Neuroscience หรือประสาทวิทยา คือการศึกษาโครงสร้างหน้าที่พฤติกรรมและการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ ว่ากันว่านักลงทุนที่มั่งคั่งทั่วโลกกำลังคิดวิธีผสานความสามารถของประสาทวิทยาและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้าไว้ด้วยกัน
หากพูดถึงนักประสาทวิทยาที่โดดเด่นของไทยต้องมีชื่อของ “ดร.ชอน - ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์” ล่าสุด ดร.ชอน เป็นหนึ่งในคนไทยที่ติดอันดับใน Forbes 30 Under 30 Asia ด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์
“ความเป็นไปได้ในการสร้างเครื่องมือฝังลงไปในสมองและอินเทอร์เฟซกับคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมองกับมนุษย์ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ จากปัจจุบันเรามีเครื่อง implant ในสมองหลายรูปแบบ เช่น cochlear implant ประสาทหูเทียม retinal implant ที่ฝังในดวงตาเพื่อช่วยการมอง deep brain stimulation สำหรับกระตุ้นสมองในผู้ป่วย parkinson และเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าในสมอง เราใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ประสิทธิภาพกระตุ้นสมองหรือความสามารถประมวลข้อมูลของสมองยังจำกัดอยู่มาก”
ส่วนประเด็นเรื่อง device ที่จะฝังลงไปในสมอง เรื่องที่น่าห่วงคือความเสี่ยงและอันตราย ปัจจุบันทำได้ในผู้ป่วยและสัตว์ทดลองเท่านั้น การเอามาใช้ในคนทั่วไปคงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้
ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หรือ ดร.ชอน วาดภาพไปถึงโลกแห่งอนาคต “ผมคิดว่ายังมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่อันตรายสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านประสาทวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเกมคอมพิวเตอร์, eye tracker, เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าอย่างอ่อนที่ไม่อันตราย, augmented reality, หุ่นยนต์, web application ซึ่งผมสนใจประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆ เหล่านี้”
ดร.ชอน คือผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและจิตวิทยา เป็นนักวิจัยด้านพัฒนาการสมองกระบวนการเรียนรู้ และความจำ แห่งสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีที่ทำงานวิจัยด้านประสาทวิทยาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
“งานวิจัยที่ทำจะเน้นศึกษากระบวนการคัดกรองข้อมูลในสมอง หรือ attention ความจำ หรือ memory และการตัดสินใจ หรือ decision making ในชีวิตประจำวัน สมองต้องประมวลข้อมูลมหาศาลที่เข้ามาทางตา เราศึกษาว่าสมองพวกเรารู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ คัดกรองข้อมูลอย่างไรเพื่อใช้ข้อมูลที่เข้ามาในสมองไปสู่กระบวนการเรียนรู้ การตัดสินใจ และเก็บบันทึกข้อมูลนั้นในความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ดร.ชอน สนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ได้ทุนการศึกษาและทุนทำงานวิจัยมาตลอด คว้ารางวัลด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศมากมาย รวมถึงได้ทุนเรียนต่อที่ Duke University สหรัฐอเมริกา คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 เรียนต่อปริญญาโทและเอกที่ University of California ใน San Diego และได้ทุนวิจัยที่ Howard Hughes Medical Institute ซึ่งเป็นนักเรียนไทยเพียงคนเดียวที่ได้ทุนนี้
“ผมกำลังศึกษาวิธีที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ โดยใช้เครื่องวัดการเคลื่อนตัวของดวงตา หรือ eye tracker และเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนที่ไม่อันตราย ผมค่อนข้างสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับ brain-computer interaction หรือวิธีที่ให้คนทั่วไปฝึกสมองและสมาธิด้วยการบังคับคลื่นสมองตัวเราผ่าน real-time EEG และเกมคอมพิวเตอร์”
“เป้าหมายสูงสุดของผมอยากรวมกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานคล้ายๆ กันใน มจธ. และในสถาบันต่างๆ ของไทย เพื่อทำงานร่วมกันและทำให้ไทยเป็นประเทศแนวหน้าในงานวิจัยด้านประสาทวิทยา และหวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่สนใจงานทางด้านนี้มากขึ้น”
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็มของ "ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine