เมื่อปี 2558 Google ร่วมกับ Temasek ศึกษาวิจัย "เศรษฐกิจดิจิทัลไทย" และคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตไปถึง 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 แต่เมื่อผ่านไป 3 ปีหลังเริ่มการวิจัย Google ติดตามผลและพบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยโตเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้มีการปรับตัวเลขขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่าเดิมถึง 16%
“เราเคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่ารวม 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 แต่เนื่องจากทั้งภูมิภาคต่างเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราปรับตัวเลขคาดการณ์ในปี 2568 ขึ้นเป็น 2.4 แสนล้านเหรียญ” Ben King ผู้อำนวยการประจำประเทศแห่ง Google ประเทศไทย เป็นผู้รายงานการวิจัยและการปรับคาดการณ์ใหม่
ประเทศไทยเองมีการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่าที่คาดเช่นเดียวกับทั้งภูมิภาค ทำให้ Google และ Temasek ปรับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2568 ขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยงานวิจัยครั้งนี้ Google และ Temasek รวบรวมจาก 4 ภาคธุรกิจที่มองว่าส่งผลสูงต่อภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจบริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing), ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ, ธุรกิจสื่อและโฆษณาออนไลน์ และธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์
ปัจจุบัน ณ ปี 2561 Google ประเมินว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าตลาดใหญ่อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) รองจากอินโดนีเซีย
ในแง่การเติบโตรอบ 3 ปี ไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 27% หากวัดในแง่อัตราการเติบโต ประเทศไทยถือเป็นอันดับ 4 รองจาก อินโดนีเซีย (49%) เวียดนาม (35%) และฟิลิปปินส์ (30%)
มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญนี้คิดสัดส่วนเป็น 2.7% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรวมของภูมิภาค SEA ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 2.8% ของจีดีพี และต่ำกว่าสัดส่วนในประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพีประเทศที่ 6.5% King จึงมองว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
เศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 2558-2561 ภาคธุรกิจใดโตสูงสุด?
ภาพรวม 4 ภาคธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัลไทย มีทั้งส่วนที่โตต่ำกว่าคาดและมากกว่าที่คาด โดยกลุ่มที่โตน้อยกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อยคือ ธุรกิจบริการร่วมเดินทาง โต 22% ต่อปี จากเดิมประเมินว่าจะโต 25% ต่อปี และธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งโต 16% ต่อปี จากเดิมประเมินว่าจะโตได้ 18% ต่อปี
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสื่อออนไลน์ และ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซนั้นเติบโตสูงกว่าที่เคยประเมินไว้อย่างมาก คือสื่อออนไลน์โตพุ่ง 44% ต่อปีจากเดิมประเมินการเติบโตที่ 24% ต่อปี ขณะที่อี-คอมเมิร์ซเติบโตแรง 49% ต่อปี จากที่ประเมินกันว่าจะโต 30% ต่อปี
แต่ถ้าหากเทียบ 4 ภาคธุรกิจนี้ในแง่ขนาดตลาด ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ยังคงมีมูลค่าสูงสุดที่ 6.1 พันล้านเหรียญ รองมาคือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มูลค่า 3 พันล้านเหรียญ ธุรกิจสื่อออนไลน์ 2.4 พันล้านเหรียญ และธุรกิจบริการร่วมเดินทาง 700 ล้านเหรียญ
เทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัลไทยปี 2562
King รายงานว่า ภาพรวมตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นระยะเริ่มต้นของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค SEA แต่ตั้งแต่ปี 2562 การเติบโตมีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงคือ
- ธุรกิจดิจิทัล จากเดิมที่เน้นสร้างจำนวนผู้ใช้ให้สูงที่สุดและครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด จะเปลี่ยนมาเน้นให้ผู้ใช้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง
- จากเดิมตลาดมีผู้เล่นระดับโลกเข้ามาทำตลาดในท้องถิ่น จะกลายเป็นผู้เล่นท้องถิ่นออกไปทำตลาดระดับโลก
- เงินทุน (Funding) ที่เคยเป็นปัญหาของภูมิภาค ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป สะท้อนจากครึ่งปีแรก 2561 มีการระดมทุนในภูมิภาคนี้แล้ว 9.1 พันล้านเหรียญ (เกือบเท่ากับยอดระดมทุนตลอดปี 2560) ในจำนวนนี้ 28.6% เป็นเงินทุนสู่สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญ ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพรายกลางถึงเล็กยังมีโอกาสในการขยายธุรกิจ
- ปัญหาที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลได้รับการแก้ไข เช่น ปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความไว้วางใจของผู้บริโภค ฯลฯ เหลือเพียงประเด็นช่องทางชำระเงินออนไลน์ที่ยังติดขัด
ส่วนแต่ละ ภาคธุรกิจดิจิทัลไทย นั้น มีไฮไลต์สำคัญในการเติบโตแตกต่างกันไป ดังนี้
“อี-คอมเมิร์ซ”
- มูลค่าตลาดปี 2561 : 3 พันล้านเหรียญ
- มูลค่าตลาดคาดการณ์ปี 2568 : 1.3 หมื่นล้านเหรียญ
King กล่าวว่า ภาพรวมภูมิภาค SEA จะมีผู้เล่นหลักที่ครองตลาดจำนวนไม่มาก อาทิ Lazada, Shopee, Tokopedia ซึ่งในปีหน้าเป็นต้นไปแต่ละรายจะวางกลยุทธ์เพื่อให้ตนเองได้เป็นผู้นำของประเทศต่างๆ หรือผู้นำของตลาดประเภทสินค้า และจะไม่เน้นที่การดึงจำนวนผู้ใช้แต่เน้นการทำรายได้อย่างจริงจังแทน
- อ่านเพิ่มเติม ไพรซ์ซ่าชี้ภาพรวมอี-คอมเมิร์ซรุ่ง 2561-62 เติบโตปีละ 20-30% เปิด 4 เทรนด์สำคัญแนะผู้ค้าไทยเร่งปรับตัว
หมายเหตุ: Google และ Temasek เก็บข้อมูลอี-คอมเมิร์ซเฉพาะกลุ่มที่เป็น e-Market Place โดยไม่รวม Social Commerce ที่ผู้ขายมีการโพสต์ขายผ่านสื่อสังคมต่างๆ
“สื่อออนไลน์”
- มูลค่าตลาดปี 2561 : 2.4 พันล้านเหรียญ
- มูลค่าตลาดคาดการณ์ปี 2568 : 7 พันล้านเหรียญ
Google รายงานว่าการเติบโตที่สูงกว่าคาดมากมีกุญแจหลักจากความนิยมในบริการสตรีมมิ่งวิดีโอและเพลง รวมถึงเกมออนไลน์ ซึ่งความนิยมในบริการเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจลงโฆษณากับสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น และสื่อออนไลน์ทุกแขนงน่าจะเติบโตต่อเนื่อง
“ท่องเที่ยวออนไลน์”
- มูลค่าตลาดปี 2561 : 6.1 พันล้านเหรียญ
- มูลค่าตลาดคาดการณ์ปี 2568 : 2 หมื่นล้านเหรียญ
การเติบโตต่ำกว่าคาดที่ 16% ต่อปีนั้นเนื่องมาจากไทยมีฐานตลาดการท่องเที่ยวออนไลน์ค่อนข้างใหญ่อยู่แล้ว ทั้งจากสายการบินโลว์คอสต์ที่บูมมานาน และตลาด Online Travel Agency (OTA)
“บริการร่วมเดินทาง”
- มูลค่าตลาดปี 2561 : 700 ล้านบาท
- มูลค่าตลาดคาดการณ์ปี 2568 : 4 พันล้านบาท
การเติบโตต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย อยู่ที่ 22% ต่อปี เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในตลาด ผู้เล่นใหญ่ควบรวมกิจการกัน อย่างไรก็ตาม ปี 2561 นี้ธุรกิจบริการร่วมเดินทางได้ขยายไปสู่บริการอื่นๆ ที่มากกว่าบริการรถแท็กซี่ เช่น ส่งอาหาร ส่งพัสดุ ช็อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภค จึงเชื่อว่าในปีหน้าบริการร่วมเดินทางจะกลับมาเติบโตได้ดี
“อี-เพย์เม้นท์" ปัญหาของภูมิภาค
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลใน SEA นั้นมีอนาคตที่สดใสและเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี King กล่าวว่า ปัญหาหลักที่ได้รับการแก้โจทย์ช้ากว่าเรื่องอื่นๆ ในภูมิภาคนี้คือการมีระบบชำระเงินออนไลน์จำนวนมาก แต่ละบริษัทมักจะพัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์หรือกระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับใช้กับธุรกิจบางประเภท โดยยังไม่สามารถครอบคลุมไปใช้ชำระได้หลากหลาย
ทั้งนี้ Google Surveys ทำการสำรวจเมื่อไตรมาส 2/61 ทั่วภูมิภาค SEA พบว่าสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามว่ามีการใช้งานระบบชำระเงินออนไลน์อย่างสม่ำเสมอค่อนข้างต่ำ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% โดยประเทศไทยมีผู้ใช้ระบบชำระเงินออนไลน์เพียง 39% เท่านั้น
“ในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานเติบโตขึ้น แต่การใช้งานจริงยังต่ำอยู่ เพราะแต่ละกลุ่มธุรกิจไม่ได้ consolidate กับบริการอื่นๆ และแต่ละบริการเองก็ไม่ได้มีผู้นำชัดเจนด้วย ทำให้ผู้บริโภคค่อนข้างสับสนในการใช้งานจึงกลับไปสู่การใช้เงินสด ซึ่งเรามองว่าถ้าหากมีนโยบายรัฐที่ช่วยส่งเสริม หรือเอกชนเป็นพันธมิตรร่วมมือกัน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า” King กล่าวปิดท้าย