สารพันปัญหาตลาดหุ้น นักลงทุนรายย่อยไหวไหม? - Forbes Thailand

สารพันปัญหาตลาดหุ้น นักลงทุนรายย่อยไหวไหม?

ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง รวมถึงความไม่ชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยติดลบ 10% รวมถึงกระแสข่าวลือเรื่องการทำ Naked Short (การยืมหุ้นมาขายโดยไม่มีหุ้นในมือ) ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย


    กรณีข่าวลือเรื่อง Naked Short ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำโดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาแถลงข่าวด่วน ปฏิเสธว่าไม่มีการทำ Naked Short หรือการทำ Short Sell แบบผิดกฎหมาย เป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ใช้โปรแกรมอัตโนมัติในการซื้อขายหุ้น ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละวัน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายอย่างโปร่งใส

    “ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกวันลงในระดับ transaction และลำดับเวลาที่ส่งคำสั่งซื้อและขายภายในวันนั้นๆ โดยตรวจสอบกับธุรกรรมของผู้ลงทุนทุกประเภทและทุกช่องทางที่ส่งคำสั่งเข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนต่างชาติหรือผู้ลงทุนในประเทศ และไม่ว่าจะใช้ program หรือไม่ใช้ก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณี Naked short selling หรือการทำชอร์ตเซลโดยไม่ได้รายงานอย่างถูกต้อง” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แถลงยืนยัน


ผู้ถือหุ้นรายย่อยสู้ไม่ไหว

    การขายซื้อขายหุ้น มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่นเดียวกับธุรกรรมอื่น ๆ เมื่อโปรแกรมอัตโนมัติ (Program Trading) เข้ามามีส่วนสำคัญกับการซื้อขายหุ้นมากขึ้น กลุ่มนักลงทุนรายย่อยจึงได้รับผลกระทบ ปัจจุบันนักลงทุนรายย่อยมีประมาณ 1 แสนราย ซึ่งหากจะให้สามารถบาลานซ์กับโปรแกรมเทรดได้ ก็ต้องมีนักลงทุนรายย่อยถึง 5 แสนราย ซึ่งดร.ภากร ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก

    ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลหุ้นที่เทรดด้วยโปรแกรมอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา มี  8 หลักทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ต้องประกาศรายชื่อ ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บริษัท เอสไอเอสบี (SISB) บริษัท ไทย โคโคนัท ( COCOCO) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมียม โกรท (WHART) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าซีพีเอ็น รีท โกรท (CPNREIT) โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชัน (JTS) และ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต (WARRIX) โดยมูลค่าซื้อขายสุทธิ 660.72 ล้านบาท หุ้น 8 ตัวราคาวิ่งแรงมาก คาดว่าเป็นฝีมือนักลงทุนรายบุคคล เพราะเป็นหุ้นที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันไม่เล่น

    สำหรับหลักทรัพย์ที่มีการใช้ Program Trading ต้องเข้าข่าย 2 เงื่อนไข คือมีมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป และมีราคาปิดเพิ่มขึ้นหรือลดลง 10% เมื่อเทียบกับวันก่อน โดยมูลค่าซื้อขายผ่าน Program Trading ในวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมด 46,476.64 ล้านบาท


ตลาดฯ ขาดความเชื่อมั่น

    ปัญหา Program Trading หรือข่าวลือเรื่อง Naked short เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น นับตั้งกรณีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) และบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (STARK) รวมถึงหุ้นเจ้าแม่ยูนิเวิร์สอย่าง JKN ทียังไม่มีมาตรการเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อย กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยวันนี้ รัฐบาลเริ่มเข้ามาแก้ไขปัญหา โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้มอบหมายให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เรียกประชุมเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นชอบข้อเสนอของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สนับสนุนการจัดตั้ง “กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือ Thailnd ESG Fund (TESG) ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยหวังว่าจะเป็นกองทุนระยะยาวที่จะช่วยพยุงตลาดทุนไทยและเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้

    สิ่งสำคัญ คือพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง จะนำพาการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันการเติบโตของประเทศในระยะยาว

    สำหรับแนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์นี้ (20-24 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,405 และ 1,390 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงความกังวลของนักลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับ Naked Short Selling ซึ่งติดตามวันที่ 20 พ.ย.นี้ นักลงทุนรายย่อยจะนัดกันหยุดเทรดจริงหรือไม่

    ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค. ดัชนี PMI เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เป็นต้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 4 วิธี พิชิตภารกิจหางานใหม่ให้ได้ก่อนสิ้นปี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine