เปิดจริงปีหน้า! Zipair สายการบินลูกของ JAL ตีตลาดโลว์คอสต์ ประเดิมรูทบินสู่กรุงเทพฯ-Seoul - Forbes Thailand

เปิดจริงปีหน้า! Zipair สายการบินลูกของ JAL ตีตลาดโลว์คอสต์ ประเดิมรูทบินสู่กรุงเทพฯ-Seoul

Japan Airlines เปิดตัวสายการบินโลว์คอสต์ในเครือภายใต้ชื่อ "Zipair Tokyo" วางเป้าหมายเป็นสายการบินระยะกลางและระยะไกล จัดเส้นทางบิน Narita สู่ประเทศในเอเชียและชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ แย้มเส้นทางบิน 2 รูทแรกบินสู่กรุงเทพฯ และ Seoul

Japan Airlines (JAL) ประกาศการก่อตั้ง Zipair Tokyo สายการบินโลว์คอสต์ในเครือ เพื่อทำการบินเส้นทางบินระยะกลางจนถึงระยะไกล (เวลาทำการบิน 5 ชั่วโมงขึ้นไป) จากสนามบินนานาชาติ Narita ในกรุง Tokyo โดยวางแผนทำการบิน 2 เส้นทางแรกสู่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ และสนามบิน Incheon กรุง Seoul ประเทศเกาหลีใต้

JAL คาดว่าจะเริ่มเปิดบริการZipair ได้ช่วงฤดูร้อนปี 2020 ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ โดยก่อนหน้านี้เริ่มมีการรับสมัครนักบินไปแล้ว และเริ่มรับสมัครพนักงานบริการบนเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับชื่อสายการบินนั้น คำว่า Zip มาจากภาษาอังกฤษ ที่แปลความหมายได้ทั้งความเร็ว เช่น ความเร็วของเวลาที่ล่วงผ่านไปเมื่อโดยสารบนสายการบินที่มีเอกลักษณ์และการเดินทางไปยังหลากหลายจุดหมายปลายทาง/หลายรหัสไปรษณีย์ซึ่งจะเป็นคอนเซปท์ของสายการบิน นอกจากนี้โลโก้ที่ออกมานั้นใช้ฟ้อนท์ Roman และใช้คู่สีคือ เทา-Harmony Gray และ เขียว-Trust Green

 

จับช่องว่างตลาดชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ JAL ประกาศเรื่องการลงทุนสายการบินใหม่ไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018 โดยมีการลงทุนเบื้องต้น 8.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อก่อตั้งสายการบิน

สายการบินใหม่จะรับมอบเครื่องบิน Boeing 787-8 ของ JAL 2 ลำมาตกแต่งใหม่และทำการบิน ก่อนจะลงทุนขยายกองบินปีละ 2 ลำต่อเนื่อง 4 ปีเพื่อให้มีกองบินครบ 10 ลำตามแผนงาน ทั้งนี้ Zipair คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเปิดกว้างต่อผู้สนใจลงทุนร่วมกัน

Hiroyuki Uehara ผู้อำนวยการ บริษัท T.B.L. ผู้ให้บริการZipair กล่าวว่า นักลงทุนที่สนใจจะต้องเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีมากกว่าป้อนเม็ดเงินเท่านั้น

ด้านวิสัยทัศน์การลงทุนที่ทำให้ JAL สายการบินที่ฟื้นตัวจากการล้มละลายเมื่อปี 2010 ตัดสินใจขยายการลงทุนในกลุ่มโลว์คอสต์ Uehara เปิดเผยว่า เกิดจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด โดยเฉพาะจุดหมายสูงสุดที่ Zipair จะขยายไปในช่วง 1 ปีหลังเปิดให้บริการ คือการบินเส้นทางทรานส์แปซิฟิกไปสู่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ

นอกจาก Air Canada ที่ทำการบินจาก Vancouver มาลง Osaka ในแถบคันไซแล้ว ยังไม่มีโลว์คอสต์รายอื่นเลยที่บินเส้นทางทรานส์แปซิฟิก” Uehara กล่าวและเสริมว่า การบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจะใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ซึ่งประสบการณ์บนเครื่องจะต่างจากรูทที่บินระยะกลาง อันเป็นสิ่งที่สายการบินใหม่นี้กำลังจัดเตรียมต้อนรับลูกค้า

 

ยึดเจ้าถิ่นโลว์คอสต์แห่งคันโต?

สำหรับเส้นทางบินในทวีปเอเชีย JAL ยังเล็งเห็นถึงความสำเร็จของสายการบินโลว์คอสต์อื่นๆ ซึ่งมีฐานหลักในคันไซ อย่าง Air Asia X ของมาเลเซีย ซึ่งบินจากแถบคันไซไปยัง Taipei, Kuala Lumpur, กรุงเทพฯ และ Honolulu สายการบิน Scoot ที่บินไป Honolulu และสิงคโปร์

หรือกระทั่งสายการบิน Peach Aviation ในเครือ All Nippon Airways (ANA) ของญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จในเส้นทางบินหลักออกจากคันไซเช่นกัน โดยทำการบินสู่หลายเมือง เช่น ฮ่องกง, Shanghai, Taipei, Seoul เป็นต้น

เป็นไปได้ว่า JAL จะเน้นการครองเส้นทางบินระยะกลางและไกลแบบโลว์คอสต์ที่เชื่อมต่อสู่ฐานหลักใน Tokyo ของแถบถิ่นคันโตเพื่อสร้างรูทที่แตกต่างจากในตลาด อีกทั้งสนามบิน Narita และ Haneda ใน Tokyo ก็กำลังอยู่ระหว่างขยายพื้นที่ รวมถึงปัจจัยการผลักดันการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่นที่วางเป้ารับผู้โดยสารขาเข้า 40 ล้านคนภายในปี 2020 น่าจะช่วยส่งเสริมกลยุทธ์สายการบินต้นทุนต่ำของบริษัทได้

Uehara กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ JAL ซึ่งเป็นสายการบินฟูลเซอร์วิสได้เริ่มขยายกลยุทธ์การลงทุนไปสู่ตลาดที่มีความอ่อนไหวทางราคาแล้ว โดยมีการถือหุ้น 33% ใน Jetstar Japan (ร่วมกับ Qantas Airways ที่ถือหุ้น 33% เช่นกัน) ซึ่งสายการบิน Jetstar Japan เน้นหนักเส้นทางบินระยะใกล้ในประเทศญี่ปุ่น จึงไม่มีทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อขยายไปสู่เส้นทางบินระยะไกล

เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใหม่ที่แท้จริงของ JAL เอง” Uehara กล่าวปิดท้าย

  ที่มา