 2546 เป็น 1,004 ล้านเหรียญในปี 2560) เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5 ปี Aloke เชื่อมั่นว่าเขาจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง “หลักคิดของเราคือเราไม่มุ่งหวังกำไรที่เป็นลาภลอย ขณะเดียวกันเราก็ไม่ต้องการมีการขาดทุนโดยไม่คาดหมายด้วยเช่นกัน” Aloke กล่าวสรุปพร้อมหัวเราะเบาๆ  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "Aloke Lohia 'เศรษฐีสร้างได้' แห่งอินโดรามา ผู้พลิกความล้มเหลวเป็น 'Deal Maker''" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine