ไทยมี Influencer 2 ล้านคน หวั่น 'คอนเทนต์อวดรวย' สร้างค่านิยมผิดชี้นำสังคม - Forbes Thailand

ไทยมี Influencer 2 ล้านคน หวั่น 'คอนเทนต์อวดรวย' สร้างค่านิยมผิดชี้นำสังคม

ปัจจุบันประเทศไทยมี Influencer ราวๆ กว่า 2 ล้านคน สภาพัฒน์ฯ หวั่นการสร้างค่านิยมผิดชี้นำสังคม โดยที่ผ่านมากลุ่มคนทำอาชีพดังกล่าวนิยมทำคอนเทนต์อวดรวย ชักจูงใจให้คนหันมาเล่นพนันผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น จนยอดนักพนันคนรุ่นใหม่พุ่งสูงขึ้นถึง 3 ล้านคน


    สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาพรวมปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาบางส่วนแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้และเสพสื่อจากผู้คนในสังคม โดยหยิบยกเอาข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 มาแสดงให้เห็นว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวน Influencer รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน 

    ประเทศไทยมีจำนวน Influencer ราวๆ กว่า 2 ล้านคน ถือเป็นอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยการขยายตัวเพิ่มขึ้นของ Influencer สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือรีวิวสินค้า ทั้งนี้ ภาพรวมของปี 2566 ที่ผ่านมา อาชีพ Influencer สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกได้สูงถึง 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี โดยการเป็น Influencer ในไทย ผู้คนต่างให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ค่อนข้างสูง เพราะมีราคาโดยเฉลี่ยต่อโพสต์นับตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไป 

    อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิต Content และการให้ความสำคัญกับ Engagement ของ Influencer บางราย มักมีการสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่จึงอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมได้หลายประการ อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 มีจำนวนผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากถึง 7,394 บัญชี สร้างจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันสูงถึง 5,061 เรื่อง อีกทั้งยังมีการชวนเชื่อชักจูงทำในสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ การใช้ Influencer โฆษณาเชิญชวนเว็บพนันออนไลน์ผ่าน ซึ่งในปี 2566 พบว่า คนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์สูงถึงประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนราว 7.4 แสนคน 

    นอกจากนี้ Influencer บางกลุ่ม ยังนิยมสร้าง content เนื้อหาบางประเภทที่แม้จะไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่ก็อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคมได้ อาทิ Content “การอวดความร่ำรวย” เป็นต้น และจากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กลุ่ม Gen Z ร้อยละ 74.8 เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด รวมถึงการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง โดยทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบในการสร้างค่านิยมที่ผิดให้แก่เด็กและเยาวชนในสังคม เช่น การก่อสร้างหนี้เพื่อหาเงินมาซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสนิยมผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งตัวอย่างข้างต้น คือตัวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของ Influencer ต่อสังคมในหลายแง่มุม 

    


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Knight Frank เผยอีก 20 ปี ‘ชาวมิลเลนเนียล’ จะกลายเป็นเศรษฐี รับมรดกจนมั่งคั่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine