โลกเข้าสู่ช่วงอันตราย ไทยได้ไม่คุ้มเสีย - Forbes Thailand

โลกเข้าสู่ช่วงอันตราย ไทยได้ไม่คุ้มเสีย

เจมี่ ไดมอน (Jamie Dimon) ซีอีโอเจพี มอร์แกน เชส ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนว่า “โลกอาจจะเผชิญกับช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในรอบทศวรรษ” จากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งนักวิชาการออกมาคัดค้านว่า “อาจได้ไม่คุ้มเสีย”


    สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Jamie Dimon ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเจพี มอร์แกน เชส ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ออกมากล่าวกับนักลงทุนในการแถลงผลประกอบการไตรมาสที่ผ่านมาว่า “โลกอาจจะเผชิญกับช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในรอบทศวรรษ” จากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกังวลว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

    เขาระบุว่าสงครามในยูเครนและอิสราเอลจะกระทบต่อราคาพลังงานและอาหาร และต้นทุนการค้าของโลก รวมทั้งอาจเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในรอบทศวรรษ

    นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เพดานหนี้ของรัฐบาลสูงมากและสถานะขาดดุลการคลังครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมาของสหรัฐ กำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจากนี้ไป


รัฐบาลไทยเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล

    ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก รัฐบาลไทย นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการเดินหน้านโยบายของรัฐบาลในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน รวมทั้งอดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ธาริษา วัฒนเกส และ วิรไท สันติประภพ เพราะมองว่าอาจเป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

    นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท ซึ่งนายกฯ เศรษฐา มองว่าเงินที่อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 2567 ซึ่งนักวิชาการมองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 2567 ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

    “การกระตุ้นการเติบโตของจีดีพี โดยการแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal multiplier) ในการแจกเงินลักษณะนี้มีค่าต่ำกว่า 1 การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเลื่อนลอย” หนึ่งในแถลงการณ์คัดค้านจากนักวิชาการระบุ

    นอกจากนี้ เงินจำนวนมากที่จะนำมาใช้กระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคลนั้น อาจทำให้รัฐเสียโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนทรัพยากรมนุษย์ ระบบบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่สำคัญไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างหนี้สาธารณะให้กับคนรุ่นต่อไป แทนที่จะใช้เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชน

    ในแถลงการณ์ ระบุด้วยว่า ไทยอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมานาน และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะยิ่งทำให้ไทยเสียค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอีก เพราะก่อนหน้านี้เงินเฟ้อสูงขึ้น การก่อหนี้จำนวนมาก ทั้งออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือ สถาบันการเงิน ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยทั้งนั้น

    ปัจจุบันหนี้สาธารณะของรัฐอยู่ที่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ 61.6% ของจีดีพี เป็นภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง เมื่อต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ย่อมมีผลต่อภาระเงินงบประมาณรัฐในแต่ละปี
“นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น คือ หลังจากทั่วโลกเผชิญทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศพยายามลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง เพื่อสร้างที่ว่างทางการคลังได้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต”


แบงก์ชาติปรับขึ้นจีดีพีปี 67 โต 4.4%

    ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2567 จะขยายตัว 4.4% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใดออกมาก็ตาม มั่นใจว่าจะช่วยทำให้จีดีพีในปีหน้าขยายตัวเกิน 4% แน่นอน

    “เราได้มีการคำนึงถึงความไม่แน่นอนของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทไว้ด้วย โดยมองว่ามาตรการนี้จะเข้ามาเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงด้านสูงมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบที่ผ่านมา” ปิติกล่าว

    สำหรับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสนั้น สิ่งที่กังวล คือ หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในระยะหนึ่ง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จะทำให้ค่าเงินบาทและค่าเงินประเทศอื่น ๆ อ่อนลง ต้นทุนการนำเข้าพลังงานจะสูงขึ้น และในช่วงที่ราคาพลังงานในไทยยังถูกกำหนดด้วยมาตรการบางอย่าง ต้นทุนในส่วนนี้จะโป่งขึ้นและเป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาคการคลัง ดังนั้น จึงต้องจับตาดูการปรับมาตรการในไทยเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก โดยอาจต้องทบทวนราคาน้ำมันในประเทศ



อ่านเพิ่มเติม : อีคอมเมิร์ซไทยศักยภาพระดับโลก อุตสาหกรรมเครื่องประดับพร้อมเปล่งประกาย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine