เปิดบุคลิกผู้นำ 4 แบบแห่ง "ยุคอุตสาหกรรม 4.0" ...คุณคือผู้นำธุรกิจแบบไหน? - Forbes Thailand

เปิดบุคลิกผู้นำ 4 แบบแห่ง "ยุคอุตสาหกรรม 4.0" ...คุณคือผู้นำธุรกิจแบบไหน?

เรายังอยู่ในช่วงต้นของ "ยุคอุตสาหกรรม 4.0" หรืออีกชื่อหนึ่งคือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ซึ่งจะผนวกทรัพย์สินทางกายภาพ เช่น เครื่องจักร ยานพาหนะ และสินค้าคงคลัง เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล AI และ IoT

แปลและเรียบเรียงจาก The Four Leadership Personas Of The Fourth Industrial Revolution - Which One Are You? เขียนโดย Punit Renjen ซีอีโอแห่ง Deloitte Global ตีพิมพ์ใน forbes.com

การจับคู่กันของสินทรัพย์ทางกายภาพกับโลกดิจิทัล ทำให้บังเกิดการสร้างสรรค์องค์กรที่ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อถึงกันได้ แต่ยังทำให้องค์กรมีความครบรอบด้านเพื่อใช้ตัดสินใจ บรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในธุรกิจเช่นนี้ สร้างความไม่มั่นใจให้กับเหล่าผู้บริหารที่กำลังต่อสู้เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ผู้นำบริษัทต่างๆ ยังคงค้นหาเส้นทางความสำเร็จเพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กรในยุคใหม่นี้

รายงานของ Deloitte Global เก็บผลสำรวจจากผู้บริหารระดับ C-suite จำนวนกว่า 2,000 คนจาก 19 ประเทศ พบว่า มีผู้นำทั้งหมด 4 บุคลิกที่สามารถไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรม 4.0

โดย 4 บุคลิกเหล่านี้ ได้แก่ Social Supers (ยอดผู้นำเพื่อสังคม), Data-driven Decisives (ผู้ตัดสินใจจากฐานข้อมูล), Disruption Drivers (นักขับเคลื่อนนวัตกรรมดิสรัปชั่น) และ Talent Champions (นักบริหารทาเลนต์)

เหล่านี้คือ 4 บุคลิกผู้นำสู่ความสำเร็จของ ยุคอุตสาหกรรม 4.0

 

1.The Social Supers - สุดยอดผู้นำเพื่อสังคม

ขณะที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามกล่าวอ้างว่าผลกระทบต่อสังคมคือสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ แต่ที่จริงแล้วหลายบริษัทก็ยังคงต่อสู้กับความตึงเครียดระหว่างการสร้างผลบวกต่อสังคมไปพร้อมกับการสร้างกำไร

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารที่เป็นสุดยอดผู้นำเพื่อสังคมดูเหมือนจะแก้โจทย์นี้ได้ ผู้นำเหล่านี้สามารถหาทางทำได้ดีด้วยการทำสิ่งที่ดีได้สำเร็จ ด้วยการสร้างรายได้ให้เติบโตผ่านการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ตระหนักรับผิดชอบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกลุ่มนี้ยังมีความเชื่อว่า การให้ความสำคัญต่อสังคมมีส่วนสร้างผลกำไรอีกด้วย

สุดยอดผู้นำเพื่อสังคมมักจะวางนโยบายในโมเดลธุรกิจของตนให้เกี่ยวพันกับการตอบแทนสังคม มุมมองเชิงบวกต่อการทำสิ่งที่ดีเช่นนี้ยังสร้างประโยชน์ให้กับนโยบายพัฒนาบริษัทในหลายๆ ด้านด้วย เช่น

พวกเขามักจะมีความกระหายอยากที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อดิสรัปตลาด มีแนวโน้มมากกว่าในการเตรียมตัวพนักงานให้พร้อมเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 วัดได้จากความต้องการที่จะฝึกฝนพนักงานของผู้นำกลุ่มนี้มีสูงถึง 54% เทียบกับผู้บริหารทั่วไปที่ต้องการฝึกฝนพนักงานเพียง 37%

 

2. The Data-driven Decisives - ผู้ตัดสินใจจากฐานข้อมูล

การวางกลยุทธ์พัฒนาองค์กรจากฐานข้อมูลที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำองค์กรกลุ่มนี้ 62% ของผู้นำที่ตัดสินใจจากฐานข้อมูลเห็นด้วยเป็นอย่างมากว่าพวกเขาพร้อมแล้วที่จะนำพาองค์กรไปสู่โอกาสใหม่ภายใต้ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งตัวเลขสัดส่วนนี้สูงกว่าเป็นเท่าตัวจากผู้นำที่ไม่ได้ใช้ดาต้าในการตัดสินใจ

บุคลิกผู้นำกลุ่มนี้มักจะทำให้การวางกลยุทธ์องค์กรในระยะยาวประสบความสำเร็จ เพราะทั้งผู้นำและองค์กรมักจะกล้าเสี่ยงกว่า ผู้นำกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่งใช้เม็ดเงินเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีที่จะดิสรัปตลาด เทียบกับผู้นำกลุ่มอื่นที่มีเพียง 1 ใน 3 ที่กล้าเสี่ยงลงทุนในเทคโนโลยีแปลกใหม่

การตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลนั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรที่นำโดยผู้นำกลุ่มนี้สามารถสร้างการเติบโตของรายได้ต่อปีได้มากกว่า 5% เทียบกับผู้นำกลุ่มอื่นที่มีเพียง 25% ที่สามารถสร้างการเติบโตได้ในระดับดังกล่าว

 

3. The Disruption Drivers - นักขับเคลื่อนนวัตกรรมดิสรัปชั่น

ผู้บริหารที่รายงานว่าบริษัทมีการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อปฏิวัติตลาดของตนเอง และลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อขยายความสามารถการทำกำไรของบริษัท นับได้ว่าเป็นนักขับเคลื่อนนวัตกรรมดิสรัปชั่น

ผู้นำกลุ่มนี้มักกล่าวว่าตนเองมีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 มากกว่า (45% เทียบกับผู้นำกลุ่มอื่นที่ตอบว่าตนมีความพร้อมเพียง 32%) และมักจะเตรียมตัวได้ดีกว่าเพื่อโอกาสทางธุรกิจแห่งยุค

นักขับเคลื่อนนวัตกรรมมักจะมีวิธีการที่ครบรอบด้านกว่าเพื่อตัดสินใจ อันได้แก่การวางขั้นตอนที่ชัดเจน ใช้ดาต้า และรวบรวมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ผู้นำกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นว่าตนเองได้เตรียมพนักงานที่มีทักษะพร้อมสำหรับอนาคตแล้ว (54% เทียบกับกลุ่มผู้นำอื่นๆ ที่มีความเชื่อมั่นในประเด็นนี้เพียง 33%) และพวกเขายังวางแผนการฝึกฝนพนักงานไว้อีกมาก

การเลือกลงทุนกับเทคโนโลยีถือเป็นความท้าทายโดยมักจะมีอุปสรรคที่ทำให้การลงทุนนั้นไม่เกิดขึ้น คือ การมุ่งเน้นแต่ผลลัพธ์ระยะสั้น การขาดความเข้าใจต่อเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม 4.0 และการขาดวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ซึ่งนักขับเคลื่อนนวัตกรรมดิสรัปชันสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ทั้งหมด

 

4. The Talent Champions - นักบริหารทาเลนต์

นักบริหารทาเลนต์คือผู้นำที่ก้าวไปได้ไกลกว่าเพื่อนในการเตรียมพนักงานเพื่อรองรับอนาคต พวกเขาเชื่อมั่นว่าตนเองทราบถึงทักษะต่างๆ ที่บริษัทจำเป็นต้องมี และ พวกเขามีพนักงานในบริษัทที่เหมาะสมกับยุคนี้เรียบร้อยแล้ว

แม้จะมีความมั่นใจ แต่ผู้บริหารกลุ่มนี้ก็ยังไม่พึงพอใจสูงสุด พวกเขายังคงมุ่งมั่นเตรียมแรงงานให้พร้อมสู่อนาคต พวกเขาแสดงถึงความรับผิดชอบในการฝึกฝนทักษะให้กับลูกจ้าง (51% เทียบกับกลุ่มอื่นที่มีเพียง 41%) และมีแนวโน้มจะลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อดิสรัปคู่แข่งมากกว่า

การที่ผู้นำมุ่งมั่นพัฒนาทักษะพนักงานทำให้เกิดประโยชน์ตามมา 64% ของนักบริหารทาเลนต์สามารถสร้างรายได้ให้เติบโต สิ่งนี้อาจเป็นผลสะท้อนจากปรัชญาของการทำได้ดีเพราะทำสิ่งที่ดีเนื่องจากวิสัยทัศน์การพัฒนาแรงงานเป็นสำคัญทำให้พนักงานให้ความร่วมมือมากกว่า และรู้สึกมีไฟในการทำงานเพราะต้องการใช้ทักษะใหม่ๆ ที่เพิ่งได้รับการฝึกฝน

คุณมองเห็นตัวเองหรือองค์กรของคุณมีบุคลิกภาพเหล่านี้บ้างหรือไม่? จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้องค์กรของคุณปรับใช้บุคลิกเหล่านี้? องค์กรของคุณจะประสบความสำเร็จได้มากมายเพียงใดหากผู้นำเริ่มวางวิสัยทัศน์ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ? นี่เป็นเพียงคำถามไม่กี่คำถามที่ต้องคิดพิจารณาในระหว่างที่เรากำลังเดินเข้าสู่ยุคใหม่ของธุรกิจ