ชินวะ เรียลเอสเตท ขนโมเดลธุรกิจ-Know-how อสังหาฯ ญี่ปุ่นบุกไทย - Forbes Thailand

ชินวะ เรียลเอสเตท ขนโมเดลธุรกิจ-Know-how อสังหาฯ ญี่ปุ่นบุกไทย

ชินวะ เรียลเอสเตท บริษัทก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์จากเมือง Osaka ปักหมุดประเทศไทย ชิมลางด้วยคอนโดมิเนียม วางแผนขยายสู่โครงการแนวราบ บริการปล่อยเช่า และธุรกิจก่อสร้าง

จากกระแสเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ Shinwa Group เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เล็งกรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเริ่มชิมลางโครงการแรกด้วยการร่วมทุนกับ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) พัฒนาคอนโดฯ รูเนะสุ ทองหล่อ 5 เมื่อปี 2560 มูลค่าโครงการ 1.2 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง และมียอดขายแล้วกว่า 90%

อย่างไรก็ตาม Shinwa Group ได้เปลี่ยนพันธมิตรใหม่ในโครงการที่ 2 โดยก่อตั้ง บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมทุนกับ บมจ.พรีบิลท์ ของไทยและชักชวน Pressance Corporation บริษัทอสังหาฯ ญี่ปุ่นอีกรายมาร่วมลงขันพัฒนาคอนโดฯเร็น สุขุมวิท 39” มูลค่า 2.6 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายช่วงกลางปี

Shinwa Group เป็นบริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ในแถบ Kansai ของญี่ปุ่น มีธุรกิจทั้งก่อสร้าง พัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย อะพาร์ตเมนต์ โรงแรม ฯลฯ ทำรายได้ปี 2561 ที่ 9.9 พันล้านบาท และคาดว่าปี 2562 จะเติบโตเป็น 1.04 หมื่นล้านบาท

Shinwa Group มีวิสัยทัศน์ที่จะเปิดตลาดต่างประเทศเพื่อเร่งการเติบโตและเลือกประเทศไทยเป็นฐาน จึงส่ง Tomoyasu Yamabe มาเป็นกรรมการผู้จัดการ ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และดึง วิชัย จุฬาโอฬารกุล เป็นกรรมการบริหาร โดยเป็นคีย์แมนด้านการตลาดในไทย

อะพาร์ตเมนต์ Arrow Fields ของ Shinwa Group แม้ใช้งานมาแล้ว 10 ปีแต่ยังแข็งแรงและอยู่ในสภาพดี

วิชัยเปิดเผยแผนการดำเนินระยะยาวของชินวะฯ ว่า บริษัทพยายามนำโมเดลธุรกิจและองค์ความรู้ของบริษัทแม่เข้ามาใช้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขายประเภทคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ เสริมด้วยอสังหาฯ เพื่อเช่าคือเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ และมีแผนจะทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงบริการเกี่ยวเนื่องที่เรียกว่า “Maximize Value” ซึ่งจะให้บริการรับจ้างออกแบบ ก่อสร้าง บริหารการขายโครงการภายใต้แบรนด์ชินวะฯ บนที่ดินของเจ้าของที่ดิน และบริการ Triple S รับบริหารการเช่าแทนเจ้าของห้องเช่า

ด้านแผนระยะยาวในการลงทุนธุรกิจก่อสร้างในไทย วิชัยเปิดเผยว่าวางแนวทางควบรวมกิจการ (M&A) บริษัทก่อสร้างของไทย แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่น่าสนใจ

 

เสนอห้องชุดสไตล์ญี่ปุ่นให้ชาวไทย

สำหรับแผนงานอสังหาฯ เพื่อขาย วิชัยกล่าวว่า บริษัทมีแผน 3 ปี (2561-63) ที่จะลงทุนพัฒนาโครงการมูลค่า 1.2 พันล้านบาท, 3 พันล้านบาท และ 5 พันล้านบาทตามลำดับ

เริ่มต้นด้วย โครงการรูเนะสุ ทองหล่อ 5 ส่วนแผนปี 2562 นี้ จะมีการเปิดตัวคอนโดฯ เร็น สุขุมวิท 39 เป็นอาคาร 7 ชั้น จำนวน 298 ยูนิต มูลค่า 2.6 พันล้านบาท

โครงการที่ 2 เป็น คอนโดฯ ขนาดเล็ก ทำเลถนนศรีนครินทร์ บริเวณหลังศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ที่ดินเกือบ 1 ไร่ จะสร้างเป็นอาคาร 7-8 ชั้น จำนวนไม่เกิน 100 ยูนิต มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท เปิดตัวช่วง Q3/62 และเป็นโครงการแรกที่ชินวะฯ จะพัฒนาเอง ไม่มีการร่วมทุนกับพันธมิตร

ส่วนโครงการสุดท้ายจะเป็นทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งมองเป็นทำเลใกล้เมือง โครงการขนาดไม่ใหญ่ จำหน่ายในราคาประมาณ 10 ล้านบาทต่อยูนิต

เราดูการร่วมทุนแบบ project by project อย่างโครงการเร็น สุขุมวิท 39 สิ่งที่เราขาดคือบริษัทก่อสร้างที่พร้อมยอมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น จึงมาลงตัวที่พรีบิลท์ แต่โครงการขนาดเล็กที่ศรีนครินทร์เราน่าจะพัฒนาเองได้ ส่วนระยะยาว ไม่ได้ต้องการพัฒนาเองทั้งหมด ยังคงพร้อมเปิดรับพันธมิตร

วิชัยอธิบายว่า การมองทำเลพัฒนาโครงการของชินวะฯ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเขตศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) แต่มองหาที่ดินใกล้รถไฟฟ้าทั้งสายสีเขียว สถานีอ่อนนุชถึงสถานีอารีย์, สายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินีถึงสถานีอิสรภาพ และสายสีเหลืองช่วงถนนศรีนครินทร์ อันเป็นพื้นที่ศักยภาพ

เราไม่ได้ต้องการพัฒนาแต่คอนโดฯ หรู คอนโดฯ ราคาต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อตารางเมตรเราก็ต้องการพัฒนา ขึ้นอยู่กับราคาที่ดินที่ได้ เพราะต้องการให้ผู้บริโภคคนไทยได้สัมผัสกับเทคโนโลยีการอยู่อาศัยและการจัดฟังก์ชั่นห้องชุดแบบญี่ปุ่นให้มากที่สุดวิชัยกล่าวและเสริมว่า คอนโดฯ ขนาดเล็กที่ศรีนครินทร์ หากการตอบรับดี เชื่อว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบที่กระจายไปในเมืองได้

สำหรับปี 2563 บริษัทวางแผนจะขยายไปพัฒนาคอนโดฯ high rise และเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ ด้านการรับรู้รายได้ ปี 2562 นี้จะเป็นปีแรกที่เริ่มรับรู้รายได้ประมาณ 600 ล้านบาทเมื่อเริ่มโอนโครงการรูเนะสุ ทองหล่อ 5 ราวเดือนสิงหาคมนี้

 

บริการปล่อยเช่า-รับพัฒนาโครงการ

นอกจากการพัฒนาอสังหาฯ ปีนี้ชินวะฯ จะ kick off บริการใหม่คือ Triple S ซึ่งเป็นระบบบริหารงานปล่อยเช่าห้องและดูแลผู้เช่าแทนเจ้าของห้อง ซึ่งช่วยแก้โจทย์ให้ผู้เช่าได้

วิชัยอธิบายว่า ปกติแล้วผู้เช่าโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น เมื่อมีปัญหาในห้องพัก เช่น ท่อรั่ว อินเทอร์เน็ตใช้การไม่ได้ จะติดต่อผ่านเอเย่นต์เพื่อให้เจ้าของห้องแก้ปัญหา ซึ่งเจ้าของห้องเองมีงานประจำจึงอาจดูแลได้ไม่ทันท่วงที Triple S จะมาช่วยเจ้าของห้องในการเร่งติดต่อนิติบุคคลโครงการและช่างซ่อม เพื่อให้ลูกค้าผู้เช่าพึงพอใจ โดยบริการนี้จะบริการฟรีให้กับลูกค้าคอนโดฯ ชินวะฯ แบบตลอดชีพ

อย่างไรก็ตาม บริษัทเองมีโอกาสทำกำไรจาก Triple S จากส่วนต่างราคาค่าเช่าห้องที่เก็บเพิ่มจากผู้เช่า ทั้งนี้ ในอนาคตชินวะฯ อาจขยายบริการ Triple S ไปในตลาดทั่วไปไม่เฉพาะคอนโดฯ ของชินวะฯ

(ซ้าย) วิชัย จุฬาโอฬารกุล กรรมการบริหาร ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) (ขวา) Tomoyasu Yamabe กรรมการผู้จัดการ ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์)

ด้านบริการ Maximize Value วิชัยกล่าวว่า รูปแบบจะเป็นการรับจ้างพัฒนาโครงการให้เจ้าของที่ดิน ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้าง การขาย โดยใช้แบรนด์ของชินวะฯ

ลักษณะเป็นการลงทุนร่วมกัน มองว่า owner ที่ดินจะได้ประโยชน์คือมีโอกาสได้มูลค่าเพิ่มมากกว่าการขายที่ดินเปล่า สูงสุด 20% โดยชินวะฯ บริการพัฒนาให้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ตอนนี้ยังต้อง educate ตลาด เพราะเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่มักจะต้องการขายขาดที่ดินมากกว่ามาพัฒนาร่วมกัน

วิชัยสรุปรวมแผนงานทั้งหมดของชินวะฯ ว่า ทางบริษัทแม่มองเป้าหมายให้ไทยกลายเป็นพอร์ตรายได้ที่แข็งแรง สามารถทำรายได้ปีละ 5-8 พันล้านบาทในอนาคต

ด้าน Yamabe เสริมว่า ชินวะฯ เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย และต้องการจะผลักดันศักยภาพการทำงานโดยเฉพาะงานก่อสร้างที่เทคโนโลยีและวิธีทำงานแบบญี่ปุ่น จะทำให้ก่อสร้างได้เร็วกว่าเท่าตัว ซึ่งการหมุนรอบได้เร็วจะทำให้เศรษฐกิจโตเร็วตามไปด้วย

 
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine