‘เส้นใยจากแมงมุม’ ปฏิวัติวงการแชมพู เสริมเต้านม จนถึงเครื่องบิน - Forbes Thailand

‘เส้นใยจากแมงมุม’ ปฏิวัติวงการแชมพู เสริมเต้านม จนถึงเครื่องบิน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการต่างเฝ้าฝันถึงการสร้าง “เส้นใยจากแมงมุม” ที่เพาะได้ในแล็บ เพราะใยแมงมุมนั้นมีชื่อเสียงในแง่ของความสมดุลระหว่างความแข็งแรงและความนุ่มนวล

แปลและเรียบเรียงจาก From Shampoo To Breast Implants To Airplanes, This Startup’s Lab-Grown Spider Silk Could Go A Long Way โดย Amy Feldman ผู้สื่อข่าวด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมการผลิต ของ Forbes บริษัทบางแห่งเริ่มค้นหาคำตอบในการสร้าง เส้นใยจากแมงมุม ได้ โดย AMSilk บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมันที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เป็นหนึ่งในบริษัทที่คิดค้นขึ้นสำเร็จ พวกเขานำงานวิจัยทางวิชาการมาพัฒนาให้สมบูรณ์ในแล็บ โดยการเพาะโปรตีนเส้นใยแมงมุมในแบคทีเรีย E.coli และเสริมปฏิบัติการให้ทำได้ในระดับเพื่อการพาณิชย์ AMSilk กำลังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบริษัท เพื่อใช้ทดแทนเส้นใยไหมที่มักจะใช้กันในวงการเครื่องสำอางและเป็นสารเคลือบสำหรับเต้านมเทียม Forbes ได้เข้าเยี่ยมชมออฟฟิศ AMSilk ในเมือง Planegg ชานเมือง Munich และพบกับ Lin Römer ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ เขาหยิบเอาสิ่งของหลายอย่างจากตู้ในมุมหนึ่งของห้องมาแสดงให้เราดู ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีทั้งสเปรย์เส้นใย ยาทาเล็บหายใจได้ หรือกระทั่งสายนาฬิกาข้อมือที่บริษัทพัฒนาร่วมกับแบรนด์นาฬิกาหรูอย่าง Omega เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเปิดขายในจำนวนจำกัด “วิสัยทัศน์ระยะยาวของเราคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน” Römer กล่าว
(ซ้าย) Jens Klein ซีอีโอ และ (ขวา) Lin Römer ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ AMSilk (PHOTO CREDIT: Forbes.com)
ไม่เหมือนกับหนอนไหม แมงมุมเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถเลี้ยงลักษณะฟาร์มได้ เพราะมันเป็นสัตว์ที่หวงถิ่นและกินสัตว์ด้วยกัน แนวคิดการเพาะเลี้ยงเส้นใยจากแมงมุมได้เองในแล็บจึงเป็นความหวังในการนำปัจจัยบวกด้านความแข็งแรงและนุ่มนวลของผลิตภัณฑ์นี้มาใช้ อีกทั้งยังมีข้อดีที่เหนือกว่าหนอนไหม เพราะการผลิตใยไหมจำเป็นต้องฆ่าดักแด้หลายพันตัวเพื่อนำรังมาใช้ พวกเขายังหวังด้วยว่า ใยแมงมุมที่เพาะเลี้ยงได้ในแล็บซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จะสามารถแทนที่วัสดุอย่างโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตจากปิโตรเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม “เรารู้กันดีว่า การใช้น้ำมันดิบมาผลิตโพลีเอสเตอร์ ถ้าหากทิ้งวัสดุนั้นลงในมหาสมุทรมันก็จะคงสภาพต่อไปอีกหลายพันปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย” Römer กล่าว
รองเท้ารุ่นโปรโตไทป์ที่บริษัท AMSilk ผลิตให้กับแบรนด์ Adidas (PHOTO CREDIT: Forbes.com)
ปัจจุบัน ธุรกิจหลักของ AMSilk คือการขายเจลและผงใยแมงมุมที่ผลิตได้ในแล็บให้กับบริษัทเครื่องสำอาง ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีการใช้ใยไหมเพื่อเสริมสร้างความเงามันให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แชมพู อยู่แล้ว AMSilk ได้รับเงินระดมทุนมาแล้วมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกระแสเงินสดที่เพียงพอในการทำโครงการที่เสี่ยงมากขึ้น อย่างเช่นดีลที่พวกเขาเซ็นสัญญาเมื่อปีก่อนร่วมกับบริษัท Airbus เพื่อพัฒนาวัสดุประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ที่จะใช้วัสดุไฟเบอร์ใยแมงมุมเป็นส่วนประกอบ ในขณะที่บริษัท Bolt Threads บริษัทอเมริกันที่ให้ทุนกับ AMSilk นั้นมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัสดุเพื่อใช้ในตลาดสิ่งทอระดับบน Jens Klein ซีอีโอของ AMSilk กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้มีความสนใจเป็นอย่างมากต่อวัสดุนวัตกรรม “ใยแมงมุมเปรียบเสมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ของวงการนวัตกรรมวัสดุมาเนิ่นนาน” เขากล่าวปิดท้าย   อ่านเพิ่มเติม