30 Under 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชีย ปี 2018 (ตอน 1) - Forbes Thailand

30 Under 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชีย ปี 2018 (ตอน 1)

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Jun 2018 | 01:29 PM
READ 17503

เป็นปีที่ 3 แล้วสำหรับการรวบรวมรายชื่อ 30 Under 30 ประจำปี โดยในปีนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรม 10 ประเภท จาก 24 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หนุ่มสาวเหล่านี้ได้รับการคัดสรรจากการเสนอชื่อทางออนไลน์หลายพันชื่อ ผ่านการตรวจสอบโดยทีมนักข่าวของเราและรับรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และนี่คือตอน 1 กับ 5 ประเภทอุตสาหกรรมที่กำลังถูกพลิกผันโดยหนุ่มสาวไฟแรง โดยเราได้คัดสรรบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในแต่ละหมวดมานำเสนอให้คุณ   หมวดบันเทิงและกีฬา

Brian Imanuel (Rich Brian), 18 นักดนตรี อินโดนีเซีย

ว่ากันว่าเมื่อ Brian Imanuel พาตัวเองก้าวกระโดดจากห้องนั่งเล่นในบ้านสู่หน้าปก Los Angeles Times เขาได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของอินโดนีเซียในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ Imanuel ซึ่งเป็นชาวจาการ์ตาโดยกำเนิด ใช้ชื่อว่า Rich Chigga ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นชื่อที่ติดปากขึ้น มิวสิกวิดีโอเพลงที่มีเนื้อหาเสียดสีอย่าง “Dat $tick” ของเขาได้สร้างกระแสฮือฮาบนโลกออนโลน์ในปี 2016 “ช่วง 2-3 เดือนแรกกระแสมันแรงมาก” เขายอมรับ  ความที่เป็นคนรูปร่างสันทัดแต่มีเสียงร้องโทนเบสที่ทุ้มลึกและต่ำ ทำให้นักร้องฮิปฮอปรุ่นใหญ่อย่าง Ghostface Killah ถึงกับต้องประหลาดใจในน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติและสมบูรณ์ของเขา เขาได้ร่วมงานในสตูดิโอครั้งแรกกับ Pharrell ภายในเวลาเพียง 2 ปี นักร้องแร็พอัจฉริยะผู้นี้ได้ก้าวจากเน็ตไอดอลไปสู่นักร้องอาชีพเต็มตัวที่มีอัลบั้มเป็นของตนเอง Amen อัลบั้มแรกของเขาออกวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์และทำให้เขากลายเป็นนักร้องชาวเอเชียคนแรกที่สามารถขึ้นถึงอันดับ 1 บนอันดับเพลงฮิปฮอปของ iTune   หมวดศิลปะและสไตล์ อาหารและเครื่องดื่ม

Amira Geneid, 25 ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ, Zahara มาเลเซีย

Amira Geneid ใช้เวลาอยู่นานในการค้นหาแบรนด์เครื่องสำอางคุณภาพที่ผลิตตามกฎฮาลาล แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วเธอจึงตัดสินใจผลิตมันขึ้นมาเอง หลังการค้นคว้าและวิจัยเป็นเวลา 18 เดือน เครื่องสำอาง Zahara จึงถือกำเนิดขึ้น Zahara เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยเงินทุนส่วนตัวโดยมีฐานการผลิตในยุโรป นอกจากจะเป็นเครื่องสำอางที่ปราศจากแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์แล้ว Zahara ยังได้รับการรับรองฮาลาล ซึ่งหมายความว่าขั้นตอนการผลิตและซัพพลายเออร์ผ่านการอนุมัติตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม  สินค้าบางชนิดของแบรนด์ เช่น ยาทาเล็บสูตรออกซิเจนที่น้ำซึมผ่านได้ ยังมีเป้าหมายในการสร้างความสะดวกแก่สตรีมุสลิมในการชำระร่างกายก่อนการสวดภาวนาโดยไม่ต้องลบยาทาเล็บออก  เนื่องจากทั่วโลกมีชาวมุสลิมมากถึง 1 ใน 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายจึง “ไม่ควรจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป” Geneid กล่าว เครื่องสำอาง Zahara มีจำหน่ายบนเว็บไซต์ในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย บริษัทวางแผนก้าวต่อไปด้วยการส่งสินค้าไปทั่วโลกภายในสิ้นปี เริ่มจากอินโดนีเซียและดูไบ   หมวดธุรกิจการเงินและร่วมลงทุน

Tu Jianyu, Liu Tao, 28, 28 ผู้ร่วมก่อตั้ง, MioTech ฮ่องกง

Tu Jianyu อดีตพนักงานธนาคารและ Liu Tao วิศวกรคอมพิวเตอร์ รู้จักกันที่ Silicon Valley ในปี 2015 พวกเขาสามารถชี้เฉพาะได้ว่า ปัญหาความล้าหลังด้านเทคโนโลยีของสถาบันการเงินอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงเริ่มต้นผลิต “ซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการข้อมูลได้ดีขึ้น” Tu กล่าว Liu อธิบายว่าเขานำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) มาประยุกต์ใช้กับระบบฟีดของพวกเขา “เมื่อคุณมีข้อมูลปริมาณมาก การทำข้อมูลให้เกิดเป็นภาพประจักษ์และสื่อสารข้อมูลไปยังลูกค้ายิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการมีข้อมูลอยู่ในมือ” ความท้าทายก็คือข้อมูลที่มีเหลือล้น “ทำให้เกิดการตกหล่นมาก” Liu กล่าวเพิ่มเติม ที่ผ่านมาธนาคารจะให้นักวิเคราะห์ข้อมูลเร่งรีบสร้างอัลกอริทึมออกมาคราวละมากๆ คอมพิวเตอร์ของ Tu และ Liu ทำได้เหมือนกันแต่เร็วกว่าและดีกว่า “เราไม่อยากพูดแบบนี้ แต่เรากำลังจะทำให้นักวิเคราะห์ต้องตกงาน”  MioTech มีลูกค้ามากกว่า 20 รายในฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน ธุรกิจฟินเทคน้องใหม่รายนี้สามารถระดมทุนได้แล้วถึง 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ผู้ลงทุนหลักอย่าง Zhenfund และ Horizon Venturesกองทุนส่วนบุคคลของ Li Ka-shing    หมวดเทคโนโลยีองค์กร

Kazuo Ishigame, 25 ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ, Infostellar ญี่ปุ่น

หลังเห็นความสำเร็จจากบริษัท SpaceX ของ Elon Musk Ishigame ก็เกิดแรงบันดาลใจในการเปิดสตาร์ทอัพด้านอวกาศของตัวเองขึ้น “คำถามของผมคือ ทำไมอุตสาหกรรมอวกาศถึงไม่ได้รับการมองว่าเจ๋งในญี่ปุ่น ทั้งที่มีคนมากมายที่มีทักษะเหมาะสม ทำไมญี่ปุ่นถึงไม่มีการพัฒนาสินค้าและบริการเกี่ยวข้องกับอวกาศขึ้นมา และวางขาย สัดส่วนของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมอวกาศโลกอยู่ที่ศูนย์” ด้วยความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง Ishigame ร่วมก่อตั้ง Infostellar บริการแชริ่งที่เขาเรียกว่า “Airbnbสำหรับสายอากาศดาวเทียม” ในเดือนกันยายน  บรรดานักลงทุนซึ่งนำโดย Airbus Ventures ลงเงิน 7.3 ล้านเหรียญในช่วงการระดมทุนรอบ Series A ในบริษัท ซึ่งสร้างขึ้นมาพร้อมผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนที่รวมถึงวิศวกรด้านการบินและอวกาศ และ Naomi Kurahara ซีอีโอ StellarStation บริการที่อิงกับระบบคลาวด์ของ Infostellars ช่วยให้ผู้ดำเนินการสถานีภาคพื้นดินทำเงินได้จากการให้เช่าสายอากาศในช่วงที่เครื่องไม่ทำงานเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น ผู้ดำเนินการรายหนึ่งที่มีสายอากาศเดียวในญี่ปุ่น อาจจะเชื่อมต่อกับสถานีเพียง 40 นาทีต่อวัน Ishigame คำนวณว่านั่นอาจคิดเป็นมูลค่าตลาดถึง 500 ล้านเหรียญในขณะนี้   หมวดค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซ

Su Chunzi, 28 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และหุ้นส่วน, FlowerPlus จีน

ในปี 2015 Su ซึ่งทำงานเป็นนักลงทุนในบริษัทร่วมลงทุนได้พบกับคณะผู้บริหารจาก FlowerPlus เพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นในสตาร์ทอัพจัดดอกไม้แบบเสียค่าสมาชิก Su ชอบรูปแบบธุรกิจที่ลูกค้าเลือกได้จาก 4 แบบ (1, 3, 6 หรือ 12 เดือน ราคาตั้งแต่ 20-700 เหรียญ) และได้รับช่อดอกไม้ที่จัดแล้วทุกสัปดาห์ Su ชื่นชอบอย่างมากจนลาออกจากบริษัทร่วมลงทุน และกลายมาเป็นหุ้นส่วนในสตาร์ทอัพ ซึ่งนับตั้งแต่นั้นได้ขยายตัวขึ้นจนมีผู้ใช้ 5 ล้านคน และมียอดขายกว่า 100 ล้านเหรียญ ความสำเร็จของรูปแบบธุรกิจแบบเสียค่าสมาชิก ทำให้ Su ได้ความคิดเรื่องธุรกิจถัดไปคือ Rouralismบริการที่ใกล้เปิดตัวแล้วนี้จะจัดส่งสินค้าต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ชุดชั้นในและกระดาษชำระ Su คาดว่า Rouralism จะจับตลาดกลุ่มผู้หญิงทำงานออฟฟิศของจีน ซึ่งมักยุ่งมากจนไม่มีเวลาไปซื้อของใช้ภายในบ้าน  “เนื่องจากรายได้ในการจับจ่ายของผู้คนเพิ่มขึ้นในจีน พวกเขาจึงใช้สอยมากขึ้นกับสิ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต” Su กล่าว “สิ่งนี้ขับเคลื่อนการใช้จ่ายไปกับของที่ไม่จำเป็น เช่น ดอกไม้และการท่องเที่ยว และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าการยกระดับการบริโภค”   อ่านเพิ่มเติม: 30 Under 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชีย ปี 2018 (ตอน 2)