หุ้นไทยสัปดาห์นี้ ลุ้นโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ - Forbes Thailand

หุ้นไทยสัปดาห์นี้ ลุ้นโครงการ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,400 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนปรับตัวลดลงและมียอดขายเบาบาง โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,972.37 ล้านบาท ลดลง 3.77% จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ส่วนสัปดาห์นี้ (12-16 กุมภาพันธ์) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,380 และ 1,370 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด และมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะความชัดเจนของนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต


    สัปดาห์นี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นัดประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งข้อเสนอแนะรวม 8 ข้อ ให้รัฐบาล ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และสร้างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นภาระการเงินการคลังในอนาคต จากการกู้เงินจำนวนมากถึง 500,000 ล้านบาท

    ดัชนีหุ้นไทยต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตว่าจะมีทิศทางอย่างไร หลังจาก ป.ป.ช.ส่งข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะทำให้การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังชะลอดูความชัดเจน

    ซึ่ง ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มองว่า ฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้อาจเป็นการเก็งกำไรระยะสั้นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนระยะยาวต้องพิจารณาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มทยอยกลับเข้ามา

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมกราคม รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

    ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2566 ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ


อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยเสี่ยง

    สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม หลังที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% พร้อมส่งสัญญาณยังไม่มีแผนลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม 2567 นี้ ขณะที่การแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดสะท้อนว่าการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องการมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

    ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 2.5-3%

    ด้วยภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหนี้ครัวเรือนของไทย อย่างไรก็ตาม จากความไม่แน่นอนสูงของสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย กนง.จะพิจารณานโยบายการเงินที่เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งจากแนวโน้มการลงมติ 5 : 2 ของ กนง.ในครั้งนี้ อาจมีแนวโน้มที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยิ่งหากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัล วอลเล็ต ออกมาได้ อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น


เศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าภูมิภาค

    ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังช้ากว่าเพื่อนบ้าน และเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่หดตัวลง เนื่องจากการผลิตสินค้าของไทยไม่ตอบโจทย์ตลาดโลก

    ยกตัวอย่างไทยเป็นฐานผลิตหลักในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ความต้องการในตลาดโลกลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 20% ประกอบกับการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด

    ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2567 กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยมี จำนวนกว่า 600,000 คน ซึ่งปีนี้หลายสำนักคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาที่ 40 ล้านคน เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว และจำนวนวันที่อยู่ในประเทศไทยลดลง

    นอกจากนี้ การจ้างงานของไทยแม้จะเริ่มฟื้นตัวในภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมทั้งรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แต่กลุ่มอาชีพอิสระจำนวน 9 ล้านคนยังมีรายได้ไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด และครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังมีหนี้ระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยในไตรมาส 3/ 2566 อยู่ที่ 90.9% ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนไทยในภาพรวม

    จากปัญหาในเชิงโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างชาติยังชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับปัจจัยภายในของบริษัทจดทะเบียนไทยบางแห่งทั้งเรื่องความโปร่งใส ความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของตลาดหุ้นไทยที่ต้องติดตามต่อไป



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เงินเฟ้อ ม.ค.67 ลดลง 1.11% ต่ำสุดรอบ 35 เดือน และต่ำสุดในอาเซียน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine