ดีลอยท์วิเคราะห์ 7 เทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนธุรกิจ-แรงงานในอนาคต - Forbes Thailand

ดีลอยท์วิเคราะห์ 7 เทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนธุรกิจ-แรงงานในอนาคต

ดีลอยท์ บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก วิเคราะห์เทรนด์ใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานและส่งผลกระทบถึงการทำธุรกิจในอนาคต

สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ดีลอยท์ได้มีการวิเคราะห์เทรนด์การเปลี่ยนแปลงในโลกที่จะเป็น Megatrends ส่งผลต่อการทำธุรกิจในอนาคต โดยมีทั้งหมด 35 เทรนด์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยี, คน และสังคม-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ดีลอยท์ ประเทศไทย ขอหยิบยก 7 เทรนด์หลัก ที่เชื่อว่าจะเห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนต่อการทำธุรกิจในอนาคตอันใกล้

เทคโนโลยี

1.ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI - งานที่มีการทำซ้ำรูปแบบเดิม บริษัทจะเริ่มนำเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์มาใช้ เช่น การทำบัญชี ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะถูกแย่งงานจากหุ่นยนต์ แต่มนุษย์จะทำงานได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นจากการมี AI เป็นผู้ช่วย 2.Augmented Reality (AR) - ในทำนองเดียวกับ AI คือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยมนุษย์ทำงาน AR จะเป็นผู้ช่วยให้มนุษย์ฝึกทักษะการทำงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แรงงาน 1 คนสามารถทำงานได้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น แว่น AR สามารถช่วยช่างซ่อมรถยนต์สแกนเครื่องยนต์ แนะนำจุดที่เสียหาย และวิธีซ่อม ซึ่งจะทำให้คนเรียนทักษะเพื่อเป็นช่างได้ง่ายกว่าเดิม 3.Internet of Things (IoT) - เครื่องมือเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากมีเทคโนโลยี IoT ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อเก็บข้อมูลได้มากขึ้น

คน

4.ผู้บริโภคต้องการสินค้าแบบ customized - คนจะเริ่มต้องการสินค้าที่ออกแบบมาเพื่อตนเองโดยเฉพาะ เป็นสินค้า built-to-order โดยอนาคตอาจมีการส่งคำสั่งไปที่โรงงานให้โรงงานผลิตตามแบบที่ต้องการ หรือเทคโนโลยี 3D Printing อาจเข้ามามีบทบาททำให้ผู้บริโภคสามารถผลิตสินค้าเองที่บ้านได้เลย 5.เจนวายคือบุคลากรส่วนใหญ่ในตลาดงาน - เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่คือคนเจนเนอเรชั่นวาย ซึ่งมีความต้องการจากนายจ้างและการทำงานแตกต่างจากเดิม เจนวายต้องการความหลากหลายในการทำงาน และความมั่นคงในอาชีพการงานไม่ใช่ปัจจัยหลักเสมอไปในการเลือกที่ทำงาน รวมถึงเป็นคนรุ่นที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วทำให้เจนวายต้องอัพเดทความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การเรียนจากมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จอีกต่อไป

สังคม-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม

6.ข้อมูลและความปลอดภัยของข้อมูล - เราเข้าสู่ยุคแห่งการเก็บข้อมูลทุกสิ่งรอบตัว และข้อมูลมหาศาลนั้นสามารถนำมาใช้ได้กับทุกธุรกิจ ในขณะเดียวกันสังคมก็ตระหนักรู้มากขึ้นถึงการเก็บข้อมูล และเรียกร้องความโปร่งใส ความปลอดภัยของการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล 7.Sharing Economy - การให้ยืมหรือให้เช่าสิ่งของแบบ peer-to-peer ง่ายและสะดวกสบายขึ้นมาก สิ่งของหรือสถานที่ที่ไม่ได้ใช้งานจะถูกนำมาให้เช่ามากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้จะส่งผลกับธุรกิจบางประเภทอย่างมาก เช่น หากมีการเช่ารถยนต์มากกว่ามีรถยนต์เป็นของตัวเอง อาจส่งผลกระทบลูกโซ่จนถึงบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่จะมีลูกค้าลดลง เทรนด์เหล่านี้ทำให้บริษัทต่างๆ ปรับตัว รวมถึงดีลอยท์ด้วย โดยบริษัทมีการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร เช่น
  • ใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบข้อมูล - บัญชีมีหน่วยข้อมูลนับล้านซึ่งคนอาจไม่สามารถตรวจสอบได้ครบถ้วน แต่หุ่นยนต์ AI สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการทุริตในบัญชีในจุดไหน หรือตรวจสอบความเสี่ยง จุดอ่อนของบริษัทลูกค้าผ่านข้อมูลในบัญชี ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบบัญชีจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์โดยนำจุดที่เป็นความเสี่ยงนั้นมาวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไข
  • บล็อกเชน - เทคโนโลยีที่ให้ความโปร่งใสในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้งานตรวจสอบบัญชีแม่นยำมากขึ้น โดยดีลอยท์มีศูนย์วิจัยบล็อกเชนบนเกาะฮ่องกง เพื่อช่วยลูกค้าในการนำบล็อกเชนไปใช้กับงานบัญชี
  • บุคลากร - ตามเทรนด์บุคลากรรุ่นใหม่ ดีลอยท์ได้เริ่มปรับตัวไปแล้ว เนื่องจากพบว่าบุคลากรรุ่นใหม่มักจะย้ายงานทุก 2-3 ปี ทำให้เปลี่ยนวิธีประเมินผลงานจากการวัด KPI รายปี มาเป็นการพูดคุยกับหัวหน้างานทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่อประเมินความพอใจในการร่วมงานกับทีม
ประเด็นเรื่องบุคลากรยังเป็นเรื่องสำคัญขององค์กรทุกแห่ง และความเปลี่ยนแปลงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดย สุภศักดิ์ คาดว่าประเทศไทยจะมีลักษณะของ Gig Economy ตามอย่างสหรัฐอเมริกามากขึ้น เห็นได้ว่าขณะนี้การหาบุคลากรทำงานเต็มเวลาจะยากกว่าเดิม แต่การจ้างงานแบบสัญญาจ้างหรือฟรีแลนซ์ทำได้ง่ายกว่า ซึ่งจะทำให้บริษัทเล็กที่เป็น outsource ให้บริษัทใหญ่เติบโตดี ในขณะที่บริษัทใหญ่จะมีการจ้างงานแบบเต็มเวลาน้อยลง และมีภาระสวัสดิการพนักงานน้อยลงด้วย
สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย
สำหรับดีลอยท์ ประเทศไทย สุภศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2561 ดีลอยท์ตั้งเป้ารายได้ 2,008 ล้านบาท เติบโตขึ้น 12% จากปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากส่วนตรวจสอบบัญชี 1,070 ล้านบาท เติบโต 11% และจากส่วนงานที่ปรึกษา 938 ล้านบาท เติบโต 13% โดยบริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาคการผลิต ธนาคาร พลังงาน และการสื่อสาร และมองว่าจากเทรนด์ต่างๆ ดังกล่าวจะทำให้มีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น เช่น บริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์ ปิโตรเคมี คอสเมติกส์ และอีคอมเมิร์ซ