แนะรับมือ Digital Native มุ่งลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล - Forbes Thailand

แนะรับมือ Digital Native มุ่งลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

เทรนด์การเติบโตของกลุ่ม Digital Native ที่มีสัดส่วนร้อยละ 50 ของประชากรโลก ชี้แนวโน้มลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล NFT กว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา เปิดประตูนักการตลาดสู่โลกเสมือน (เมตาเวิร์ส) การทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ Blockchain


    ด้วยจำนวนประชากรโลกในปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล (Digital Native) ทำให้เห็นการเคลื่อนตัวของโลกเสมือน (เมตาเวิร์ส) เข้ามาทับซ้อนกับโลกจริงเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งพัฒนาการของ Web 3.0 เปิดประตูสู่ประสบการณ์ใหม่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่สามารถรับผลตอบแทน (Earn) จากการทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม และ Blockchain ที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ทำให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Non-Fungible Token หรือ NFT มากขึ้น

    เซบาสเตียน บอร์เกต (Sebastien Borget) ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีโอโอของ The Sandbox แพลตฟอร์มโลกเสมือนบนเทคโนโลยีบล็อกเชน The Sandbox Metaverse เปิดเผยว่า จากรายงานของสหประชาชาติ “World Population Prospects 2022” ปัจจุบันมีชาวดิจิทัล ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลกแล้ว และกลุ่มคนที่เติบโตมาในยุคดิจิทัล (Digital Native) เหล่านี้มีการบริโภคคอนเทนต์ดิจิทัล โดยเฉลี่ยมากกว่า 12 ชม./วัน มากกว่าการดูทีวี หรืออ่านหนังสือพิมพ์

Sebastien Borget


    ขณะเดียวกัน มีผลสำรวจระบุว่า มากกว่า 75% ของกลุ่มคน Gen Z ไม่ได้อยากเป็นเพียงผู้บริโภคคอนเทนต์อีกต่อไป แต่ต้องการเป็นผู้สร้าง (Creator) คอนเทนต์ดิจิทัลเองด้วย เช่น ออกแบบตัวละคร (คาแรคเตอร์) ของตัวเองในเกม ที่จะเป็นตัวตนของตัวเองต่อไปในระยะยาวบนโลกออนไลน์ อีกทั้งประชากรกลุ่มนี้ ยังใช้จ่ายเงินไปกับคอนเทนต์ดิจิทัล และสินทรัพย์ดิจิทัล มากกว่าการซื้อสินทรัพย์ในโลกจริง โดยในปี 2565 มีมูลค่าการทำธุรกรรมผ่าน NFT สูงถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มบน Web 3.0 ได้ทะลุหลัก 100 ล้านคนไปแล้ว

    “เมตาเวิร์ส จึงเป็นโอกาสใหม่ของแบรนด์ต่างๆ ที่จะเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ด้วยการสร้างพื้นที่แบบเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแหล่งรวมแบรนด์ และความคิดสร้างสรรค์ เป็นช่องทางพบปะกับกลุ่มเป้าหมายหรือแฟนของแบรนด์ ทำกิจกรรมร่วมกัน เล่นเกม และคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้งานที่อยู่ในเมตาเวิร์สของ Sandbox เพื่อรองรับเป้าหมายสูงสุด คือ การเพิ่มศักยภาพให้กับครีเอเตอร์ ในการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ผ่านโลกเสมือนจริงบนโซเชียล (Social Immersive) ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเจ้าของสินทรัพย์/คอนเทนต์ดิจิทัลอย่างแท้จริง” เซบาสเตียนกล่าว

    ปัจจุบัน แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สของ The Sandbox มีผู้ใช้งานมากกว่า 5 ล้านบัญชี ครอบคลุม 150 ประเทศทั่วโลก และมีระบบนิเวศทางธุรกิจ ประกอบด้วย พันธมิตรระดับโลกจากวงการต่างๆ กว่า 700 ราย เป็นแหล่งรวมคอนเทนต์และแบรนด์ระดับโลกรวมทั้งของไทยกว่า 400 แบรนด์ ครอบคลุม แฟชั่น กีฬา เกม เพลง บันเทิง การเงิน-การธนาคาร การศึกษา ช้อปปิ้ง เป็นต้น เอเยนซี่มากกว่า 200 ราย สตูดิโอเกมกว่า 100 ค่าย รวมถึงสถาบันการศึกษา และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี


ประเทศไทยติดท็อป 5 เอเชียบน Metaverse

    เซบาสเตียน กล่าวว่า ร้อยละ 99 ของสิ่งที่อยู่บนเมตาเวิร์ส ถูกสร้างด้วยมือของผู้ใช้งาน และคอนเทนต์จาก
แบรนด์ต่างๆ ซึ่งจะนำวัฒนธรรมของแบรนด์เข้ามาในโลกเสมือนแห่งนี้ และเปิดให้ผู้ใช้งาน ผสมผสาน และสร้างให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่จากการ Own, Build, Play, Meet and Earn ด้วยกันบนเทคโนโลยี Blockchain มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ ในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ โดยออกแบบให้ อวาตาร์ เป็นตัวแทนตัวตนในการทำกิจกรรมต่างๆ (socialize) และเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นเสมือนการเตรียมพร้อมสิ่งที่จำเป็นในการสร้างรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะสามารถสร้างงานใหม่ให้กับอีกหลายล้านคน

    ปัจจุบัน The Sandbox มีฐานผู้ใช้งาน ครีเอเตอร์ และแบรนด์พันธมิตรจากเอเชียถึงร้อยละ 40 โดยประเทศไทย เป็นตลาดสำคัญ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก และติด 1 ใน 5 ของเอเชีย บริษัทจึงมองเห็นโอกาสอย่างมาก และเข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยแบรนด์ในประเทศไทยสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมบน Sandbox ได้แก่ ทำงานร่วมกับทีมของ SCB 10X ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของประเทศไทย ที่เข้ามาซื้อที่ดินตั้งสำนักงานใหญ่บนเมตาเวิร์สของ The Sandbox ร่วมกับพันธมิตรสตูดิโอเกมในไทย ออกแบบเกมเล่นสงกรานต์เสมือนจริง มีผู้เข้าร่วมทั้งจากโลกจริง และเมตาเวิร์สรวมกว่า 22,300 คน ใช้เวลาเล่นเฉลี่ยต่อคน 23 นาที เป็นต้น

    “สิ่งที่พบใน The Sandbox ก็คือ มีคนหลากหลายวิชาชีพเข้ามาอยู่ในโลกเสมือน ทั้งสถาปนิก นักออกแบบ บริษัทรับจัดงาน นักจัดการเนื้อหา และอื่นๆ ขณะที่หลายคนได้เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่บนที่ดิน และ NFT ในโลกเสมือนแห่งนี้ จึงมองว่า ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น (Prime Positions) ที่จะเก็บเกี่ยวโอกาสจากตรงนี้ เราจึงได้เปิดตัวโครงการ The Sandbox Partner Program เพื่อนำจุดแข็งของเครือข่ายอีโคซิสเต็มที่มีอยู่ทั่วโลก เข้ามาเพิ่มทักษะให้กับเอเยนซี่ในประเทศไทยที่สนใจ ผ่านการเวิร์คชอป จัดอบรม จัดหาเครื่องมือ กรณีศึกษาต่าง ๆ ในการนำพาแบรนด์ลูกค้าขึ้นไปสู่พื้นที่บน Sandbox” เซบาสเตียนกล่าว

Alejandro Navia


ยกระดับสื่อสู่ Tokenized Media
    ด้าน อเลฮันโดร นาเวีย (Alejandro Navia) ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานของ NFT Now แพลตฟอร์มชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Web 3.0 กล่าวถึง อนาคตของสื่อ (Media) ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีกระแสหลักว่า จะมีตัวขับเคลื่อนสำคัญ คือ Tokenized Media ในการให้ความมั่นใจด้านความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบความเที่ยงตรงของสื่อ (Media) ได้อย่างโปร่งใส เพื่อป้องกันการส่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อน (Misinformation) จากข่าวออนไลน์ที่ถูกส่งออกไปจากสื่อสำนักต่างๆ ด้วยความไม่รู้ว่า ข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลปลอมที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบให้กับธุรกิจสูญเสียเป็นมูลค่ามหาศาล

    ในยุคที่สังคม “เชื่อถือ” สื่อและอิทธิพลของสื่อ ทาง NFT Now จึงมองถึงการพัฒนาเครื่องมือช่วย “ตรวจสอบยืนยัน” ข้อเท็จจริง โดย Sovereignty Tokenized Media Product-Suit เพื่อช่วยให้ Digital Publishers ค่ายต่าง ๆ สามารถปลดล็อคข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แพลตฟอร์มที่รองรับ Web 3.0 ได้อย่างยืดหยุ่น สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างโปร่งใส เพิ่มความน่าเชื่อถือให้แบรนด์
ปัจจุบัน NFT Now มีผู้ใช้งานที่เป็น Unique Users มากกว่า 1 ล้านคน ใน 196 ประเทศ และเข้าถึงผู้ใช้งานแล้ว 3 ล้านคน

    อีกทั้งมีพันธมิตรจากแบรนด์ดังทั่วโลกกว่า 30 ราย ซึ่งรวมถึง คริสตี้ส์ สถาบันประมูลเก่าแก่ แบรนด์กีฬาและแฟชั่นระดับโลก เช่น ไนกี้ ลาคอสต์ รวมถึง SK Telecom และ LG ของเกาหลี เพราะพันธมิตรเหล่านี้ เชื่อมั่นว่า โมเดลของแพลตฟอร์ม NFT Now จะตอบโจทย์ความต้องการ ในเรื่องการส่งมอบข้อมูลที่เป็น “ความจริง” และเชื่อถือได้ (Accountability) อีกทั้ง สามารถแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสิทธิในครอบครอง เพิ่มมูลค่าต่อยอดสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ในรูปแบบ NFT


AI หนึ่งในฟีเจอร์ที่ต้องมีใน Business App
    เบรนดอน แมทธีสัน (Brendon Matheson) Solution Area Specialist, App Innovation บริษัท ไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้กลายเป็นเครื่องมือปลดล็อคสู่การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบัน Generative AI ที่มีความสามารถสร้างเนื้อหาขึ้นใหม่จากข้อมูลเดิมที่ถูกใส่เข้าไป ได้เข้ามามีบทบาทเป็นหนึ่งใน Business Application ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สนับสนุนการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัล


Brendon Matheson


    ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ให้ความสำคัญกับแนวโน้มนี้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้พัฒนาร่วมกับ Open AI เพื่อนำ ChatGPT ซึ่งเป็นโปรแกรมเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ ไปติดตั้งในผลิตภัณฑ์ทุกตัวของไมโครซอฟท์ โดยปัจจุบันมีความสามารถรองรับได้มากกว่า 100 ภาษา เพราะมองว่าด้วยความสามารถที่โดดเด่นในการโต้ตอบบทสนทนา และการจดจำข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ และลูกค้าของไมโครซอฟท์

    นอกเหนือจากการให้ข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยเขียนอีเมล์โต้ตอบ ร่างเอกสาร ทำสไลด์ และสรุปการประชุมได้ และล่าสุดได้พัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ ChatGPT0-4 เพิ่มขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้ทางธุรกิจ

    ล่าสุด กลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้มีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จาก Generative AI เพื่อสนับสนุนความสามารถของ ONE SIAM Super App ให้รองรับการเข้าถึงธุรกรรม (Transaction) จากลูกค้าและพันธมิตรของสยามพิวรรธน์ได้บนแพลตฟอร์มเดียว เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่รองรับการเติบโตของ Digital Native ในปัจจุบัน



อ่านเพิ่มเติม : อาปิโก ไฮเทค เดินเครื่อง 2 โรงงานใหม่ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine