จาก Apple สู่ Microsoft ทำไมบริษัทเทคระดับโลกเลือกลงทุนในอินโดนีเซีย - Forbes Thailand

จาก Apple สู่ Microsoft ทำไมบริษัทเทคระดับโลกเลือกลงทุนในอินโดนีเซีย

วงการเทคโนโลยีกำลังจับตามองอินโดนีเซียกันอย่างใกล้ชิด ด้วยประเทศเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมาย ที่น่าจับตามองคือสองบริษัททรงอิทธิพลของโลกอย่าง Apple และ Microsoft ที่เพิ่งประกาศลงทุนในเวลาไล่เลี่ยกัน


    เริ่มแรก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2024 ซีอีโอแห่ง Apple อย่าง Tim Cook ได้มาเยือนอินโดนีเซีย เข้าพบปะประธานาธิบดี Joko Widodo และได้ส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะขยายฐานการผลิตมาที่อินโดนีเซีย

    ยังไม่หมดแค่นั้น Satya Nadella ซีอีโอแห่ง Microsoft ก็มาเยือนอินโดนีเซียต่อเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2024 หรือห่างกันไม่ถึงสองสัปดาห์ ซึ่งแน่นอนว่าเขาเองได้เข้าพบประธานาธิบดี Widodo พร้อมประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ของ Microsoft ที่จะทุ่มเงิน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อวางระบบคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอินโดนีเซีย

    อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศเดียวที่ได้ต้อนรับทั้งสองซีอีโอจากบริษัทเทคฯ ทรงอิทธิพล แม้ทั้งคู่จะมีแผนเดินทางต่ออีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Cook ได้เดินทางไปยังเวียดนาม และสิงคโปร์ ส่วน Nadella เดินทางไปต่อที่ไทยและมาเลเซีย

    การที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ให้ความสนใจในอินโดนีเซียก็เนื่องด้วยปัจจัยสองสามประการ ข้อสำคัญที่สุดคืออินโดนีเซียมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

    Muhammad Habib Abiyan Dzakwan จาก Centre for Strategic and International Studies เผยว่า การมาเยือนของสองซีอีโอจากบริษัททรงอิทธิพล ถือเป็นตัวชี้วัดศักยภาพอันใหญ่ยิ่งของอินโดนีเซียในด้านผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยี

    “เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียกำลังเติบโต เห็นได้จากจำนวนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมากมาย การร่วมทุนด้านอีคอมเมิร์ซ และธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ที่เกิดขึ้นอีกมหาศาล” Muhammad Habib Abiyan Dzakwan กล่าว


Tim Cook แห่ง Apple พบ Joko Widodo


    นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในอาเซียนหรือราว 277 ล้านคน คิดเป็น 47% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค และในปี 2022 พบว่า สัดส่วนการซื้อขายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกว่าครึ่งหนึ่งมาจากประเทศแห่งนี้ (ข้อมูลจาก บริษัท Momentum Works ในปี 2023)

    ทั้งนี้ ก่อนหน้าการมาเยือนของซีอีโอแห่ง Microsoft และ Apple ด้านแพลตฟอร์มโซเชียลหน้าใหม่มาแรงอย่าง TikTok ได้ประกาศในเดือนธันวาคมว่า จะทุ่มเงินกว่า 1.5 พันล้านเหรียญ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซียที่ชื่อ Tokopedia ซึ่งเป็นของ GoTo โดยมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตาม Maria Monica Wihardja จาก Yusof Ishak Institute กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือการมาเยือนของซีอีโอทั้ง Microsoft และ Apple เกิดขึ้นหลังจากมีผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียออกมา โดย Prabowo Subianto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและความมั่นคงอินโดนีเซียได้ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน Widodo ในเดือนตุลาคมนี้

    “เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาทำให้มีความชัดเจนในทางการเมือง และตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป จากช่วงก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนต่างรอคอยและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” Maria Monica Wihardja อดีตนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลกได้กล่าวไว้

    ด้าน Oki Ramadhana ผู้บริหารระดับสูงของ Mandiri Sekuritas ธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียกล่าวว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง นักลงทุนต่างชาติมักไม่ค่อยอยากจะพักเงินไว้ในประเทศเพราะมีความไม่มั่นคงทางการเมือง และมีความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ แต่ปัจุจบันมองว่า “อินโดนีเซียสามารถประกาศแก่ทั่วโลกได้ว่ามีโมเมนตัมการเติบโตที่ดี และพร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

    ขณะที่ Lawrence Loh ศาสตราจารย์จากภาควิชากลยุทธ์และนโยบายแห่ง NUS Business School ให้ความคิดเห็นว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งสองไม่รีรอที่จะมายังอินโดนีเซีย เพื่อหาโอกาสจากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และด้านทรัพยากรธรรมชาติ

    ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นแหล่งนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากมาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

    นักวิเคราะห์หลายคนยังชี้ให้เห็นเทรนด์ที่หลายบริษัทต่างกระจายฐานการผลิตจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโต สำหรับการย้ายฐานที่ตั้ง และขยายธุรกิจ

    “ภูมิภาคนี้กำลังกลายเป็นสนามรบของเทคโนโลยีขั้นสูง” ศาสตราจารย์ Lawrence Loh เปิดเผยพร้อมเสริมว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทั่วโลกผลักดันให้บริษัทต่างๆ ต้องมองหาภูมิภาคใหม่สำหรับการลงทุนและพัฒนา

    ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายนปี 2023 เมื่อ Chew Shou Zi ซีอีโอแห่ง TikTok ประกาศว่าจะอัดฉีดเงินหลายพันล้านเหรียญแก่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในอาเซียนในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่จะส่งผลดีต่อแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น ที่มีธุรกิจขนาดเล็กกว่า 15 ล้านรายในอาเซียนใช้งานอยู่ โดยราว 5 ล้านรายอยู่ในอินโดนีเซีย


Satya Nadella แห่ง Microsoft พบ Joko Widodo

    ด้าน Muhammad Habib Abiyan Dzakwan ยังบอกว่า ความพยายามของอินโดนีเซียในการดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045 โดยใช้เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การลงทุนด้านเทคโนโลยีในอินโดนีเซียยังคงมีความท้าทายหลายประการ Maria Monica Wihardja ระบุว่ากำแพงการค้าและการลงทุนของอินโดนีเซียที่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

    ยกตัวอย่าง ในปี 2022 ฝ่ายพลังงานสะอาดของ Tesla ที่มีแผนสร้างโรงงานในอินโดนีเซียกลับต้องพับโครงการที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากเงื่อนไขเกี่ยวกับวัตถุดิบที่นำมาใช้สร้างตัวผลิตพลังงาน โดยนักลงทุนยังคงจดจำเหตุการณ์เหล่านี้ได้

    นอกจากนี้ Muhammad Habib Abiyan Dzakwan ยังอ้างถึง การพบปะหลายต่อหลายครั้งระหว่างผู้บริหาร Tesla อย่าง Elon Musk และบรรดาผู้นำของอินโดนีเซีย “สถานการณ์เหล่านี้สร้างความผิดหวังแก่ชาวอินโดนีเซียอย่างมาก เพราะแสดงถึงความยากลำบากในการทำตามเงื่อนไขต่างๆ ในการทำธุรกิจ”

    แม้จะมีข้อจำกัดในหลายด้าน แต่ Muhammad Habib Abiyan Dzakwan ยังมองว่าการมาเยือนของซีอีโอแห่ง Microsoft และ Apple จะเป็นเสมือนการส่งข้อความบอกผู้เล่นรายอื่นในโลกว่า แม้อินโดนีเซียจะยังต้องปฏิรูปหลายอย่าง แต่การลงทุนในประเทศแห่งนี้ก็มีความคุ้มค่าหากมองถึงขนาดของตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

    สุดท้ายนี้ ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซีย คือการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งทางการเร่งรับมืออย่างเต็มที่ โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา Luhut Pandjaitan รัฐมนตรีที่ปรึกษาด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน เผยว่าอาจเสนอการถือครองสองสัญชาติให้แก่ผู้ที่มีเชื้อสายอินโดนีเซียเพื่อเป็นการดึงดูดแรงงานมีทักษะ

    ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการให้ถือครองสองสัญชาตนั้นเคยมีผู้เสนอมาก่อนแล้วในอดีต เพราะอินโดนีเซียก็ตระหนักดีถึงสถานการณ์สมองไหล (แรงงานมีทักษะสูงที่หลั่งไหลออกไปทำงานในต่างประเทศ) อย่างหนัก หรือบางส่วนก็ทำงานที่ไม่ตรงกับทักษะที่ตนเองมี

    อย่างไรก็ตาม Maria Monica Wihardja บอกว่าการจะทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงได้นั้น อินโดนีเซียต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้มั่นใจว่ามีงานรองรับคนที่จะกลับมามากเพียงพอ


แปลและเรียบเรียงจาก First Apple, then Microsoft: Why are big tech CEOs visiting Indonesia?


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Microsoft ประกาศทุ่มทุน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ วางโครงสร้างคลาวด์และ AI ในอินโดนีเซีย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine