เปิดความอลัง “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” Mixed-use 3.67 หมื่นล้าน “ซูเปอร์คอร์ซีบีดี” - Forbes Thailand

เปิดความอลัง “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” Mixed-use 3.67 หมื่นล้าน “ซูเปอร์คอร์ซีบีดี”

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Apr 2019 | 06:36 PM
READ 7043

หลังจากเปิดดำเนินการวันสุดท้าย เมื่อ 5 มกราคม 2562 โรงแรมดุสิตธานี ก็ปิดฉากลงเพื่อการพัฒนาใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและโรงแรมดุสิตธานี ที่ประกาศร่วมทุนสร้างความฮือฮาสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา กับแผนพัฒนา Mixed-use โครงการใหม่ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" มูลค่ากว่า 3.67 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว เปิดเผยรายละเอียดแผนพัฒนาที่ดินแปลงงามเนื้อที่กว่า 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยขอเวลา 5 ปีในการพัฒนาเพื่อกลับมาใหม่ในชื่อดุสิต เซ็นทรัล พาร์คภายใต้การบริหารโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดย กลุ่มเซ็นทรัล ถือหุ้น 40% และ ดุสิตธานี 60% เพื่อพัฒนาโครงการ Mixed-use ที่ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย และโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า ซึ่งจะมีจุดเด่นที่การใช้ฐานรากเดียวกันทั้งโครงการ พื้นที่ก่อสร้างรวมกว่า 4.4 แสนตารางเมตร

(ซ้าย) ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC และ (ขวา) วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า ด้วยความตั้งใจของกลุ่มดุสิตฯ และซีพีเอ็น ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 ให้เป็นทำเลศักยภาพใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คซึ่งจะเป็นโครงการพัฒนาแบบผสมผสาน หรือ Mixed-use ที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยการเชิดชูความเป็นไทยบนมาตรฐานสากล เหมือนที่ดุสิตธานีเคยสร้างการจดจำระดับโลกในฐานะสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ มากว่า 50 ปีที่ผ่านมา

 

คงรูปแบบดุสิตธานีเพิ่มดีไซน์โมเดิร์น

โครงการนี้ออกแบบให้สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยผสานกลิ่นอายของความทันสมัย เป็นการหลอมรวมระหว่างงานอนุรักษ์และนวัตกรรมไว้ด้วยกัน ประกอบด้วยสามอาคารที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยหนึ่งฐานรากอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้โครงการมีความโดดเด่นต่างจากโครงการอื่น ด้วยการเป็นโครงการ Mixed-use แห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับการจราจรทุกระนาบ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ตลอดจนการจราจรบนท้องถนน ซึ่งทุกอาคารสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีได้อย่างชัดเจน

โดยส่วนของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นโรงแรมขนาด 250 ห้องบนอาคารสูง 39  ชั้น ในรูปทรงสถาปัตยกรรมคล้ายอาคารเดิม มีเสาสีทองเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นบนยอดอาคาร ซึ่งออกแบบให้เป็นพื้นที่จัดเลี้ยงและชมวิวแบบพาโนรามา โดยการออกแบบยังคงให้ความสำคัญกับการเก็บเรื่องราว องค์ประกอบสำคัญของโรงแรมดุสิตธานีเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ มาใช้ในโครงการ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการช่วงปลายปี 2565

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ สร้างใหม่ เป็นโรงแรมขนาด 250 ห้องบนอาคารสูง 39 ชั้น ในรูปทรงสถาปัตยกรรมคล้ายอาคารเดิม

ในส่วนของ อาคารที่พักอาศัย หรือเรสซิเดนซ์ จะสร้างเป็นอาคารสูง 69 ชั้นที่สามารถรับชมวิวสวนลุมพินี และขอบฟ้ากรุงเทพฯได้แบบพาโนรามา ประกอบด้วยห้องชุดจำนวน 389 ยูนิต บนพื้นที่รวม 80,000 ตารางเมตร

แบ่งเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกดุสิต เรสซิเดนเซส (Dusit Residences) จำนวน 159 ยูนิต บนชั้นที่ 30-69 ขนาด 2-4 ห้องนอนพื้นที่ 120-600 ตารางเมตร เน้นเจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา และมีความเป็นส่วนตัวสูง เหมาะกับครอบครัวขนาดกลางและใหญ่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดจนนักธุรกิจที่เดินทาง

เรสซิเดนซ์ส่วนที่สองดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside) ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย มีระดับ จำนวน 230 ยูนิต บนพื้นที่ชั้น 9-29  ขนาด 1-2 ห้องนอน พื้นที่ 60-80 ตารางเมตร เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก โดยเรสซิเดนซ์ทั้งสองส่วนนี้เป็นสัญญาแบบสิทธิ์เช่าระยะยาวหรือลีสโฮลด์นาน 60 ปี (สัญญา 30 ต่อ 30 ปี) คาดว่าจะเปิดให้จองในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

“ดุสิต พาร์คไซด์” (Dusit Parkside) จำนวน 230 ยูนิต บนพื้นที่ชั้น 9-29 ของส่วนที่พักอาศัย

ด้านราคาคายังไม่กำหนดชัดเจน จนกว่าจะเปิดจองในช่วงไตรมาส 3 แต่เบื้องต้นยืนยันได้ว่าจะถูกกว่าคอนโดในทำเลเดียวกัน เพราะโครงการนี้เป็นการขายแบบลีสโฮลด์สัญญายาว 60 ปีศุภจีกล่าว

 

เปิดนิยามใหม่ซูเปอร์คอร์ซีบีดี

วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ Here for Bangkok สิ่งที่ซีพีเอ็นและดุสิตกำลังร่วมกันทำ จะเป็นมากกว่าการสร้าง Mixed-use ทั่วไป แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพฯ

ด้วยการสร้าง ซูเปอร์คอร์ซีบีดี (Super Core CBD) ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจากทั้ง 4 ทิศของกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ใจกลางเดียว ได้แก่ ย่านราชประสงค์ทางทิศเหนือ เจริญกรุงทางทิศใต้ สุขุมวิททางทิศตะวันออก และเยาวราชทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็น ‘The New Junction’ ที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญของกรุงเทพฯ และเชื่อมให้ทุกย่านรอบพื้นที่นี้ให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งย่านเก่าและย่านใหม่ รวมถึงย่าน Financial เข้ากับย่าน Commercial ซึ่งจะช่วยยกระดับผังเมืองกรุงเทพฯ ให้เชื่อมต่ออย่างลงตัวที่สุด ตอบโจทย์ทั้งทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ เช่นเดียวกับย่านดังในมหานครระดับโลกอย่าง London หรือ New York City

 

รีเทลแห่งอนาคตต่อเชื่อมไลฟ์สไตล์

สำหรับ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) จะมีบทบาทสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน เป็นการพัฒนารีเทลแห่งอนาคต ที่จะสร้าง New Urbanised Lifestyle ระดับเวิลด์คลาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผสมผสานไลฟ์สไตล์ในร่มและกลางแจ้งเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทยครอบคลุมทุกกลุ่มไลฟ์สไตล์ บนพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร เพิ่มการเชื่อมโยงการใช้ชีวิตในทุกมิติของคนเมืองจากภายในสู่ภายนอกด้วย Rooftop Park สวนดาดฟ้าพื้นที่สีเขียวร่มรื่นใจกลางกรุง ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) รวบรวมแบรนด์ดังระดับไอคอนของโลกและประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร พร้อมด้วย Rooftop Park สวนสีเขียวบนดาดฟ้าอาคาร จะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566

พื้นที่พัฒนาส่วนที่สามเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส (Central Park Offices) จะเป็นอาคารออฟฟิศสูง 49 ชั้นที่เป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรรค์เป็น Professional Hub ที่คำนึงถึงความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่ทุกอย่างต้องการความรวดเร็วและเชื่อมโยงเข้าถึงกัน บนพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร รองรับการเป็นที่ตั้งของบริษัทตั้งแต่ Innovative Start-Ups ไปจนถึงสำนักงานบริษัทระดับโลก

“เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส” (Central Park Offices) จะเป็นอาคารออฟฟิศสูง 49 ชั้น พื้นที่ 90,000 ตารางเมตร รองรับการเป็นที่ตั้งของบริษัทตั้งแต่ Innovative Start-Ups ไปจนถึงสำนักงานบริษัทระดับโลก
เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์   อ่านเพิ่มเติม