“ถ้าไม่เรียนรู้ ก็อยู่ไม่ได้” วิกฤต Gen X เมื่ออายุมากก็หางานยากตามไปด้วย - Forbes Thailand

“ถ้าไม่เรียนรู้ ก็อยู่ไม่ได้” วิกฤต Gen X เมื่ออายุมากก็หางานยากตามไปด้วย

ไม่ว่าใครก็ต้องมีอายุมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับอายุก็คือทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ที่จะช่วยเปิดโอกาสในหน้าที่การงาน แต่ความจริงกลับไม่ได้ราบรื่นเช่นนั้น เพราะทัศนคติกีดกันคนอายุมาก ทำให้ชาว Gen X หลายต่อหลายคนต้องเผชิญความยากลำบากในการหางาน


    สำนักข่าว BBC ได้เล่าเรื่องของ Nick ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์วัย 49 ปีในสหรัฐอเมริกาที่ส่งใบสมัครงานไปยังบริษัทหลายร้อยแห่งหลังถูกเลย์ออฟเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2023 ที่ผ่านมา เขาถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์กับบริษัท 10 แห่ง และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 4 แห่ง ทว่าทุกครั้งผู้ที่ได้ตำแหน่งงานนั้นไปจะเป็นคนที่อายุน้อยกว่าเขาเสมอ

    “มันยากที่จะไม่เก็บมาคิดมากครับ” Nick กล่าว “ผมมีประวัติการทำงานดีเยี่ยมพร้อมประสบการณ์มากมาย บริษัทควรจะรู้สึกโชคดีที่มีผมไม่ใช่เหรอ?”

    ระหว่างการหางาน Nick ได้รับคำแนะนำมากมาย หนึ่งในนั้นคือการให้เขานำปีการศึกษาออกจากประวัติบน LinkedIn เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างคำนวณอายุของเขา แต่นั่นไม่ใช่แค่ครั้งเดียวที่ Nick ถูกทักเรื่องอายุ

    การได้พบกับผู้จัดการฝ่ายจ้างงานคนหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ “เขาบอกผมว่า ‘คุณไม่มีทางสร้างจุดเปลี่ยนในหน้าที่การงานได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว’ ครับ” Nick เล่า “ความหมายโดยนัยก็คือ งานก่อนหน้านี้อาจเป็นงานสุดท้ายของผม ชัดเลยว่าเป็นการเหยียดอายุ”

    การเหยียดอายุ (Ageism) เป็นประเด็นในตลาดงานมานานแล้ว แต่ผลจากการเลย์ออฟครั้งใหญ่ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างฉับไว ตลอดจนการมาของปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ชาว Gen X ต้องเผชิญความยากลำบากมากกว่าประชากรรุ่นอื่นๆ

    จากการสำรวจในปี 2022 ของ AARP พนักงานวัยระหว่าง 40-65 ปีประมาณ 80% ต่างเผชิญปัญหาการแบ่งแยกเรื่องอายุในที่ทำงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เปอร์เซ็นต์ที่เห็นยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ AARP เริ่มทำแบบสำรวจว่าด้วยประเด็นดังกล่าวในปี 2003


    Gen X คือกลุ่มคนที่มีอายุ 44-59 ปี และกำลังดิ้นรนหางานทำ ความยากประการแรกคือตำแหน่งระดับหัวหน้าที่ปกติแล้วควรจะเป็นของพวกเขายังไม่เปิดรับ เพราะบูมเมอร์หลายคนยังไม่เกษียณและทำงานต่อ แต่พอถึงเวลาที่ตำแหน่งงานพวกนี้เปิดรับ อายุก็กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วส่งผลให้บรรดาผู้จัดการทั้งหลายหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเชื่อว่าพวกเขาจะปรับตัวได้ดีกว่า Gen X แม้เหล่าผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าความคิดแบบนี้หากไม่ได้ผิดพลาดไปเสียทั้งหมด ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล

    “นับเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากสำหรับกลุ่ม mid-career โดยแท้ที่ต้องมางัดข้อกับอคติด้านอายุ” คือความคิดเห็นของ Christina Matz รองศาสตราจารย์แห่ง Boston College School of Social Work และผู้อำนวยการ Center on Aging and Work

    เธอกล่าวว่า “ชาว Gen X จำนวนมากกำลังอยู่ในช่วงชีวิตที่เรียกว่า แซนด์วิช คือถูกประกบด้วยความรับผิดชอบจาก 2 ทาง ได้แก่ การเลี้ยงลูก และการดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา พวกเขาต้องแบกรับภาระทั้งด้านเวลาและการเงิน”

    ผู้คน Gen X จำนวนมากไม่พร้อมจะหยุดทำงานในเวลานี้ ไม่ว่าจะเพราะยังมีค่าใช้จ่ายสำคัญทำให้ต้องใช้เงิน ยังต้องออมเงินเพื่อเกษียณ หรือยังไม่อยากสูญเสียช่วงเวลาขาขึ้นในอาชีพการงาน

    ปัจจัยทั้งหมดนี้ กอปรกับความคิดที่ว่าชาว Gen X ไม่เหมาะกับงาน ทั้งตำแหน่งที่ต้องคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือตำแหน่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์ระดับสูง ทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง Matz ตั้งคำถามว่า “Gen X ติดอยู่ตรงกลาง แล้วพวกเขาเลือกอะไรได้บ้าง?”


อ่อนแอแต่อบอุ่น นิสัยดีแต่ไม่มีความสามารถ

    การกีดกันด้านอายุ (Age Discrimination) ผิดกฎหมายในหลายประเทศ แม้ยากจะพิสูจน์ แต่ผลกระทบที่มีต่ออาชีพการงานของผู้คนก็เป็นเรื่องจริงอย่างมาก ในบางกรณี เช่นกรณีของ Nick พนักงานอายุมากจะถูกปฏิเสธงาน บางครั้งพวกเขาก็ถูกมองข้ามในการพิจารณาคนมารับตำแน่งหัวหน้า การส่งไปฝึกฝนเพิ่มเติม และโอกาสในการพัฒนา

    ทั้งนี้ มีผลการศึกษาชี้ว่าพนักงานอายุมาก (ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงอายุ 55-64 ปี) และพนักงาน mid-career (อายุ 45-54 ปี) มักเผชิญการเหมารวมและความเข้าใจแบบผิดๆ ต่างๆ โดยชาว Gen X ซึ่งเกิดระหว่างปี 1965-1980 ยืนคร่อมอยู่ระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้ หมายความว่าพวกเขาโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

    ในบรรดาอคติทั้งหมด พนักงานที่มีอายุมากบ่อยครั้งถูกมองว่าเป็นพวก “อ่อนแอแต่อบอุ่น (Doddering but dear)” ซึ่งเป็นสำนวนหมายถึง คนที่มีอายุมากมักเป็นคนใจดี อบอุ่น น่ารัก แต่อ่อนแอ สิ้นไร้ความสามารถ

    “พวกเขาถูกแปะป้ายว่าทำงานได้ช้าลงและมีแนวทางของตัวเองชัดเจน มุมหนึ่งก็ดี แต่อีกมุมก็เป็นข้อเสียร้ายแรง ผู้คนในวัยนี้มักถูกมองว่าตามโลกไม่ทัน ไม่ก้าวหน้า และไร้ความสร้างสรรค์” Matz อธิบาย

    ผู้หญิงยังต้องเผชิญอุปสรรคที่เหนือกว่า สตรีช่วงวัย 40 ปีมักถูกมองว่าต้องยุ่งกับภาระความรับผิดชอบในครอบครัวแน่ๆ ซึ่ง Matz กล่าวว่า “การเป็นผู้หญิงและอายุมากด้วยถือเป็นความโชคร้ายสองชั้น”

    “สมมติฐานเหล่านี้ไม่เพียงแค่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่บ่อยครั้งที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง โดยเฉพาะในสังคมการทำงานทุกวันนี้” Anne Burmeister นักวิชาการจาก Academy of Management และศาสตราจารย์จาก University of Cologne ประเทศเยอรมนี กล่าว เธอยังชี้ว่าแรงงานในหลายระบบเศรษฐกิจกำลังมีอายุมากขึ้น และอคติว่าด้วยอายุที่มีมาโดยตลอดก็ “ไม่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจเอาเสียเลย”


ประสบการณ์สูง ทักษะดิจิทัลต่ำ...จริงหรือ?

    Matt Hearnden อดีตผู้สรรหาบุคลากรระดับผู้บริหารที่ผันตัวเป็นโค้ชด้านอาชีพในลอนดอนเผยว่า เขาได้สังเกตการเหยียดอายุกรณีต่างๆ จากการสอนลูกค้า Gen X ในการหางาน

    “ในบรรดาผู้จัดการด้านการสรรหาบุคลากร มีแนวคิดที่ว่าพนักงานอายุมากตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ค่อยทัน” เขาเล่า “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเขารู้สึกว่าผู้สมัครงานที่มีอายุน้อยนั้นเปิดใจและสั่งสอนให้เป็นไปตามต้องการได้ง่ายกว่า”

    เขาเคยเป็นโค้ชให้วิศวกรซอฟต์แวร์วัย 40 ปลายๆ คนหนึ่งที่กำลังพยายามหางานทำเพื่อจุนเจือครอบครัวหลังถูกเลย์ออฟจากบริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ลูกค้าของเขาคนนี้ได้รับ “ฟีดแบ็กเป็นนัยๆ จากผู้จัดการด้านการสรรหาบุคลากร” ว่าเขา “มีคุณสมบัติและประสบการณ์สูงเกินไป” สำหรับตำแหน่งที่ส่งใบสมัครเข้ามา จึงไม่ได้รับเลือก

    Hearnden แนะนำวิศวกรผู้นั้นให้เน้นไปยังความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม และทักษะรอบด้านโดยรวม เมื่อเปลี่ยนจุดสนใจจากอายุและประสบการณ์มายังทักษะที่เปลี่ยนแปลงได้และความสามารถในการปรับตัว เขาจึงนำเสนอตัวเองออกมาเป็นลูกจ้างที่น่าดึงดูดและมีศักยภาพยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเขาก็ได้งานตามต้องการ แต่ก็เครียดตลอดกระบวนการเลยทีเดียว

    อคติว่าด้วยอายุที่นายจ้างมีอาจทำให้พวกเขามองไม่เห็นคนที่มีทักษะที่ต้องการและจำเป็น พนักงานสูงวัยและวัยกลางคนมีแนวโน้มจะมีจรรยาบรรณในการทำงานสูงกว่า อีกทั้งอัตราการขาดงานก็ต่ำกว่า ผลวิจัยยังชี้ว่าพวกเขามีความมั่งคงทางอารมณ์ที่ดีกว่าด้วยเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานอายุน้อย รวมถึงพวกเขาเหล่านี้มักเชี่ยวชาญการรับมือกับสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ ในที่ทำงาน เช่น การแก้ไขความขัดแย้ง



    Adrion Porter ผู้ก่อตั้ง Mid-Career Mastery เน้นย้ำว่า ชาว Gen X ปรับตัวได้เก่งกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด แม้จะเป็นความจริงที่ Gen Z และมิลเลนเนียลเติบโตมากับเทคโนโลยี แต่ชาว Gen X จำนวนมากก็ต้องฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่อุบัติขึ้นใหม่ตลอดชีวิตการทำงานของพวกเขาที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

    “เราก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานตอนที่เพิ่งมีอีเมลใช้ใหม่ๆ อย่างแรก พวกเราต้องเรียนวิธีใช้อินเทอร์เน็ต ตามด้วย Web 2.0 มาตอนนี้ก็มี AI ชาว Gen X ต้องหมั่นเรียนรู้หรือไม่ก็อดตาย” Porter กล่าว


อายุมากขึ้นคือสัจธรรม ปัญหามีไว้แก้ไม่ใช่กีดกัน

    อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงคือมนุษย์ทุกคนต้องมีอายุมากขึ้น ดังนั้นแทนที่จะกีดกันพนักงานอายุมากออกจากตลาดแรงงาน บริษัทต่างๆ จึงควรมีโครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพวกเขาให้มากขึ้นมากกว่า

    Matz เผยว่า แม้กระทั่งในบริษัทที่ใช้กลยุทธ์ DEI ซึ่งย่อมาจากความหลากหลาย (Diversity), ความเสมอภาค (Equity) และการมีส่วนร่วม (Inclusion) พนักงานมีอายุก็ยังถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยผลสำรวจของ PwC ประเทศเนเธอร์แลนด์ชี้ว่า ในเยอรมนี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ องค์กรที่ยึดหลัก DEI โดยไม่ละเลยคนมีอายุนั้นมีเพียง 8% เท่านั้น

    Burmeister บอกว่าบริษัททั้งหลายไม่เพียงกีดกันพนักงาน mid-career เท่านั้น แต่ยังพลาดโอกาสที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของคนมีอายุในที่ทำงานด้วย ส่วน Nick ที่เผชิญความท้าทายมากมายระหว่างการหางานใหม่ตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนที่ผ่านมาก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

    “งานไม่ได้นิยามความเป็นคุณ ผมรู้ครับ แต่พอหลายเดือนผ่านไป แล้วไม่มีความคืบหน้าอะไร มันก็เริ่มยาก” Nick อธิบาย “ผมต้องคอยเตือนตัวเองประจำเลยว่ามันไม่ใช่ความผิดของผม”

    อย่างไรก็ตาม Nick ยังคงหวังว่าในการสัมภาษณ์งานครั้งถัดไป เขาจะได้รับผลลัพธ์ที่พึงพอใจเสียที “บางคนชอบคิดว่าอายุ 50 คือแก่ แต่ 50 คือเก๋าต่างหาก”


แปลและเรียบเรียงจาก 'Gen X has had to learn or die': Mid-career workers are facing ageism in the job market


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลสำรวจเผย บรรดา CEO ก็กลัว “AI แย่งงาน” เหมือนกัน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine