ตลาดหุ้นไทยลุ้นเปลี่ยนขั้ว หนุนดัชนี 1,620 จุด - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นไทยลุ้นเปลี่ยนขั้ว หนุนดัชนี 1,620 จุด

    การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งแรกผ่านไปแล้ว โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะเป็นนายกฯ ตลาดทุนลุ้นเปลี่ยนขัวการเมือง หนุนดัชนี 1,620 จุด แนะเลือกหุ้นได้อานิสงส์ ADVANCE CPALL SCB MINT จับตาผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทจดทะเบียน

    จับตาการเมืองสัปดาห์นี้ยังคงร้อนแรง และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับตลาดหุ้นไทย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังวันที่ 13 ก.ค. 2566 การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย โดยตลาดหุ้นตอบรับสถานการณ์การเมือง ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.ค. 2566 ที่ระดับ 1,517.92 จุด เพิ่มขึ้น 1.84% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,927.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.10% จากสัปดาห์ก่อน


ลุ้นเปลี่ยนขั้วการเมือง หนุน 1,620 จุด


    ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด ฟันธงว่า สัปดาห์นี้เพื่อไทยจะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ผ่าน โดยในวันที่ 19 ก.ค. 2566 หาก พิธา โหวตไม่ผ่านอีกครั้ง วันที่ 20 ก.ค. คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมี เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรืออาจจะเสนอนายกฯ จากคนนอก

    “ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป เสียหายแน่ พรรคเพื่อไทยก็เสียหาย ถ้ามีเลือกตั้งครั้งหน้า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะก็ไม่ง่าย ดังนั้นเมื่อเค้กอยู่ตรงหน้า ต้องคว้าไว้ก่อน หัวใจหลักที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ คือเรื่องปากท้อง บริหารเศรษฐกิจให้ดี เป็นเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุกคน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา ตลาดหุ้นไทยขึ้นแน่นอน” ประกิตกล่าว

    กรรมการผู้จัดการ บลจ. เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์การเมืองเป็นไปอย่างที่คาดเดาไว้ จะทำให้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นมาที่ 1,620 จุด และน่าจะเป็นการฟื้นตัวระยะสั้น เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่ คือผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแนวโน้มไม่ค่อยดี และอาจมีวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

    สำหรับหุ้นที่น่าสนใจ เป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล เช่น หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีการรับรู้ไปแล้ว แต่หุ้นที่น่าสนใจ เช่น ADVANCE ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งน้อยราย และมีรายได้มากขึ้น ทั้งจากธุรกิจมือถือ และอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ นอกจากนี้ยังมี CPALL HMPRO MINT SCPG กลุ่มธนาคาร แนะนำ SCB TTB LH เป็นต้น

    ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ จำกัด มองว่า การไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ในรอบแรก ไม่ส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากนักลงทุนได้เตรียมใจไว้แล้วว่าการโหวตน่าจะยืดเยื้อไปถึงวันที่ 19-20 ก.ค. 2566 ทั้งนี้จะทำให้มีแรงเก็งกำไรระยะสั้นในกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้ เช่น GULF GPSC BGRIM TRUE และหุ้นที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยที่อาจพลิกมาเป็นแกนนำ เช่น SC และ SIRI

    ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์หน้า (17-21 ก.ค. 2566) จะมีแนวรับอยู่ที่ 1,505 และ 1,485 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ (Flow) สถานการณ์การเมืองในประเทศและผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร

    “แม้สถานการณ์การเมืองในประเทศจะยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดการโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบแรก โดยหุ้นไทยมีแรงหนุนเช่นเดียวกับหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มแบงก์ก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2”


เชื่อเศรษฐกิจยังเติบโตได้ 3% ถ้าม็อบไม่รุนแรง


    ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดการณ์ว่า มองสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ยังไม่เหตุที่จะกระทบเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทย ที่หอการค้าฯ คาดว่าจะเติบโตที่ 3-3.5% เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของจีดีพี โดยครึ่งแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 12-13 ล้านคน และปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน มีเหตุเดียว คือการชุมนุมรุนแรง และขยายวงกว้าง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของจีดีพี

    “ถ้าตั้งรัฐบาลเร็ว หากเป็นขั้วเดิมแล้วจบเร็ว หรือเปลี่ยนขั้นแล้วจบเร็ว ภายในเดือนก.ย.นี้ ไม่เป็นเหตุที่ฉุดเศรษฐกิจลง และหากมีการชุมนุม แต่อยู่ในกรอบ ในพื้นที่ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เราจึงยังไม่ปรับเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะเติบโตได้อย่างน้อย 3%” ดร.ธนวรรธน์

    ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นนักธุรกิจของหอการค้าไทย ประจำเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ 55.2 ถือว่าดีที่สุดในรอบ 5 ปี และความเชื่อมั่นฟื้นกลับมาดีกว่าช่วงสถานการณ์โควิด ขณะที่ดัชนีการจ้างงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 51.7 กลับมาอยู่เหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามนักธุรกิจมีความกังวลเรื่องการเมือง เสถียรภาพของรัฐบาล หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะกระทบต่อการลงทุนและเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ


    อ่านเพิ่มเติม : "AI" ตัวแปรสำคัญในวงการอุตสาหกรรม

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine