จับโอกาสลงทุนกับ บล.ทิสโก้ คาดปีนี้ตลาดเอเชียมาแรง - Forbes Thailand

จับโอกาสลงทุนกับ บล.ทิสโก้ คาดปีนี้ตลาดเอเชียมาแรง

เมื่อวิกฤต COVID-19 ได้ผ่านพ้น กลายเป็นปัจจัยลบที่มีน้ำหนักน้อยลง สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหนักด้านพลังงานอย่างที่เคยกังวล จุดพลิกของโอกาสการลงทุนจะเป็นอย่างไรในท่ามกลางปัจจัยที่ยังเหลืออยู่ ไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ โบรกเกอร์ที่ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนสถาบันมายาวนาน ให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดโลกล่าสุด และชี้เป้าตลาดที่น่าสนใจเพื่อโอกาสกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

    สำหรับภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุด แม้ COVID-19 จะยังไม่หายไป แต่สงบลงและคลายไปจากความกังวลของผู้คน ส่วนจีนก็เปิดประเทศ ด้านสงครามยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานเหมือนอย่างที่ทั่วโลกเคยกังวลเรื่องขาดแคลนพลังงานจนทำให้ราคาน้ำมันจะพุ่งสูง

    ในปีนี้ปัจจัยที่ให้ความสำคัญ คือ ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ จากเมื่อปลายปีก่อนดูเหมือนว่าเงินเฟ้อจะลดลง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้ แต่พอเข้ามาช่วง 3 เดือนแรกของปีกลับพบว่าเงินเฟ้อหนืดพอสมควร แต่ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดนัก เพราะการจะกดให้เงินเฟ้อจากที่อยู่สูงลงมาสู่ระดับต่ำต้องใช้เวลา ส่วนที่ผิดคาดมากกว่าคือนอกจากเงินเฟ้อจะลงช้าแล้วดอกเบี้ยก็ยังต้องขึ้นอยู่ เพราะสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เป็นอย่างที่เฟดต้องการ โดยเฟดจะดูตัวเลขการจ้างงาน ตราบใดที่คนทำงานเยอะ นั่นหมายถึงว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ เงินเฟ้อก็จะยังเป็นปัญหา

    ดังนั้นเฟดจะยังปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ได้ โดยจะใช้นโยบายที่รัดกุมกันต่อ ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ใช่ทั้ง soft landing หรือ hard landing แต่เป็นภาพที่คนเรียกว่า no landing หากเปรียบเป็นเครื่องบินก็เป็นเครื่องบินที่ยังบินวนอยู่ หาทางลงไม่ได้ เพราะยังมีหมอกหนาทึบ แม้ไม่มีพายุแล้วแต่ก็มองไม่เห็นข้างล่าง และหากเครื่องบินยังคงบินวนอยู่เช่นนี้ไปนานๆ ผลสุดท้ายน้ำมันจะหมด พอเมื่อทางเปิดให้ลงแล้วก็จะไม่สามารถหาทางลงแบบสวยๆ ได้ เพราะน้ำมันไม่มี ซึ่งในที่สุดอาจเป็นการลงจอดแบบ hard landing ได้

    “เรียกว่าความเสี่ยงยังค่อนข้างสูงอยู่ ขึ้นอยู่กับผลของการขึ้นดอกเบี้ยว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดตัวลงแค่ไหน วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ตลาดฟันธงกันไปแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงหนีไม่พ้นการเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วแรงนั้นย่อมต้องส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ถือเป็นความตั้งใจของเฟดเองในการควบคุมเงินเฟ้อ ค่อนข้างน่ากลัวอยู่เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่หนังเรื่องนี้ยังไม่จบ” ไพบูลย์กล่าว

    ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นกับ Silicon Valley Bank (SVB) ไม่ได้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และยังไม่ใช่จุดสูงสุด (peak) ของวิกฤต หากเทียบกับกรณี Lehman Brothers ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 นั่นคือถึงจุดสูงสุดของวิกฤตแล้ว แต่เวลานี้ยังไม่ใช่ เพราะเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ถ้าโชคดีผลเสียหายอาจจะไม่มาก แต่หากเป็นเศรษฐกิจถดถอยจริงย่อมจะมีคนได้รับบาดเจ็บ บริษัทไปต่อไม่ได้ หรือธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ที่มีมากกว่า 4,000 แห่ง อาจอยู่ไม่ได้หากมี NPL กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจำนวนมาก ซึ่งในตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบของปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

    

มองตลาดหุ้นเอเชียน่าสนใจ

    ด้านการลงทุนในตลาดหุ้น ไพบูลย์กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ยังไม่ใช่เทรนด์ขาขึ้น เนื่องจากต้องรอให้ชัดเจนก่อนว่าเศรษฐกิจถดถอยนั้นจะหนักแค่ไหน และเฟดต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาอีกรอบ ซึ่งการลดดอกเบี้ยคิดว่ายังจะไม่ได้เห็นจนกว่าจะถึงต้นปีหน้า เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะเคลื่อนไหวแบบ sideway down ไปจนถึงปลายปี แต่จะไม่ได้ลดลงมากมายนัก เพราะว่าบริษัทยังแข็งแรงอยู่ ระหว่างปีอาจมีการปรับขึ้นบ้างตามธรรมชาติของหุ้นเมื่อมีข่าวดีก็จะมีแรงซื้อ ส่วนยุโรปเป็นภูมิภาคที่ไม่น่าสนใจในแง่ของการลงทุนมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเติบโตช้า ไม่น่าตื่นเต้น และมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่มาก ส่วนวิกฤตพลังงานแม้จะดูสงบลงแต่ก็ไม่มีใครกล้าฟันธงว่ารัสเซียจะทำอย่างไรต่อไป กลายเป็นปัญหาคาราคาซัง

    สำหรับส่วนเงินเฟ้อ ในเอเชียก็ถือว่าบริหารจัดการได้ดีกว่า อาจเป็นเพราะในช่วง COVID-19 รัฐบาลของประเทศในเอเชียไม่ได้อุดหนุนเศรษฐกิจมากเท่าในสหรัฐฯ หากมองย้อนกลับไปกลายเป็นข้อดีที่เอเชียไม่มีการทำอะไรใหญ่ๆ มากจนพร้อมจะระเบิด นอกจากนั้นเงินเฟ้อที่เคยสูงก็เริ่มลดลง โดยเห็นได้ชัดเจนในประเทศไทย

    “วันนี้คนตื่นเต้นกับเอเชียมากกว่าทางฝั่งอเมริกาและยุโรป ในแง่ของหุ้น ปีนี้หุ้นเอเชียสามารถลงทุนได้ แต่หากถามว่าจะขึ้นมากแค่ไหน ต้องบอกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะต้องไปพร้อมๆ กัน เพราะเดี๋ยวนี้ทุกอย่างมีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด อยู่ที่ว่าใครจะทิ้งห่างใคร หากมองถึงเอเชีย แน่นอนว่าก็คือจีน ผมว่าน่าสนใจในแง่เศรษฐกิจของเขากลับมาฟื้นตัวและน่าจะมีโมเมนตัมที่ดี เป็นไม่กี่ประเทศที่ยังลดดอกเบี้ยอยู่ คือยังใช้นโยบายผ่อนคลาย ขณะที่เกือบทุกที่ตอนนี้ใช้นโยบายแบบรัดกุมแล้ว นอกจากนี้จีนเองก็พยายามเต็มที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว 5% จึงมีความน่าสนใจตรงจุดนี้ด้วย ส่วนไทยเรามีปัจจัยบวกเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาด emerging ในเอเชียก็น่าสนใจ สำหรับคนที่ชอบกองทุนรวมก็ให้มองเป็นภูมิภาคเอเชีย”

    อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีแต่หลักทรัพย์เดิม เช่น กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยยังไม่มีหุ้นเทคขนาดใหญ่พอจะดึงดูดความน่าสนใจจากผู้ลงทุน ดังนั้นจึงต้องสร้างจุดขายจากที่มี เช่น เทรนด์ Well-being ที่ตลาดหลักทรัพย์ทำ (ดัชนี SET Well-being) ถือเป็นจุดขายที่ดี และเกี่ยวข้องในหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งเรื่องการเดินทาง ท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล เกษตรและอาหาร เป็นต้น โดยการลงทุนในระยะยาวต้องมองในมุมใหม่ คือบริษัทไทยที่จะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายของคนต่างประเทศจะสามารถตอบโจทย์ได้มากกว่า

    “น้ำหนักของตลาดปัจจุบันอยู่ในกลุ่มพลังงานและธนาคารพาณิชย์มาก แต่เชื่อว่าในอนาคตจะลดลงได้ และมีตัวอื่นๆ เข้ามาทดแทนมากขึ้น อย่างในกลุ่ม s-curve ที่รัฐบาลสนับสนุนก็จะมีป้อนเข้ามาเพิ่มขึ้น”

    ด้าน Fixed Income เวลานี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นให้ผลตอบแทนดีมาก กลายเป็นอีกสาเหตุของปัญหา SVB ด้วยที่คนโยกเงินจากเงินฝากไปลงทุนใน Money Market Fund ที่ลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ มีความน่าสนใจ สำหรับคนไทยที่สนใจก็สามารถลงทุนได้ มีโอกาสทำผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็ต้องดูความเสี่ยงในเรื่องค่าเงินด้วย

    “ส่วนตราสารหนี้ในบ้านเรา แม้ดอกเบี้ยจะไม่สูงเท่าไร แต่หากเป็นหุ้นกู้ที่เรตติงดีๆ ตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไป อายุ 2-3 ปี ยังสามารถหายีลด์ที่ให้ระดับ 3% หรือ 4% ได้”

    

เดินหน้าตอบโจทย์ผู้ลงทุนไทย

    

         เพราะจะเสี่ยงสูงเกินไป แต่หากชอบก็ลงทุนได้ ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวคงจะต้องรออีกหน่อย จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าอัตราดอกเบี้ยได้ถึงจุดสูงสุดแล้วและเริ่มเข้าสู่ขาลง ถึงเวลานั้นตราสารหนี้จะดูดีขึ้นมาเลย เพราะตราสารหนี้ที่ออกใหม่จะให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าของเก่า

    สำหรับ บล.ทิสโก้ ให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการกับลูกค้าทั้งการลงทุนในหุ้นไทย หุ้นโลก การลงทุนในกองทุน ตราสารประเภทต่างๆ และจัดพอร์ตตัวอย่างให้ลูกค้าพิจารณา แนะนำว่าควรลงทุนอะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวลูกค้าด้วยว่ามีความสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน คำแนะนำของบริษัทฯ ไม่ได้เน้นแค่การบริหารจัดการหรือลงทุนระยะยาวเท่านั้น แต่จะพิจารณาแง่ timing หรือจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าด้วย

    “ปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจจีน หุ้นเทคสหรัฐฯ ก็เริ่มมีความสนใจกลับมาบ้าง แต่ผมคิดว่าเร็วไปนิดหนึ่ง คือตอนนี้ยังไม่แน่ใจ โดยเฉพาะเทคขนาดเล็ก กลุ่มสตาร์ทอัพที่เพิ่งเข้ามาในตลาดและยังไม่ทำกำไร ตอนนี้ยังเป็นการขายฝัน เมื่อใดที่พวกเขาต้องการทุนเพิ่มก็อาจจะเหนื่อยหน่อยหากนักลงทุนไม่เพิ่มทุนให้”

    ไพบูลย์กล่าวว่า การออกไปลงทุนต่างประเทศเวลานี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าคือคำแนะนำ ซึ่งมองว่าการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์จะเป็นการแข่งขันในเรื่องคำแนะนำ ไม่ใช่แค่เรื่องแพลตฟอร์มอย่างเดียวแล้ว ใครแนะนำผู้ลงทุนได้ดีที่สุด คนนั้นเป็นผู้รอดในเกมนี้ ส่วนทิสโก้มีจุดเด่นในเรื่องงานวิเคราะห์อยู่แล้ว เดิมกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง แต่ขณะนี้กำลังจะขยายฐานไปยังกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยพัฒนาแอปพลิเคชันตัวใหม่ที่จะเป็นเหมือนที่ปรึกษาการลงทุนตลอด 24 ชั่วโมง โดยนำจุดแข็งที่มีมาตอบโจทย์ และนำ AI เข้ามาเสริมในด้านการบริการให้ลูกค้า

    “ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าว เฟสแรกคาดว่าจะออกมาให้ได้เห็นกันในปีนี้ โดยจะเป็นแอปที่ใช้ง่าย มาจากความตั้งใจที่ว่า ทำอย่างไรที่จะ transform สิ่งที่เราเก่งมากมาให้กับนักลงทุนรายย่อย เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะเราอยากเห็นคนไทยออมเงินอย่างถูกต้อง และลงทุนในหุ้นแบบถูกวิธี ทำอย่างไรที่เขาได้มีการลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งเราทำสำเร็จแล้วกับนักลงทุนสถาบัน แต่ตอนนี้เรากำลังมองไปตลาดแมส คิดว่าสิ่งนี้น่าจะตอบโจทย์ และค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยให้มาเน้นลงทุนมากกว่าเล่นหุ้น ซึ่งก็เป็นการตอบโจทย์การลงทุุนระยะยาว”

    

    อ่านเพิ่มเติม : The 1 ผนึกร้านอาหารชั้นนำกว่า 100 ร้าน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล สมาชิกแลกรับส่วนลด-สะสมคะแนน พิเศษกว่าใคร อิ่มอร่อยทั่วไทย ทุกซีซั่น​

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine