แบรนด์พฤกษาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อ ‘สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์’ อดีตซีอีโอจากยูนิลีเวอร์มาร่วมทัพ - Forbes Thailand

แบรนด์พฤกษาจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อ ‘สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์’ อดีตซีอีโอจากยูนิลีเวอร์มาร่วมทัพ

ชื่อของเธอโลดแล่นอยู่ในวงการการตลาดมาตลอด ด้วยประสบการณ์ทำงานเป็นลูกหม้อที่เติบโตในองค์กรสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติดัตช์อย่าง “ยูนิลีเวอร์” มานาน 25 ปีจนขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารในที่สุด อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา เธอย้ายจากบ้านหลังเก่าบนถนนพระราม 9 ข้ามห้วยธุรกิจมาสู่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายได้อันดับ 1 ของไทยที่ “พฤกษา” ณ ตึกเพิร์ล แบงก์ค็อก ย่านอารีย์

สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ เข้ามาร่วมงานในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ทำงานใกล้ชิด ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้ก่อตั้งพฤกษา โดยนอกจากจะร่วมวางแผนภาพรวมกลยุทธ์ของบริษัททั้งในส่วนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและโรงพยาบาลวิมุตติที่กำลังก่อสร้างแล้ว เธอยังเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างแบรนด์พฤกษาให้มีภาพลักษณ์ที่เหมาะสม
สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ เข้าร่วมงานกับพฤกษาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.60
การก้าวจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมาเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ สุพัตราบอกว่า มีทั้งความเหมือนและความต่างในการบริหาร “การย้ายจากสินค้า consumers มาเป็นอสังหาฯ นั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ต่างคือวิธีการสร้างแบรนด์ เพราะอสังหาฯ เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ซื้อครั้งเดียว หรือบ้างอาจจะซื้อเพิ่มไว้ลงทุน ต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการซื้อซ้ำบ่อยครั้ง” สุพัตราเสริมว่า นอกจากนี้เธอต้องเรียนรู้เรื่องการก่อสร้างจากนายช่างเพิ่มเติมเพื่อจะเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศบ้านหลังใหม่เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการทำงาน “พนักงานและผู้บริหารที่นี่มีความเปิดกว้างในการปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆ และคุณทองมา (วิจิตรพงศ์พันธุ์) มีวิสัยทัศน์ในการทดลองสิ่งใหม่ คุณทองมาบอกเสมอว่า ลองเถอะ ผิดถูกไม่เป็นไร เขาเป็นคนที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูงมาก” สุพัตรากล่าว  

พฤกษาจะเท่ากับคำว่า “คุณภาพ”

หากค้นหาข้อมูลของพฤกษาในอินเทอร์เน็ต หลายครั้งที่ชื่อของพฤกษามาคู่กับข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพการก่อสร้าง ดังนั้น เรื่องสำคัญที่ได้รับการตอกย้ำเสมอเมื่อพูดถึงแบรนด์พฤกษาคือ การปรับภาพลักษณ์ใหม่ “image ของเรามีคำถามเรื่องคุณภาพ แต่จริงๆ ตัวเลขข้อร้องเรียนต่อโครงการหรือต่อยูนิตก็ใกล้เคียงกับตลาด (ปัญหาการก่อสร้าง หรือ defect อยู่ที่ 2-5 รายการต่อยูนิต) แต่เพราะเรามีจำนวนยูนิตเยอะเมื่อมองภาพรวมจึงดูเหมือนมีหลายกรณีมากกว่ารายอื่นๆ ที่จริงรายการ defect ของเราดีขึ้นมาตลอด และเป็นสิ่งที่มุ่งเป้าต่อไปใน 5 ปีข้างหน้า เราตั้งใจว่าจะไปสู่  Zero Defect คือไม่มีปัญหาการก่อสร้างเลย” “พฤกษาจะเป็น master brand ที่ถูกทำให้เป็น trust mark ว่ามีคุณภาพดีที่สุดในกลุ่มราคานั้นๆ และมีการบริการหลังการขายที่ดี” สุพัตรากล่าว
พฤกษาปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ จากเดิมเป็นคำว่า Pruksa อยู่ภายในใบไม้สีเขียว เป็นใบไม้สีเขียวและเทาซ้อนกัน 2 ใบ โดยใบไม้ด้านในเป็นรูปตัว P เพื่อความเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น
ด้านบริการหลังการขาย เช่น การแจ้งซ่อม แม่บ้าน รักษาความปลอดภัย ซักรีด ดูแลล็อกเกอร์ภายในโครงการ ปัจจุบันพฤกษามีทั้งทีมดูแลของบริษัทเองและใช้ outsource บริษัทจากภายนอกเข้ามารับเหมาบริการ โดยจะทดลองเปรียบเทียบต่อไปในอนาคตว่าวิธีไหนเหมาะสมกว่าในการให้บริการที่ดีและต้นทุนเหมาะสม เธอเสริมว่า นอกจากจะเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือเรื่องคุณภาพการก่อสร้างแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พฤกษาต้องการเป็นคือ เป็นผู้นำเทคโนโลยีการก่อสร้างและมีนวัตกรรมการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คน “โดยเราไม่ได้จะทำงานแบบ in-house หมด เรามีการร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ เช่น เสาเข็มจาก GEL ปูนซีเมนต์ SCG ปูนอินทรี สี TOA เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพเทคโนโลยีและมาตรฐาน”  

หั่นทิ้ง 34 แบรนด์เดิม

สุพัตรายังรื้อใหญ่ปรับพอร์ตแบรนด์ย่อยภายใต้ร่มพฤกษา จากที่เคยมีถึง 48 แบรนด์ ให้เหลือเพียง 14 แบรนด์หลัก ซึ่งเธอแจกแจงว่า เป็นจำนวนที่มากพอครอบคลุมสินค้าทุกแบบทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม ได้ครบทุกกลุ่มราคาและสไตล์ผู้อยู่อาศัย “การเลือกแบรนด์ใช้วิธีดูย้อนหลังจากจำนวนโครงการภายใต้แบรนด์นั้นๆ ที่ประสบความสำเร็จ ถ้ามีมากก็จะเลือกแบรนด์นั้นไปใช้ และตัดแบรนด์อื่นที่อยู่ในกลุ่มราคาใกล้เคียงกันออกไป” สุพัตรากล่าว
ตัวอย่างแบรนด์ที่ยังคงอยู่ในปี 2561
ดังนั้นปี 2561 แบรนด์ของพฤกษาที่ยังโลดแล่นในวงการอสังหาฯ ในกลุ่มบ้านเดี่ยว ได้แก่ เดอะปาล์ม ภัสสร เดอะแพลนท์ กลุ่มทาวน์เฮาส์ ได้แก่ ฮาว พาทิโอ เดอะคอนเนค พฤกษาวิลล์ และบ้านพฤกษา และปิดท้ายกลุ่มคอนโดมิเนียม ได้แก่ เดอะรีเซิร์ฟ แชปเตอร์วัน เออร์บาโน่ เดอะไพรเวซี่ เดอะทรี และพลัมคอนโด  

เทงบโฆษณาสู่โลกดิจิทัล

สุพัตราชี้เป้าไฮไลต์การตลาดปีนี้ของพฤกษาว่า จะมุ่งเน้นด้านการตลาดดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากพบว่าช่องทางโฆษณาผ่านดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากกว่าสื่อดั้งเดิมถึง 3 เท่า ดังนั้นปีนี้จะเน้นการใช้จ่ายการตลาดผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 87% จากปี 2560 มีงบส่วนนี้ 172 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบโฆษณาทั้งหมด ปีนี้งบการตลาดดิจิทัลเพิ่มเป็น 370 ล้านบาท คิดเป็น 25-26% ของงบโฆษณาทั้งหมด เป็นจังหวะที่น่าจับตามองว่า อดีตซีอีโอจากฝั่งสินค้าอุปโภคบริโภคผู้เป็นพลังขับเคลื่อนเบื้องหลังแคมเปญการตลาดมากมายจะสร้างความแตกต่างให้กับพฤกษาและวงการอสังหาฯ อย่างไรบ้าง