คปภ. เผยความเสียหายจากฉ้อฉลประกันฯ ปี 65-67 สูง 686.41 ล้านบาท เร่งทำระบบข้อมูลกลางเริ่ม พ.ค. นี้ - Forbes Thailand

คปภ. เผยความเสียหายจากฉ้อฉลประกันฯ ปี 65-67 สูง 686.41 ล้านบาท เร่งทำระบบข้อมูลกลางเริ่ม พ.ค. นี้

เมื่อมีข่าวคราว ตัวแทนประกันภัยรับเงินค่าเบี้ยประกันฯ จากลูกค้าไปแล้วไม่นำส่งบริษัท นายหน้าที่ปิดบังข้อมูลสาระสำคัญ ปลอมแปลงเอกสาร ไปจนถึงฝั่งลูกค้าที่ซื้อประกันแล้วสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อเคลมประกัน พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของ “การฉ้อฉลประกันภัย” ที่ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย


เคสโกง-ฉ้อฉลประกันภัยในไทยมีความเสียหายมากแค่ไหน?

    ล่าสุด มีสถิติจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า มูลค่าความเสียหายจากการฉ้อฉลประกันภัยทุกประเภทของไทยในปี 2565 - มี.ค. 2567 มีมูลค่ารวม 686.41 ล้านบาท ได้แก่

- ปี 2565 อยู่ที่ 297.96 ล้านบาท (แบ่งเป็น ประกันชีวิต 121.8 ล้านบาท ประกันวินาศภัย 176.1 ล้านบาท)
- ปี 2566 อยู่ที่ 321.86 ล้านบาท (แบ่งเป็น ประกันชีวิต 92.8 ล้านบาท ประกันวินาศภัย 228.9 ล้านบาท)
- มี.ค. ปี 2567 อยู่ที่ 66.57 ล้านบาท (แบ่งเป็น ประกันชีวิต 11.8 ล้านบาท ประกันวินาศภัย 54.7 ล้านบาท)

*ข้อมูลความเสียหายจากการฉ้อฉลประกันภัยทุกประเภท ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยเท่านั้น

    ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นสถิติที่น่าจับตามองว่า เมื่อกรณีการฉ้อฉลประกันภัยที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ ในแต่ละปียังมีความเสียหายหลักร้อยล้านบาท ซึ่งอาจมีกรณีการฉ้อฉลที่ไม่มีหลักฐานอีกมากมาย ดังนั้นเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคปภ. บริษัทประกันภัย จะหาทางออกอย่างไร

สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย (ซ้าย) ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. (กลาง)
สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย (ขวา)


คปภ. ปั้นฐานข้อมูลกลาง เฟสแรกใช้คัดกรอง “ตัวแทนนายหน้าโกง”

    ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ทางคปภ.ได้เปิด “โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรือ อาจจะฉ้อฉลประกันภัยกับภาคธุรกิจ ภายใต้กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” โดยในระยะแรกจะใช้ คัดกรองตัวแทน/นายหน้า (บุคคลธรรมดา) จากการกระทำผิดใน 3 รูปแบบ คือ
1) เก็บเบี้ยประกันภัยจากลูกค้า แต่ไม่นำส่งบริษัทประกันภัย
2) ไม่แจ้งรายละเอียดอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะสาระสำคัญของกรมธรรม์
3) การแนะนำให้ยกเลิกกรมธรรม์เดิม และให้ซื้อกรมธรรม์ใหม่แทน

    ทั้งนี้ ระบบฐานข้อมูลดังกล่าวจะใช้เพื่อเฝ้าระวังตัวแทน/ นายหน้าที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล โดยจะคัดกรองเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- สีแดง คือ ตัวแทน/นายหน้าที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ ซึ่งตามกฎหมายจะไม่สามารถเป็นตัวแทน/นายหน้าได้ภายใน 5 ปี ปัจจุบันมีอยู่ราว 200 ราย
- สีส้ม คือ ตัวแทน/นายหน้าที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ผ่านระยะเวลา 5 ปีแล้ว ซึ่งระดับนี้จะไม่สามารถปรับกลับไปสู่สีเหลือง หรือสีเขียวได้ เพราะเป็นครื่องหมายว่าเคยทำผิดร้ายแรงมาก่อน ปัจจุบันมีจำนวน 1,700-1,800 ราย
- สีเหลือง คือ ตัวแทน/นายหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบสวน หลังจากถูกกล่าวหาโดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเมื่อผลการตัดสินออกมาจะแจ้งเปลี่ยนสถานะในระบบทันที
- สีเขียว คือ ตัวแทน/นายหน้าที่ไม่มีประวัติในการฉ้อฉลประกันภัย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เป็นเหมือนเครื่องหมายที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

    “ตัวแทนนายหน้าเป็นด่านแรกที่ได้เจอกับประชาชน ดังนั้นนอกจากต้องมีความรู้ในเรื่องประกันภัย ยังต้อมีพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วย โดยโครงการนี้เป้าหมายแรกคือ การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามหลัก PDPA ปัจจุบันมีตัวแทนนายหน้าที่อยู่ระดับสีเขียว 99% จากทั้งระบบ (ที่มีอยู่ราว 561,377 ราย)” นายชูฉัตร กล่าว

    เบื้องต้นทางคปภ. จะเริ่มใช้ระบบนี้ในเดือน พ.ค. 2567 ผลลัพธ์ที่คาดหวังในระยะแรก (ราว 1-2 ปี) จะสำรวจบริษัทประกันภัยต่างๆ ว่ามีตัวแทน/นายหน้าในแต่ละระดับมากแค่ไหน รวมถึงบริษัทมีแผนจะบริหารความเสี่ยงในกลุ่มนี้อย่างไร


สมาคมประกันชีวิต-วินาศภัยพร้อมนำส่งข้อมูล ชูข้อเสนอเปิดข้อมูลฉ้อฉลทุกแบบ

    สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยฯ เสมือนคปภ. ตั้งเครื่องสแกนให้กับระบบประกันภัย เพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้น ดังนั้นทางบริษัทประกันวินาศภัยจึงพร้อมที่จะนำส่งข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัยในทางคปภ. อย่างต่อเนื่อง

    ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอว่า ระบบแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยฯ นี้ควรมีข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัยที่เปิดเผยและรอบด้าน ไม่ใช่เพียงกรณีของตัวแทนนายหน้า แต่ควรเปิดเผยว่าบริษัทต่างๆ มีพฤติกรรมอย่างไรเพื่อให้ประชาชนศึกษารายละเอียดได้ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดเผยอย่างโปร่งใสจะสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบในภาพรวม

    นอกจากนี้ ในอนาคตจะกระตุ้นให้ตัวแทน/นายหน้าต้องแสดงข้อมูลนี้เมื่อนำเสนอขายประกันภัยในกับประชาชน เช่น การระบุว่าตัวแทนอยู่ในระดับสีเขียวจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น

    ด้านสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า เมื่อตัวแทน/นายหน้าถือเป็นช่องทางหลักของอุตสาหกรรมประกันภัย การมีโครงการนี้ฯ มองว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น โดยภาคธุรกิจพร้อมสนับสนุนในการพัฒนาระบบ โดยมุ่งเน้นที่จะสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจประกันภัย

หมายเหตุ
    ปัจจุบัน (ณ 5 เม.ย. 67) จำนวนตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีผลบังคับ 561,377 ราย เพิ่มขึ้น 0.66% จากปี 66 แบ่งเป็น
- ตัวแทน ประกันชีวิต 233,174 ราย ประกันวินาศภัย 21,137 ราย
- นายหน้า ประกันชีวิต 126,970 ราย ประกันวินาศภัย 180,096 ราย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คาดรายได้จากซอฟต์แวร์ 'GenAI' ในเอเชียและโอเชียเนียทะลุ 1.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 71

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine