ลุ้นปัจจัยการเมือง-เศรษฐกิจ แบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง - Forbes Thailand

ลุ้นปัจจัยการเมือง-เศรษฐกิจ แบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง

สัปดาห์นี้แนวโน้มการลงทุนอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการเมืองที่ยังต้องลุ้นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลที่จะเปิดประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกประธานฯที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่เศรษฐกิจไทยแบงก์ชาติปรับตัวเลขหนี้ครัวเรือนใหม่พุ่ง 90.6% ต่อจีดีพี เตรียมแถลงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้วันนี้


    สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังคงผันผวนจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่เข้มข้น ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอังกฤษยังยืนยันปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือน ก.ค.นี้ ทำให้เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือนอยู่ที่ 35.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 29 เดือนที่ระดับ 1,461.61 จุด ก่อนกลับมายืนเหนือ 1,500 จุดในช่วงปลายสัปดาห์

    สำหรับสัปดาห์นี้ (3- 7 ก.ค. 2566) ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งทิศทางเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของไทยและสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรง


โหวตเลือกประธานสภาฯ 4 ก.ค.


    วันที่ 3 ก.ค. 2566 มีกำหนดการรัฐพิธีเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ และจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้งสองคน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากทั้งสองพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยว่าจะมีการตกลงกันอย่างไร แม้สัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมยกโควต้าให้พรรคก้าวไกล แต่ล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป โดยต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (กก.บห.) ในวันที่ 3 ก.ค. นี้ ว่าจะมีการหงายไพ่ออกมาอย่างไร

    ขณะที่ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์การเมืองไทยหลังวันที่ 4 ก.ค. 2566 จะเข้าขั้นวิกฤต และเกิดความวุ่นวาย หากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะต้องลุ้นกันต่อ รวมถึงคดีต่างๆ ที่ยื่นเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

    อย่างไรก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์มองว่าสัปดาห์นี้ หากการเมืองมีความชัดเจนว่าจะเดินต่ออย่างไร จะคลายความกังวลของนักลงทุนและทำให้แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 มีโอกาสฟื้นตัว ขณะที่หากการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไป โดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุดตามลำดับ

    ด้าน บล.ฟินันเซีย ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้และจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น คือปัจจัยด้านการเมือง พรรคการเมืองพันธมิตรทั้งสองพรรคจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน ขณะที่หากการจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลวจะมีทิศทางตรงกันข้ามทันที อย่างไรก็ตาม ยังคงเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้ที่ 1,620 จุด


แบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือน


    สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนให้มีความครบถ้วนมากขึ้น ครอบคลุมผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม ทำให้ยอดหนี้แต่ละกลุ่ม ณ ไตรมาส 1 ของปี 2566 มีดังนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 483,000 ล้านบาท สหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์) 265,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติ 11,000 ล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท

    สำหรับยอดหนี้จากการปรับปรุงข้อมูลใหม่นี้ เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ทำให้ไตรมาสแรกของปีนี้ มียอดหนี้รวม 766,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี จากตัวเลชก่อนปรับปรุงอยู่ที่ 89% ต่อจีดีพี

    “ธปท.มีความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อเนื่องอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการเพิ่มเติมมาตรการเพื่อดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นกังวลหรือไม่ ไม่ได้กังวลเพิ่มขึ้นมาก เพราะไม่ใช่หนี้ใหม่ แต่จะเร่งแก้ติดตามแก้ปัญหาใกล้ชิด” สักกะภพกล่าว โดยวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ ธปท.จะแถลงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยและความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือต่างๆ


    สำหรับแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2566 ยังทยอยปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ระยะต่อไป สิ่งที่ต้องติดตาม 1.เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง 2.การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ 3.ผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง

    

    อ่านเพิ่มเติม : กองเงินบนตราสารหนี้สีเขียว


    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine