ปลายปีนี้ได้เห็นแน่! รถ EV เชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจน หลัง ‘โตโยต้า ทูโช-เดนโซ่’ ผนึก ‘เน็กซ์ พอยท์’ ร่วมพัฒนา - Forbes Thailand

ปลายปีนี้ได้เห็นแน่! รถ EV เชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจน หลัง ‘โตโยต้า ทูโช-เดนโซ่’ ผนึก ‘เน็กซ์ พอยท์’ ร่วมพัฒนา

โตโยต้า ทูโช และเดนโซ่ ประกาศจับมือ เน็กซ์ พอยท์ ร่วมพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจน รายแรกในไทย ตั้งเป้าไตรมาส 4 ปี 2567 จะได้เห็นต้นแบบ คาดเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียววิ่งได้ 1,000 กิโลเมตร


    ทาคาฮิโระ อาราอิ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวัตถุดิบยานยนต์และเศรษฐกิจนิเวศ บริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมลงนามในพิธีประกาศความร่วมมือระหว่างสามฝ่าย ซึ่งเป็นการประกาศจับมือกับบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าพาณิชย์ พลังงานไฮโดรเจน รายแรกในประเทศไทย

    โตโยต้า ทูโช ระบุว่า จากสถิติพบว่ารถบรรทุกนั้นปล่อยคาร์บอนราว 32% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในภาคการขนส่งของไทย ซึ่งกลุ่มโตโยต้า ทูโช มีโรดแมปในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% ในปี 2030 และเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ในปี 2050

    สำหรับการร่วมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจนในครั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งนำไปให้บริการในกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศ และมุ่งเน้นสำหรับการใช้งานในกลุ่มรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่

    โดยมีเป้าหมายให้รถที่ผลิตนั้นสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือสูงกว่ารถสันดาป สามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง และลดการปล่อยมลภาวะ

    “ในการทำรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนขึ้นมาในครั้งนี้ เราไม่ได้จะไปแข่งกับรถ BEV เชิงพาณิชย์ของเน็กซ์ พอยท์ เพราะรถที่กำลังจะพัฒนานั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ บรรทุกน้ำหนักได้มาก ขณะที่รถ BEV เหมาะกับรถที่ขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่ต้องบรรทุกน้ำหนักมากนัก


    ทั้งนี้ ในเฟสแรกทั้งสามบริษัทตั้งเป้าผลิตรถรุ่นต้นแบบได้เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนระยะที่สองจะผลิตรถขึ้นมาประมาณ 10-20 คัน เพื่อทดสอบการใช้ในภาคโลจิสติกส์เป็นระยะเวลา 3 ปี คือ 2025-2028 ส่วนในระยะที่ 3 จะขยายเซลล์เชื้อเพลิงนี้ไปที่รถอื่นๆ คือ รถบัส และรถบรรทุกขนาดเล็ก ในปี 2028 เป็นต้นไป



    “หากโครงการความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทางกลุ่มผู้พัฒนามีแผนที่จะขยายขนาดของโครงการเป็นฟลีทขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศ และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศจากภาคขนส่ง"


    ด้าน ‘คณิสสร์ ศรีวชิระประภา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX กล่าวว่า "ปัจจุบัน NEX ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมืองไทย เราเชื่อว่าพลังงานสะอาดไม่ได้มีแค่ BEV เท่านั้น แต่ยังมีพลังงานไฮโดรเจนด้วย ทำให้เราจับมือกับทั้งสองบริษัทที่อยู่ในกลุ่มพลังงานไฮโดรเจน และร่วมพัฒนารถดังกล่าวขึ้น ซึ่งเราหวังว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยมีรถพลังงานไฮโดรเจนดีๆ ได้ใช้งาน"

    คณิสสร์ กล่าวว่า ข้อดีของรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน คือ สามารถวิ่งได้ไกลกว่า ใช้เวลาในการเติมเชื้อเพลิงน้อยกว่า โดยคาดว่าจะรถต้นแบบจะวิ่งได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง

    “เราหวังว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตอบสนองความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถบัสโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 2 เท่าในกรณีที่ซื้อรถที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ

    รวมทั้งผลักดันให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนมาใช้รถ EV เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5 คาดว่าจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์พลังงานไฮโดรเจนได้สำเร็จในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้แน่นอน”


    “ความร่วมมือครั้งนี้ ทุกฝ่ายทั้งเน็กซ์ พอยท์ ,โตโยต้า ทูโช และเดนโซ่ มีส่วนร่วมในการออกแบบบูรณาการรถบรรทุก โดยโตโยต้า ทูโช รับผิดชอบทางด้านการประสานงานโครงการพัฒนา การจัดหาอุปกรณ์ที่เกียวข้องกับระบบไฮโดรเจน และให้ความร่วมมือในการประเมินประสิทธิภาพของยานพาหนะ,

    เดนโซ่ จะพัฒนาและจัดเตรียมข้อมูลของระบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคนิคและร่วมมือในการประเมินรถ

    และเน็กซ์ พอยท์ รับผิดชอบในการพัฒนารถ การผลิตและดัดแปลงยานยนต์ที่จะใช้เป็นพื้นฐานรวมถึงการติดตั้งและทดสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด”

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโตโยต้า ทูโช และ เดนโซ่ มีการพัฒนาระบบ Fuel Cell ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรงผ่านกระบวนการทางเคมีไฟฟ้า โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเผาไหม้ ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง โดยได้นำไปใช้งานด้านพลังงานต่างๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยนำมาใช้ในยานพาหนะที่ผลิตในประเทศไทย

    ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโครงการความร่วมมือแรก ที่จะร่วมกันพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปั๊มเติมเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนในไทยมีเพียง 1 แห่งเท่านั้น คือ สถานีต้นแบบเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ปตท., OR, โตโยต้า และบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส

    ซึ่งคณิสสร์มองว่าหากในอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนมีจำนวนมากพอ และภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะมีผู้ประกอบการที่พร้อมลงทุนขยายสถานีชาร์จเพิ่มเติมอีกแน่นอน

    คณิสสร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของ NEX มีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 9,000 คัน ดังนั้นบริษัทฯ จึงยังมีขีดความสามารถในการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

    และมองว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าของเน็กซ์ พอยท์ ซึ่งมีทั้งรถบัสไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้า โดยมาจากยอดขายรถ 5,556 คัน ซึ่งปัจจุบันยังมีคำสั่งซื้อค้างอยู่ 2,757 คัน เป็นรถบัสโดยสารไฟฟ้าเกือบ 1,000 คัน และรถบรรทุกไฟฟ้าอีกกว่า 1,000 คัน คาดว่าจะส่งมอบรถตามออเดอร์ได้ทั้งหมดในปี 2567

    นอกจากนี้ยังมีรถกระบะ EV จำนวน 229 คันที่จองในงาน Motor Expo เมื่อเดือนธันวาคม 2566 น่าจะส่งมอบได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2567 ทั้งนี้ความไว้วางใจจาก โตโยต้า ทูโช และ เดนโซ่ เป็นการตอกย้ำถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและศักยภาพของบริษัท โดยในครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะดันเป้าหมายของ NEX ให้เติบโตแข็งแกร่ง มีผลประกอบการแตะ 20,000 ล้านบาท ในสิ้นปี 2567 ตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การ์ทเนอร์คาดการณ์ตลาด EV ในยุคถัดไป ค่าผลิตถูกกว่ารถสันดาป แต่ค่าซ่อมแพง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine