แสนสิริเปิดพื้นที่ “PropTech Sandbox" ดึง 3 สตาร์ทอัพทดลองใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ - Forbes Thailand

แสนสิริเปิดพื้นที่ “PropTech Sandbox" ดึง 3 สตาร์ทอัพทดลองใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ

สิริ เวนเจอร์ส เปิดพื้นที่ในโครงการ T77 เป็น “PropTech Sandbox" ให้สตาร์ทอัพทดลองเปิดบริการก่อนร่วมดีลลงทุน ประเดิม 3 รายแรก "โดรนส่งของ-รถยนต์ไร้คนขับ-รักษาความปลอดภัยด้วยเสียง" เตรียมลงทุนต่อเนื่องอีก 600 ล้านบาทในปีนี้

จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือ บมจ.แสนสิริ เปิดเผยว่า หลังจากแสนสิริร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเวนเจอร์แคปิตอล สิริ เวนเจอร์ส ขึ้นโดยเริ่มดำเนินงานเมื่อปีก่อน จุดประสงค์เพื่อเฟ้นหาการลงทุนในสตาร์ทอัพเทคโนโลยีใหม่ๆ ประเภท PropTech ที่จะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้ลูกบ้านแสนสิริ พร้อมกับเป็นโอกาสใหม่ในการลงทุน

ปีนี้แสนสิริได้เปิดพื้นที่ในโครงการ T77 อ่อนนุชที่บริษัทพัฒนา ให้เป็นเสมือน "PropTech Sandbox" เพื่อทดลองการบริการของสตาร์ทอัพที่สิริ เวนเจอร์สสนใจร่วมงานก่อนตัดสินใจลงทุน โดยประเดิม 3 รายแรกที่จะทดลองเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่

  1. AIROVR (แอโรเวอร์) สตาร์ทอัพไทยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบรถยนต์ไร้คนขับเพื่อใช้รับ-ส่งคนในโครงการ
  2. Fling โดรนเดลิเวอรี่รับส่งอาหาร โดยทดลองใช้รับส่งอาหารจากฮาบิโตะ มอลล์ไปยังคอนโดมิเนียมในพื้นที่
  3. Soundeye สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ ผู้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยด้วยเสียง ใช้เพื่อตรวจจับเสียงผิดปกติในโครงการ เช่น เสียงร้องขอความช่วยเหลือ เสียงปืน เสียงท่อรั่ว ฯลฯ
PropTech Sandbox แสนสิริ
จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด

ทั้งหมดนี้จะเริ่มใช้ใน T77 ตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 โดยโครงการ T77 เป็นพื้นที่เมืองขนาดย่อม บนที่ดิน 14 ไร่ ประกอบด้วยคอนโดฯ 7 อาคาร ศูนย์การค้าฮาบิโตะ มอลล์ และโรงเรียนนานาชาติบางกอก เพรพ มีผู้อยู่อาศัยและนักเรียนในพื้นที่ราว 4,000-5,000 คน ทำให้เหมาะที่จะเป็นจุดทดสอบเทคโนโลยีสมาร์ท ซิตี้เหล่านี้

 

3 สตาร์ทอัพ Prop Tech

สำหรับสตาร์ทอัพ AIROVR นั้น อมเรศ ชุมสาย อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIROVR กล่าวว่าเป็นการพัฒนาระบบ AI เบื้องหลังการขับเคลื่อนของตัวรถยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมกับ สวทช. เป็นผู้สแกนพื้นที่ในโครงการ T77 ออกมาเป็นแผนที่ 3D

ตัวรถนั้นเป็นรถเล็ก 2 ที่นั่ง (ไม่รวมที่นั่งคนขับที่จะมีประจำเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน) วิ่งได้ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ที่ความเร็ว 30 กม./ชั่วโมง และใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 8 ชั่วโมง

PropTech Sandbox แสนสิริ
รถยนต์ไร้คนขับ AIROVR

อมเรศกล่าวว่า ขณะนี้จะทดลองใช้เฉพาะใน T77 ก่อนเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน แต่วิสัยทัศน์ระยะยาวต้องการพัฒนาจนเป็นรถยนต์ไร้คนขับสำหรับรับผู้โดยสาร First-Mile และ Last-Mile (รับส่งระหว่างที่พัก/ที่ทำงานกับสถานีรถไฟฟ้า)

ด้านโดรนเดลิเวอรี่ Fling ซีอีโอชาวแคนาดา Michael Bruce Currie เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งในไทยมาแล้ว 3 ปี และโครงการนี้เป็นโครงการที่ 2 ที่ได้ทดลองระบบโดรนเดลิเวอรี่ของ Fling หลังจากเมื่อปีก่อนมีการทดลองในงานเชียงใหม่มาราธอนเป็นเวลา 2 วัน ใช้ขนส่งน้ำ อาหาร ชุดปฐมพยาบาลให้กับนักวิ่ง

ความร่วมมือกับแสนสิริครั้งนี้เซ็นสัญญาทดลองใน PropTech Sandbox ที่ T77 ยาว 18 เดือน จะบริการส่งอาหารจากร้านในฮาบิโตะ มอลล์ให้กับลูกบ้านโครงการ โดยระบบเป็นการขึ้นบินและลงจอดบนดาดฟ้าอาคาร ดังนั้น Fling จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลการนำพัสดุเข้าและออกจากโดรนเพื่อนำไปส่งให้กับลูกบ้าน

PropTech Sandbox แสนสิริ
โดรนเดลิเวอรี่จาก Fling

นอกจากนี้ ในปีนี้ Fling จะมีพื้นที่ทดลองที่ 3 บริเวณแนวชายหาดพัทยา เมืองพัทยา .ชลบุรี โดยได้รับอนุญาตให้ใช้โดรนขนส่งอาหารตามแนวชายหาดเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ Currie กล่าวว่า Fling เป็นบริษัทแรกในไทยที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้ทดลองใช้โดรนเพื่อขนส่งสิ่งของได้ในบางพื้นที่

ปิดท้ายที่ Soundeye สตาร์ทอัพจากสิงคโปร์ Tan Yeow Kee ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า บริษัทเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี Deep Learning เพื่อตรวจจับเสียงแปลกปลอมต่างๆ ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้ในสถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาล เพื่อตรวจฟังเสียงขอความช่วยเหลือและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่

PropTech Sandbox แสนสิริ
เซ็นเซอร์ตรวจจับเสียงแปลกปลอมของ Soundeye

ส่วนปีนี้บริษัทจะเริ่มติดตั้งระบบในสนามบิน Changi ประเทศสิงคโปร์ เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย โดยใช้ตรวจจับเสียงกรีดร้อง เสียงปืน เสียงระเบิด ฯลฯ ในทำนองเดียวกัน ระบบนี้จะถูกนำมาใช้ที่ T77 เพื่อช่วยระวังเสียงผิดปกติ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับระบบให้เข้ากับเสียงของคนไทย

 

เตรียมลงทุนเพิ่ม 600 ล้านบาท

จิรพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการดำเนินงานของสิริ เวนเจอร์ส PropTech Sandbox ที่สร้างขึ้นนี้จะทำให้บริษัทได้ทดลองทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่สนใจได้มากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุน ในแผนงานของบริษัทยังมีสตาร์ทอัพอีก 2-3 รายที่เตรียมจะเข้ามาใน Sandbox เร็วๆ นี้

ในแง่ของการลงทุน ปี 2561 สิริ เวนเจอร์สเริ่มลงทุนไปแล้ว 300 ล้านบาทในสตาร์ทอัพ 6 ราย ได้แก่

  1. Farmshelf ตู้ปลูกผักในอาคาร
  2. Techmetics หุ่นยนต์บริการในอาคาร (ที่ใช้ในโครงการแสนสิริคือหุ่นยนต์ "น้องแสนดี")
  3. Nueron สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบ ride-sharing
  4. Onionshack หุ่นยนต์อัจฉริยะใช้บริการลูกค้า (พัฒนาเป็นน้องแสนรู้สำหรับใช้ช่วยในการขายโครงการแสนสิริ)
  5. Appysphere ระบบโฮมออโตเมชั่น ปัจจุบันแสนสิริใช้ติดตั้งทุกโครงการใหม่
  6. Semtive สตาร์ทอัพด้านพลังงานทดแทนในที่อยู่อาศัย

และมีการลงทุนใน Fund of Funds อีก 2 ราย คือ China Renaissance เวนเจอร์แคปิตอลในจีน และ Fifth Wall เวนเจอร์แคปิตอลที่เน้นลงทุนใน PropTech สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของสิริ เวนเจอร์ส

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถคำนวณผลดำเนินงานที่ได้ในเชิงการเงินเนื่องจากยังไม่มีสตาร์ทอัพใดที่ exit ออกจากตลาด แต่มีสตาร์ทอัพอย่าง Techmetics ที่ระดมทุนรอบใหม่แล้ว และ Farmshelf ที่จะระดมทุนเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของบริษัทและหุ้นในส่วนของสิริ เวนเจอร์สมีมูลค่าสูงขึ้น

"ในแง่ financial ยังไม่เห็นในทันที แต่สิ่งที่ต้องมาทันทีเมื่อสิริ เวนเจอร์สลงทุนคือการ synergy ของสตาร์ทอัพนั้นกับแสนสิริ ไม่ว่าจะเกิดประโยชน์ในการใช้งานจริง ทำให้ลูกบ้านสะดวกสบายขึ้น หรือการได้สร้างแบรนดิ้งความเป็น technology leader ของเราก็ตาม" จิรพัฒน์กล่าว

PropTech Sandbox สิริ เวนเจอร์ส.jpg
(จากซ้าย) Tan Yeow Kee ซีอีโอ Soundeye, จีรวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Head of Ecosystem สิริ เวนเจอร์ส, จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ซีทีโอ สิริ เวนเจอร์ส, ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. , อมเรศ ชุมสาย ณ อยุธยา ซีอีโอ AIROVR และ Michael Bruce Currie ซีอีโอ Fling

สำหรับปี 2562 สิริ เวนเจอร์สเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 600 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มทุนจาก บมจ.แสนสิริ เท่านั้น และมีแผนงานปี 2563 ที่จะลงทุนเพิ่มอีก 600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากปีก่อนที่เป็นปีเริ่มต้น เม็ดเงิน 100% จะเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ แต่ปีนี้จะปรับสัดส่วนเป็น 70% ลงทุนธุรกิจใหม่ 30% เพิ่มทุนให้ธุรกิจเดิมเติบโต ขณะที่ปีหน้าจะปรับสัดส่วนอีกครั้งเป็นกิจกรรมละ 50%

"เกณฑ์ในการเฟ้นหาสตาร์ทอัพเพื่อลงทุนต้องตอบโจทย์ 3 อย่าง คือ หนึ่ง ต้องมี impact กับธุรกิจของแสนสิริ สอง มองเห็น financial return ได้ใน 3-5 ปี และสาม เน้นลงทุนกับสตาร์ทอัพระดับ series A เพราะมั่นใจได้ว่าพรุ่งนี้เขาจะยังอยู่ แต่ถ้าหากมีสตาร์ทอัพระดับ seed stage ที่น่าสนใจเราก็พร้อมลงทุน"

แผนการลงทุนของสิริ เวนเจอร์ส ปี 2561-63

จิรพัฒน์กล่าวต่อว่า งบลงทุน 600 ล้านบาทที่จะลงทุนในปีนี้ เตรียมลงทุนในสตาร์ทอัพแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. เทคโนโลยีก่อสร้าง (ConsTech) สัดส่วน 20% ใช้ในการควบคุมคุณภาพก่อสร้าง
  2. เทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) สัดส่วน 20% เกี่ยวข้องกับระบบการขาย
  3. เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (LivingTech) สัดส่วน 30% เช่น เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง ระบบควบคุมคุณภาพอากาศ
  4. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) สัดส่วน 30% เช่น ระบบจัดการขยะอัจฉริยะ เทคโนโลยีปลูกผักสวนครัว เป็นต้น
 

Forbes Facts

สิริ เวนเจอร์ส เริ่มต้นจากการร่วมทุนของ บมจ.แสนสิริ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ สัดส่วนการลงทุน 90:10 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จิรพัฒน์กล่าวว่า หลังจากการเพิ่มทุนของแสนสิริจะทำให้สัดส่วนของไทยพาณิชย์ลดลงเหลือ single digit