แคชเชียร์บนโลกอินเทอร์เน็ต - Forbes Thailand

แคชเชียร์บนโลกอินเทอร์เน็ต

FORBES THAILAND / ADMIN
06 May 2016 | 12:57 PM
READ 18865

John และ Patrick Collison สองพี่น้องที่เคยติดอันดับ 30 Under 30 มาแล้ว (ทั้งสองยังอายุแค่ 25 และ 27 ปี เท่านั้น) ได้ร่วมกันก่อตั้ง Stripe ซึ่งเป็นกิจการที่ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือที่มีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านเหรียญ แต่เป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาก็คือการกำหนดรูปแบบการค้าขายในระบบดิจิทัลของโลกอนาคต

สิ่งแรกที่คุณจะสังเกตได้ว่า John และ Patrick Collison ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Stripe ไม่ได้มีท่าทีวางก้ามเหมือนผู้บริหารธุรกิจพันล้านคนอื่นๆ ก็คือ เป้สะพายหลังยี่ห้อ North Face สีเทาที่แทบจะไม่มีอะไรสะดุดตา ส่วน Patrick พี่ชายของเขาซึ่งเป็น CEO ดีกว่านิดหน่อยตรงที่มีโต๊ะทำงานเล็กๆ ของตัวเองที่เบียดอยู่ตรงกลางระหว่างผนังกับโต๊ะของพนักงานฝ่าย ถึงแม้จะไม่ได้มีห้องทำงาน แต่ชายหนุ่มอายุ 20 กว่าที่เลิกเรียนมหาวิทยาลัยกลางครันอย่างเขาก็สามารถสร้างกิจการสตาร์ทอัพ ซึ่งได้รับคำชื่นชมอย่างมากในฐานะที่เป็นกิจการที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงินซึ่งเป็นสาขาที่ผู้เล่นรายใหม่เบียดแทรกเข้ามาได้ยาก ห้าปีหลังจากเริ่มก่อตั้ง และสองปีหลังจากที่สองพี่น้องติดอันดับ 30 Under 30 Stripe กำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของสองพี่น้องในการปฏิวัติระบบการชำระเงินแบบดิจิทัล โดยในปีที่ผ่านมา Stripe ได้เพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 380 คน ในขณะที่มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านเหรียญจาก 3.5 พันล้านเหรียญในปีก่อนหน้า ในอดีตกิจการแห่งนี้ที่เคยให้บริการแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้นและต้องงอนง้อขอเข้าพบกับผู้บริหารธนาคาร แต่ในปัจจุบัน Stripe ขยายบริการออกไปจนครอบคลุม 23 ประเทศ และจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Visa, Apple Pay และ Alibaba เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ Facebook, Twitter และ Pinterest ก็ยังเลือก Stripe เป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน บริษัท Stripe เป็นกิจการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และไม่เปิดเผยรายได้ของบริษัท ถึงแม้ว่าลูกค้านับแสนรายที่ใช้บริการชำระเงินของ Stripe ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก แต่ลูกค้ารายใหญ่ไม่กี่รายของบริษัทอย่างเช่น Lyft, Shopify, Kickstarter, Postmates และ Wish ก็มียอดการชำระเงินรวมกันคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่าน Stripe แหล่งข่าวในวงการประเมินว่ายอดการชำระเงินผ่าน Stripe น่าจะอยู่ที่ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งในทุกๆ ธุรกรรมที่ทำผ่าน Stripe ในสหรัฐฯ จะคิดค่าธรรมเนียม 2.9% ของยอดการชำระบวกด้วย 30 เซ็นต์ ซึ่งไม่ค่อยต่างจากบริษัทชำระเงินอื่นๆ แต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง Braintree ของ PayPal ซึ่งบอกว่าในปีนี้จะให้บริการชำระเงินคิดเป็นมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่ายอดของ Stripe ถึงกว่าเท่าตัว และสามารถดึงลูกค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Uber หรือ Airbnb ให้มาใช้บริการได้ สองพี่น้องแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผลิตภัณฑ์ของบริษัท แต่ John จะดูเรื่องการหาพันธมิตรและยอดขายด้วย ในขณะที่ Patrick ก็จะเน้นไปที่งานด้านวิศวกรรม และการออกสื่อเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของบริษัท “(Patrick เป็นเหมือนกับ) LeBron James ของผู้ประกอบการ” David Lee ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการนับร้อยๆ รายตอนที่เป็นผู้บริหารกองทุน SV Angel บอก “เขาฉลาด มีเสน่ห์ และเป็นผู้นำที่ดี รอบคอบและเยือกเย็น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เราจะเห็นคุณสมบัติทั้งหมดที่ว่ามาในตันคนคนเดียว” สองพี่น้องเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ และขายกิจการ Auctomatic ซึ่งเป็นบริษัทแรกของพวกเขาไปด้วยราคา 5 ล้านเหรียญตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นกันอยู่ โดย Patrick ซึ่งเข้าเรียน MIT อยู่แค่ช่วงสั้นๆ เป็นนักอ่านตัวยงซึ่งมีหนังสือประเภทต่าง ๆ เรียงรายอยู่บนชั้นถึงประมาณ 600 เล่ม ในขณะที่ John ซึ่งออกจาก Harvard กลางคัน แม้จะเงียบกว่าแต่ก็พูดเก่ง และมีตันตนหลายมิติพอกัน ในวันนี้ Stripe มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นแล้ว แต่ยังคงใช้วิธีแบบเดิมๆ ในการคัดเลือกพนักงานเข้ามาร่วมงานกับบริษัท นั่นคือใครก็ตามที่เป็นคนสัมภาษณ์ มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะรับผู้สมัครคนนั้นได้ และเมื่อไหร่ที่ผู้ก่อตั้งเลือกคนที่ชอบที่สุดแล้ว ก็ต้องหาทางดึงคนๆ นั้นมาร่วมงานให้ได้ Patrick บอกว่าเขาใช้เวลาถึงกว่า 50 ชั่วโมงกว่าจะจีบ Claire Hughes Johnson ซึ่งเคยผ่านงานบริหารหลายตำแหน่งใน Google ซึ่งรวมถึงโครงการยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองให้มาร่วมงานด้วยได้สำเร็จ โดยเธอเข้ามารับหน้าที่เป็น chief operating officer ให้กับ Stripe การที่บริษัทให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพนักงานส่งผลดีกับบริษัท เพราะ Stripe ไม่เคยประสบปัญหาเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ และปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรเลยแม้ว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงานปีละเท่าตัว บรรดาคนเก่งๆ ที่มีความสามารถต่างก็อยากจะมาทำงานกับ Stripe เนื่องจากการเติบโตของบริษัทและอีกส่วนที่สำคัญก็คือเพราะอยากทำงานกับพี่น้อง Collison  “พวกเขาอยู่ในที่สูงสุดซึ่งสามารถจะจิกใครใน Valley มาทำงานด้วยก็ได้” Aaron Levie CEO ของ Box บอก พนักงานในหน่วยงานที่ดูแลด้านการขายของ Stripe เพิ่มจำนวนขึ้นจากสองสามคนมาเป็น 20 คนในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศให้กับคู่แข่งอย่าง Adyen และรายอื่นๆ Stripe จึงจ้างพนักงานเพิ่มอีก 70 คนเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับธนาคาร เจ้าหน้าที่ทางการ และลูกค้าในต่างประเทศ จากเดิมที่มีทีมงานอยู่แค่ 5 คนเมื่อสองปีก่อน ธุรกิจของ Stripe เติบโตไปพร้อมๆ กับกิจการของลูกค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการทำตัวให้กระฉับกระเฉงและทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อปีที่แล้ว (2557) ตอนที่ Lyft ตัดสินใจว่าจะหาวิธีที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ขับรถส่งผู้โดยสารให้เร็วขึ้น ทางบริษัทก็ติดต่อมาที่ Stripe และเมื่อถึงเดือนธันวาคม (2558) Lyft ก็เปิดตัวบริการ Express Pay ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะทำให้ผู้ขับรถได้รับค่าโดยสารแทบจะทันทีที่ส่งผู้โดยสารเสร็จ แทนที่จะต้องให้รอรับเงินอีกหลายวันทำการ ไม่ว่ารูปแบบการค้าในอนาคตจะพลิกไปอย่างไรต่อไป แต่เชื่อได้ว่าพี่น้อง Collison จะต้องพยายามหาวิธีเข้าไปเป็นตัวช่วยในการชำระเงินให้ได้ จนถึงตอนนี้ทั้งคู่ยังไม่ได้คิดเรื่องการนำหุ้นของบริษัทของมาขาย IPO เพราะ Stripe กำลังเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐาน “หนึ่งในประเด็นใหญ่ของบริษัทใน Silicon Valley ก็คือการที่บริษัทต่างๆ อวดเบ่งจนเกินตัวเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง” Patrick บอก แต่สิ่งที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าพี่น้อง Collison ไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็คือการที่พวกเขารู้ตัวดีว่าหนทางข้างหน้าที่พวกเขาต้องฝ่าฟันไปนั้นมันยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน   เรื่อง: Miguel Helft เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา   https://youtu.be/1WxV-ellcKk
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "30 Under 30 เหล่าผู้ประกอบการหนุ่มสาวรุ่นใหม่ผู้ไม่รอความสำเร็จ" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine