ไพรซ์ซ่าชี้ภาพรวมอี-คอมเมิร์ซรุ่ง 2561-62 เติบโตปีละ 20-30% เปิด 4 เทรนด์สำคัญแนะผู้ค้าไทยเร่งปรับตัว - Forbes Thailand

ไพรซ์ซ่าชี้ภาพรวมอี-คอมเมิร์ซรุ่ง 2561-62 เติบโตปีละ 20-30% เปิด 4 เทรนด์สำคัญแนะผู้ค้าไทยเร่งปรับตัว

ไพรซ์ซ่า เครื่องมือค้นหาและเทียบราคาออนไลน์ คาดการณ์ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยเติบโตปีละ 20-30% ช่วงปี 2561-62 ผู้บริโภคมั่นใจการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เปิด 4 เทรนด์ใหญ่ปี 2562 แนะผู้ค้าปรับตัว

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เครื่องมือค้นหาและเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ภายใต้แบรนด์ Priceza เปิดเผยว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยปี 2560 มีมูลค่าตลาดราว 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 1-2% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด ในขณะที่ปี 2561 เชื่อว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซจะเติบโตได้ 20-30% รวมถึงปี 2562 ที่จะยังคงเติบโตสม่ำเสมอ 20-30% สะท้อนให้เห็นว่า ช่องทางการขายอี-คอมเมิร์ซมีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ค้า สำหรับสถิติจากเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของไพรซ์ซ่าพบว่าการใช้งานมีการเติบโตขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 ไพรซ์ซ่ามีการเชื่อมโยงสินค้าเพื่อเปรียบเทียบในระบบ 51 ล้านรายการ โดยมีผู้ค้นหารวม 110 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านครั้ง จากจำนวนการค้นหาทั้งหมดนี้ มีสัดส่วนที่ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าออนไลน์คิดเป็นยอดขาย 3.06% ซึ่งเติบโตขึ้นจากสองปีก่อนอย่างมีนัยยะสำคัญ (ปี 2559 สัดส่วนการซื้อต่อการค้นหาทั้งหมดคิดเป็น 1.72% และปี 2560 สัดส่วนการซื้อ 2.81%) ทำให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจและได้รับความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เมื่อคิดราคาเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อ 1 ครั้งอยู่ที่ 1,469 บาท ทำให้ไพรซ์ซ่าเป็นผู้ช่วยปิดการขายให้กับผู้ค้าออนไลน์ไปแล้ว 1,980 ล้านบาทในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด
ทั้งนี้ ไพรซ์ซ่าเป็นแพลตฟอร์มที่ทำเงินจากยอดโฆษณาและค่าคอมมิชชั่น โดยปีหน้าบริษัทยังจะมีการเปิดแพลตฟอร์มใหม่คือ PSPN (Priceza Shopping Partner Network) ซึ่งเป็นการนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมาเชื่อมต่อช่วยเหลือผู้ค้าให้เข้าสู่การค้าออนไลน์ได้ดีขึ้น  

“เทรนด์ 1 – ถนนทุกสายมุ่งสู่อี-คอมเมิร์ซ”

ธนาวัฒน์ยังฉายภาพเทรนด์ตลาดอี-คอมเมิร์ซปี 2562 โดยแบ่งเป็น 4 เทรนด์หลักที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ธนาวัฒน์กล่าวว่า ปี 2562 เชื่อว่าจะเห็นการรุกหนักของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เข้ามาสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Google Shopping, Facebook Market Place, Messenger ร่วมกับ Kbank ในการทำระบบชำระเงินภายในช่องแชท, Kbank มี e-Market Place อยู่ภายในแอพพลิเคชั่น รวมถึง 3 ยักษ์ใหญ่วงการอี-คอมเมิร์ซคือ Lazada, Shopee และ JD.Central จะมีระบบค้นหา โซเชียลมีเดีย และการชำระเงินของตนเองเช่นกัน เทรนด์นี้จะทำให้โอกาสที่ผู้บริโภคไทยเข้ามาจับจ่ายในอี-คอมเมิร์ซมีสูงขึ้นกว่าเดิม  

“เทรนด์ 2 – โอกาสและความท้าทายบน e-Market Place”

e-Market Place 3 รายใหญ่ดังกล่าวปัจจุบันมีสินค้ารวมกัน 75 ล้านรายการ และธนาวัฒน์เชื่อว่าปีหน้าจะมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านรายการ อย่างไรก็ตาม 80% ของสินค้า 75 ล้านรายการนั้นเป็นสินค้า ‘cross-border’ ที่ส่งมาจากผู้ค้าต่างประเทศ โดย 3 หมวดหลักที่มีสัดส่วนสินค้าต่างประเทศสูงที่สุดคือ เครื่องกีฬาและกิจกรรมกลางแจ้ง, สินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และกลุ่มนาฬิกา-เครื่องประดับ ขณะที่หมวดที่มีสินค้าต่างประเทศน้อยที่สุดคือ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป และกลุ่มสุขภาพ-ความงาม “ร้านค้าในไทยจึงต้องแข่งขันกับร้านค้าต่างประเทศด้วย ดังนั้น ร้านค้าที่เป็นตัวกลางรับสินค้าจากจีนเข้ามาขายในไทยจะเป็นโมเดลธุรกิจที่แข่งขันยาก เนื่องจากสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายเองโดยตรง” ธนาวัฒน์อธิบาย  

“เทรนด์ 3 - ปีทองของ e-Payment”

“ปัจจุบัน COD (Cash on delivery – ชำระเงินสดปลายทาง) มีการใช้มากกว่า 50% ของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะผู้บริโภคต้องการความมั่นใจว่าได้สินค้าแน่นอนแล้วจึงจ่าย” ธนาวัฒน์กล่าว “แต่ปีหน้า เชื่อว่าระบบ e-Payment ที่ดีขึ้นมากจะทำให้ระบบ COD มีการใช้งานลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ” ระบบที่น่าจะเข้ามาแทนที่ ธนาวัฒน์ยกตัวอย่างบริษัท Grab ในมาเลเซียซึ่งมีการใช้ระบบ EOD หรือ e-Wallet on delivery “การชำระเงินปลายทางของผู้ซื้อจะไม่ได้เป็นการควักเงินสดแล้ว แต่เป็นการควักมือถือออกมาจ่าย เพราะช่วยผู้ค้าลดต้นทุนในการรับและจ่ายเงินสด และผู้บริโภคก็สบายใจ” ด้วยเหตุนี้ ธนาวัฒน์มองว่าปี 2562 บรรดายักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซและระบบชำระเงินจะรุกหนักกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองมากขึ้น เช่น Lazada e-Wallet, Airpay ของ Shopee หรือ Rabbit Line Pay โดยจะได้เห็นการจัดโปรโมชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลด สามารถคืนเงินได้เร็วกว่าถ้าส่งคืนสินค้า หรือเติมเงินล่วงหน้าเพื่อรับของพรีเมียม  

“เทรนด์ 4 – Omnichannel เป็นกุญแจสำคัญ”

ธนาวัฒน์กล่าวว่า แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มองว่าปีหน้าจะยิ่งมีการใช้ Omnichannel มากกว่าเดิม ทั้งจากเทรนด์ที่จะมี e-Market Place เพิ่มขึ้นทำให้สินค้าควรลงขายให้หลากหลายพื้นที่ รวมถึงการเปิดร้านออฟไลน์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะร้านออฟไลน์ช่วยสร้างสัดส่วนกำไรให้ร้านค้าได้มากกว่าการมีเฉพาะร้านออนไลน์ จากการที่ร้านออฟไลน์สามารถเป็นร้านทดลองหยิบจับสินค้า เป็นช่องทางไปรับหรือคืนสินค้าได้สะดวก การดึงลูกค้าเข้ามาในร้านยังช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าชิ้นใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ด้วย “ร้านค้าควรจะทำให้ทุกจุดขายหลอดรวมเป็นเนื้อเดียวกัน และไปอยู่ในทุกๆ ที่ที่ลูกค้าของคุณอยู่” นอกจากนี้ ธนาวัฒน์ยังทิ้งท้ายว่าร้านค้าควรจะใส่ใจการสร้างฐานข้อมูลลูกค้าด้วยตนเองให้มากกว่าเดิม โดยเก็บอย่างละเอียดทั้งข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า สินค้าที่ซื้อ จำนวน และราคา เพื่อโอกาสในการขายซ้ำ และลดการพึ่งพิงบริษัทอื่นในการเก็บข้อมูลแทน