มาไทยแล้ว! ‘Oyatsu no Jikan’ ร้านของหวานดังจากโตเกียว นำเข้าโดยทายาท ‘ซาฟารีเวิลด์’ - Forbes Thailand

มาไทยแล้ว! ‘Oyatsu no Jikan’ ร้านของหวานดังจากโตเกียว นำเข้าโดยทายาท ‘ซาฟารีเวิลด์’

โอยัตสึ โนะ จิกัน (Oyatsu no Jikan) ร้านของหวาน Kakigori จากเชฟระดับ 2 ดาวมิชลินจากโตเกียวที่ต้องจองล่วงหน้า 2-3 เดือน มาถึงไทยแล้ว จับมือทายาทซาฟารีเวิลด์ เปิดร้านนอกญี่ปุ่นครั้งแรกพรุ่งนี้ ที่โครงการ Velaa สินธร วิลเลจ


    บริษัท คชา บราเธอร์ส จำกัด เจ้าของแบรนด์คชา บราเธอร์ส ผู้นำธุรกิจของหวานสไตล์ญี่ปุ่น อาทิ แบรนด์ Kyo Roll En, Teraoka Gyoza, Mont Blanc และ Jerome Cheesecake ประกาศกลับมาลงทุนขยายธุรกิจเบเกอรี่และขนมหวานเชิงรุกอีกครั้ง โดยเตรียมเปิดร้าน “Oyatsu no Jikan” ร้านของหวาน Kakigori ชื่อดังระดับเชฟ 2 ดาวมิชลินจากโตเกียวในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย. 2567) ที่ชั้น G โครงการเวลา สินธร วิลเลจ ซอยหลังสวน กรุงเทพฯ

    เดช คิ้วคชา รองกรรมการผู้จัดการและเชฟใหญ่ บริษัท คชา บรา เธอร์ส จำกัด แชมป์ขนมหวาน La Liste Pastry Chef of the Year 2023 เปิดเผยว่า “Oyatsu no Jikan” คือร้านน้ำแข็งไสสไตล์ญี่ปุ่นสุดฮอตจากกรุงโตเกียว ที่ต้องจองคิวล่วงหน้าหลายเดือนในญี่ปุ่น โดยการเปิดสาขาในไทยครั้งนี้เป็นการเปิดสาขาแรกนอกญี่ปุ่น


    โดยร้านนี้เป็นของเชฟ Hiroyasu Kawate เชฟระดับ 2 ดาวมิชลินติดต่อกันกว่า 6 ปี และอันดับที่ 2 ร้านอาหารยอดเยี่ยมในเอเชียจาก Asia's 50 Best Restaurant 2024 ภายใต้ชื่อร้าน “Oyatsu no Jikan” by Azuki to Kouri

    “โดยส่วนตัวผมชอบปั้นแบรนด์ตัวเองมากกว่า แต่ได้รู้จักกับเชฟ Kawate มากว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยเปิดร้าน Florilège ร้านอาหารฝรั่งเศสแนวโมเดิร์น 2 ดาวมิชลิน ที่โตเกียว แต่ด้วยความชื่นชอบและหลงใหลในอาหารและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัว และการได้มีโอกาสร่วมงานอีเวนต์ โดยไปทำของหวานที่ร้านของเชฟที่ญี่ปุ่น ทำให้มีความคุ้นเคย และต่างก็ชื่นชอบในผลงานซึ่งกันและกัน จึงตัดสินใจนำแบรนด์ ‘Oyatsu no Jikan’ by Azuki to Kouri มาเปิดที่เมืองไทยเป็นที่แรกของโลกที่อยู่นอกญี่ปุ่น” เดชบอก


    คชา บราเธอร์ส ได้ศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคตั้งแต่ช่วง Covid-19 จนถึงปัจจุบัน เล็งเห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมุ่งเจาะกลุ่มตลาดไฮเอนด์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เน้นสินค้าที่เอ็กซ์คลูซีฟ หรือจับต้องยาก โดยมีจุดขายหรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ สินค้า Collaboration กับเชฟมิชลิน หรือขนมหวานที่สามารถสร้างกระแสในโลกโซเชียลได้

    บริษัทได้นำร่องเปิดตัวพรีเมียมแบรนด์ ‘Mont Blanc’ ซึ่งเป็นแบรนด์ของคชา บราเธอร์สเอง สาขาแรกที่เกษรวิลเลจ เมื่อปีที่ผ่านมา นำเสนอไอศกรีมโคนท็อปด้วยเส้นสปาเกตตี้รสชาเขียว จนเกิดกระแสมีลูกค้าต่อคิวยาวเป็นเวลาหลายเดือน

    และในเวลาต่อมาได้สิทธิ์นำเข้าชีสเค้กหน้าไหม้อันดับ 1 ของญี่ปุ่น แบรนด์ ‘Jérôme Cheesecake’ โดยเชฟระดับ 3 ดาวมิชลิน ซึ่งเป็นชีสเค้กที่อยู่ในกระแสและโด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงโควิด ติดอยู่ในลิสต์ที่นักท่องเที่ยวรวมถึงชาวไทยต้องซื้อกลับ เข้ามาทำตลาดในไทยและอาเซียน ถือเป็นแบรนด์นำเข้าพรีเมียมแบรนด์แรก และ “Oyatsu no Jikan” เป็นแบรนด์พรีเมียมนำเข้าแบรนด์ที่ 2 ของพอร์ต

    “ผมคิดว่ามันหมดยุคการทำสินค้าแมสที่ต้องเปิดร้านครั้งละ 10-20 สาขาต่อปี เพราะไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยน มีความต้องการสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ เฉพาะตัวมากขึ้น แม้จะนำเข้าพรีเมียมแบรนด์ เราก็จะเปิดแบรนด์เราเองด้วย แต่เน้นพรีเมียม เราจะกลับมาเปิดแบรนด์สฟรี (Sfree) คอนเช็ปต์ใหม่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่เดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากหยุดขยายภายใต้แบรนด์นี้มาถึง 7 ปีเต็ม” เดชบอก

    สำหรับ Oyatsu no Jikan มีเมนูให้เลือกหลากหลาย อาทิ เมนู Milk & Meringue Kakigori น้ำแข็งไสรสนมไส้ถั่วแดงญี่ปุ่นเนื้อหวานมัน พร้อมเมอแรงค์กรอบๆ


    รวมถึง Avocado Kakigori เมนูที่เดชร่วมคิดขึ้นมาเป็นพิเศษกับเชฟคาวาเตะ (Kawate) และ French Toast เนื้อขนมปังแบบ Brioche (บริออช) หรือขนมปังฉ่ำเนยชุบไข่สัญชาติฝรั่งเศส ทานคู่กับโฟมถั่วแดง และเกลือทะเล


    เชฟ Kawate กล่าวว่า เมนูขนมหวานที่ร้านนี้ ทุกเมนูเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ไม่ใช้น้ำเชื่อม ใช้ผลไม้และของสดที่ผลิตแบบวันต่อวัน มีคุณภาพเดียวกันกับที่ใช้ในร้านที่ญี่ปุ่น


    นอกจากเมนูที่นำมาจากญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเมนูที่ทำขึ้นตามฤดูกาลคิดขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับคนไทย อาทิ เมนู สตรอเบอร์รี่และมัทฉะ และเมนู Collaboration ที่ร่วมคิดค้นกับเชฟเดช ราคาของหวานที่ร้านจะอยู่ที่ 150-420 บาท

    นอกจากเมืองไทยแล้ว คชา บราเธอร์ส ยังมองหาโอกาสขยายธุรกิจในเอเชียด้วย อาจจะเริ่มจากเจอโรมชีสเค้ก ที่ได้สิทธิ์ทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย 10 ปี โดยการขยายไปต่างประเทศของเจอโรมชีสเค้ก จะอาศัยการผ่านพาร์ทเนอร์ และไปในหลายฟอร์แมต ทั้งคาเฟ่ ร้านป็อบอัพ หรือคีออสขายเค้ก

    “ต่อจากนี้ เราจะหาแบรนด์ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมความแข็งแรงของพอร์ต แบรนด์ที่นำเข้าต้องเป็นท็อประดับโลกในแต่ละ category แต่เราจะหลีกเลี่ยงธุรกิจที่ come and go เพราะต้องการสร้างธุรกิจที่มั่นคงในระยะยาว” เดช กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไอศกรีมผสมเครื่องดื่ม! ‘วอลล์’ จับมือ ‘อินทนิล’ รังสรรค์ 6 เมนูแปลกใหม่คลายร้อน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine