“หัวเว่ย” ประกาศคิดค่าสิทธิให้ใช้สิทธิบัตรของบริษัทได้ - Forbes Thailand

“หัวเว่ย” ประกาศคิดค่าสิทธิให้ใช้สิทธิบัตรของบริษัทได้

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Jul 2023 | 05:00 PM
READ 1285

    หัวเว่ย (Huawei) ผู้ถือสิทธิบัตรรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ประกาศคิดค่าสิทธิ เพื่ออนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรเครื่องโทรศัพท์ ไวไฟ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้นได้

    ซ่ง หลิวผิง (Song Liuping) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย กล่าวว่า หัวเว่ยยินดีแบ่งปันนวัตกรรมล้ำสมัยในรูปแบบของสิทธิบัตรกับทั้งโลก สิ่งนี้จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

    ซ่ง หลิวผิง ได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวในงานสำคัญประจำปีที่ทางหัวเว่ยได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเซินเจิ้น โดยปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “เชื่อมขอบฟ้าแห่งนวัตกรรม แบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญาและขับเคลื่อนนวัตกรรม”

    กว่า 20 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในการส่งเสริมมาตรฐานไอซีทีกระแสหลัก เช่น กลไกเข้าและถอดรหัสสัญญาณเซลลูลาร์ ไวไฟ และมัลติมีเดีย


    งานนี้มีเซสชันแบ่งปันข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ครอบคลุมเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งที่บ้าน ระหว่างเดินทาง และที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยชั้นนำเกี่ยวกับ 5.5G, เทคโนโลยีเสียงและวิดีโอ รูรับแสงที่ปรับได้ 10 ขนาดในโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายตรวจจับสิ่งกีดขวางทั่วไปที่ช่วยให้รถยนต์ระบุวัตถุผิดปกติที่อยู่นอกรายการสิ่งกีดขวางทั่วไปได้ และอัลกอริทึมที่ช่วยให้จัดตารางการผลิตอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพได้

    หัวเว่ยมีแผนอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (SEP) ได้ โดยให้สิทธิ์อย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ (FRAND) นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ประกาศคิดค่าสิทธิสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องโทรศัพท์ระบบ 4G และ 5G อุปกรณ์ไวไฟ 6 และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคส่วนที่หัวเว่ยถือครองสิทธิบัตรที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยมีเพดานค่าสิทธิสำหรับเครื่องโทรศัพท์ระบบ 4G อยู่ที่ 1.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย และเครื่องโทรศัพท์ระบบ 5G อยู่ที่ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย ส่วนค่าสิทธิสำหรับอุปกรณ์ไวไฟ 6 อยู่ที่ 0.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย ค่าสิทธิสำหรับอุปกรณ์ IoT-Centric อยู่ที่ 1% ของราคาขายสุทธิ หรือไม่เกิน 0.75 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าสิทธิในอุปกรณ์ IoT-Enhanced อยู่ที่ 0.3-1 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย

    อลัน ฟ่าน (Alan Fan) รองประธานและหัวหน้าแผนกสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของหัวเว่ย ย้ำว่าผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ได้ค่าตอบแทน และได้รับการสนับสนุน เพื่อให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างยั่งยืน

    เขากล่าวว่า “หัวเว่ยใช้แนวทางที่สมดุลในการออกใบอนุญาตสิทธิบัตร เราเชื่อว่าค่าสิทธิที่สมเหตุสมผลจะผลักดันให้เกิดทั้งการสร้างสรรค์และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปใช้”

    จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้ออกใบอนุญาตใช้สิทธิบัตรระดับทวิภาคีเกือบ 200 ฉบับแล้ว นอกจากนี้ บริษัทกว่า 350 แห่งได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของหัวเว่ยได้ผ่านกลุ่มสิทธิบัตร ใบอนุญาตเหล่านี้ทำให้หัวเว่ยได้ค่าลิขสิทธิ์เป็นสามเท่าของการเก็บค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด ขณะที่รายได้จากการออกใบอนุญาตในปี 2565 รวมกันอยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    โทมัส ลามาเนาคัส (Tomas Lamanauskas) รองเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมงานนี้ผ่านทางออนไลน์ โดยเปิดเผยว่า หัวเว่ยมีบทบาทสำคัญในกระบวนการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมที่คุ้มค่า เสมอภาค และยืดหยุ่น

    ลามาเนาคัส กล่าวเสริมว่า “ในขณะที่เรายังคงหาทางรับมือความท้าทายระดับโลก และมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) นโยบายและกรอบการทำงานที่เอื้ออำนวยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมเติบโตได้”

    หัวเว่ยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาไปถึง 9.773 แสนล้านหยวนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 หัวเว่ยลงทุนวิจัยและพัฒนาไป 1.615 แสนล้านหยวน หรือ 25.1% ของรายได้ ขณะที่กระดานจัดอันดับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป (EU Industrial R&D Investment Scoreboard) ประจำปี 2565 ยกให้หัวเว่ยอยู่อันดับ 4 ของโลก

    หัวเว่ยได้ทำข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ซุมซุง (Samsung) และออปโป้ (Oppo) และผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) อาวดี้ (Audi) บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) ปอร์เช่ (Porsche) ซูบารุ (Subaru) เรโนลต์ (Renault) ลัมโบร์กีนี (Lamborghini) และเบนท์ลีย์ (Bentley)

    ฟ่านเปิดเผยว่า หัวเว่ยยังเป็นผู้สนับสนุนองค์กรอุตสาหกรรมโอเพนซอร์สรายใหญ่ ๆ ระดับโลกอีกด้วย

    นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวเว็บไซต์อนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างเป็นทางการภายในงานนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการออกใบอนุญาตระดับทวิภาคีของหัวเว่ย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงไวไฟ และ IoT เซลลูลาร์

    แรนดัลล์ อาร์ เรเดอร์ (Randall R. Rader) อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์สหรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ทุกคนได้ประโยชน์”


    อ่านเพิ่มเติม : GIS ผนึก MAAI by KTC เปิดตัว "Loyalty Program" แพลตฟอร์มพร้อมใช้แบบครบวงจร ตอบโจทย์สมาชิกยุคดิจิทัล

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine