Gulf หุ้นพลังงานใหญ่ของไทย นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 14 ของ KBank ยังมีธุรกิจอะไรอีก - Forbes Thailand

Gulf หุ้นพลังงานใหญ่ของไทย นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 14 ของ KBank ยังมีธุรกิจอะไรอีก

หลายคนอาจเคยเห็นข่าว ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ มหาเศรษฐีแนวหน้าของไทยที่ทั้งมูลค่าทรัพย์สิน และธุรกิจต่างขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะธุรกิจหลักอย่าง GULF หรือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่เป็น Holding Company ซึ่งมุ่งเน้นในธุรกิจด้านพลังงานจนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย


    ล่าสุด ยังมีกระแสข่าวที่หลายคนสนใจว่า GULF ได้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 14 ของธนาคารกสิกรไทย โดยถือหุ้นจำนวนกว่า 20,542,400 หุ้น คิดเป็น 0.87% (ข้อมูล ณ 14 มี.ค. 67) ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า GULF จะขยายธุรกิจในด้านใหม่ๆ อย่างไร 

    หากดูโครงสร้างของ GULF จะแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้า, แก๊ส, พลังงานหมุนเวียนต่างๆ (พลังลม, พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ต่อมาคือ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ฯลฯ

    และส่วนสุดท้าย ธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น อินเตอร์เน็ต ฯลฯ รวมถึง พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอวกาศใหม่ๆ ซึ่ง GULF ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน
    - ถือหุ้นในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มีการถือหุ้น 1,340 ล้านหุ้น คิดเป็น สัดส่วนถึง 41.80% โดย INTUCH เป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นใหญ่ใน ADVANCE หรือ AIS
    - ถือหุ้นในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM มีการถือหุ้น 450 ล้านหุ้น คิดเป็น สัดส่วนถึง 41.14% (ถือหุ้นผ่าน บริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด)

    ที่สำคัญช่วงต้นปีที่ผ่านมา GULF ยังเปิดตัวแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ในชื่อ Binance TH by Gulf Binance โดยชูจุดขายที่มีความร่วมมือกับ Digital Asset Exchange ชั้นนำของโลกอย่าง Binance ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญในโลกคริปโต และอื่นๆ จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้มาใช้บริการได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายจะขึ้นแท่นอันดับ 1 ของไทยในอนาคต
    *Gulf Binance เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Binance Capital Management Co.,Ltd. (ในเครือของ Binance ของ CZ) และ Gulf Innova Co., Ltd. (ในเครือ GULF)

    อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ GULF ยังมีข่าวที่จะขยายธุรกิจด้านการเงิน โดยเตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank (ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา) กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง AIS และธนาคารกรุงไทย โดยตามเงื่อนไขแล้วจะต้องมีเงินทุนจดทะเบียนที่ 5,000 บาท (คาดว่าจะถือหุ้นรายละ 30%)

    ทั้งนี้ เบื้องต้นความร่วมมือด้าน Virtual Bank ระหว่าง 3 บริษัท ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกันอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าการเข้าถึงฐานลูกค้าของกรุงไทยและ AIS ได้จะข่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มากขึ้น

    เมื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจที่ต่างจากเดิม ไม่ว่าจะสินทรัพย์ดิจิทัล หรือภาคการเงิน หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่า GULF จะเดินหน้าธุรกิจไปในทิศทางใด และจะปรับใช้จุดร่วม-จุดแข็งในแต่ละธุรกิจมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ผมไม่ได้ซื้อคริปโต” คำต่อคำ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ตั้งแต่สินทรัพย์ดิจิทัลจนถึง Virtual Bank

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine